ป่วยจิตเวชห้ามขาดยาโดยเด็ดขาด ย้ำอาการดีขึ้น ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด!
เตือนผู้ป่วยจิตเวชโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคจิตเภท ควรกินยาต่อเนื่อง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตามไม่ได้แปลว่าหายขาด ห้ามหยุดยาหรือลดจำนวนยาเองอย่างเด็ดขาด
จากกรณีเหตุยิงกันกลางห้างสรรพสินค้าพารากอนจากข้อมูลเบื้องต้นพบ มีประวัติการรักษาทางจิตเวช และพบว่ามีการขาดการรักษา ไม่ได้รับประทานยารักษาโรคตามที่แพทย์กำหนดนั้น
กรมสุขภาพจิตได้เคยระบุเอาไว้ว่า ตลอดในปี 2560 มีผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการรักษาแล้ว 2.6 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชประมาณร้อยละ 98 สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ภายใต้การดูแลของญาติหรือบุคคลใกล้ชิดที่บ้านและชุมชน โดยใช้ยาควบคุมระบบการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองเป็นไปอย่างสมดุล ผู้ป่วยจะมีอาการที่เป็นปกติ สามารถใช้ชีวิตและทำงานได้
แยกให้ออก! เด็กติดเกม หรือ จิตเวช ความเครียดจากความกดดันต้องรีบรักษา!
กรมสุขภาพจิต เจรจาตั้งศูนย์เยียวยาหลังเหตุยิงกลางพารากอน ยันยังไม่ได้คุยกับผู้ก่อเหตุ
สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยอาการกำเริบ
- ต้องกินยาต่อเนื่อง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว ความผิดปกติที่เคยมีเช่น หูแว่ว ประสาทหลอนจะไม่มีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด
- ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่นเหล้า บุหรี่
- ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หากปฏิบัติตามที่กล่าวมา จะไม่มีปัญหาอาการกำเริบและมีโอกาสหายสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยครั้งแรก แต่หากปล่อยให้อาการกำเริบซ้ำแล้วซ้ำอีก จะมีโอกาสป่วยเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ต้องพึ่งยาตลอดชีวิต เช่นเดียวกับผู้ที่มีเป็นโรคประจำตัวทั่วไป
ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเวชที่พบมากทึ่สุดคือโรคจิตเภท ตลอดอายุขัยของประชาชนทั่วไปในทุกๆ 100 คน จะพบเป็นโรคนี้ได้ 1 คน หรือร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่ามีประมาณ 6 แสนคนทั่วประเทศ ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นที่ไม่พบในคนปกติ คือ หลงผิด ประสาทหลอน พูดจาไม่รู้เรื่อง และพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสม ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่ใช่คนน่ากลัวอย่างที่บางคนเข้าใจ มีผลการการศึกษาพบว่าอัตราการก่อคดีอาชญากรรมของผู้ป่วยโรคจิตเภทไม่ได้มากไปกว่าคนทั่วไป ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และลดภาระดูแลของญาติด้วย
ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบ
- ไม่ยอมกินยา เพราะคิดว่าไม่ได้ป่วย/ไม่ได้เป็นอะไร
- กลัวเกิดผลข้างเคียงของยา บางคน กินแล้วมีผลข้างเคียง เช่น ตัวแข็งทื่อ น้ำลายไหล ง่วงมาก ซึ่งขณะนี้มียารักษาสมัยใหม่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดเดิม
- กลัวจะติดยา จึงกินบ้างไม่กินบ้าง ซึ่งขอยืนยันว่าผู้ป่วยจิตเวชที่กินยารักษาอาการป่วยจะไม่มีโอกาสติดยาแน่นอนแม้ว่าแพทย์จะสั่งให้กินในขนาดสูงและยาวนานก็ตาม ก็ไม่ทำให้เกิดการติดยา มีเพียงยาจิตเวชบางชนิดเท่านั้นที่อาจเกิดอาการพึ่งพิงยาได้ แต่หากอยู่ในความดูแลของแพทย์ ก็ไม่ต้องกังวล
- คิดว่าตัวเองหายแล้ว ซึ่งยาจิตเวชหลังจากกินแล้วจะค่อยๆออกฤทธิ์ประมาณ 15 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเหมือนปกติ เนื่องจากยาจะควบคุมการทำงานของสมองให้เข้าที่ แต่ยังไม่ได้หายขาดจากโรค จะต้องกินยาให้ครบทุกตัวที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง หากหยุดยาเอง อาการก็จะกลับมากำเริบและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แพทย์ผู้ให้การรักษาจึงต้องนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ
เช็ค 7 สัญญาณโรคทางจิตเวช พบ 1 ข้อควรปรึกษาจิตแพทย์
ดูแลผู้ป่วยจิตเวช 5 ประการดังนี้
- ดูแลให้กินยาต่อเนื่อง
- สังเกตอาการเตือนที่ต้องนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วคือ นอนไม่หลับ ไม่ยอมนอน ไม่รับประทานอาหาร อารมณ์หงุดหงิดหรือครื้นเครงกว่าปกติ พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง หรือคนอื่น
- พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความเป็นมิตร นุ่มนวล ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู่สึกมีคุณค่าและยังคงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
- กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมอื่นๆ พยายามให้ดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด
- ดูแลผู้ป่วยไม่ให้เกี่ยวข้องกับสารเสพติดทุกชนิดทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด
หากมีปัญหาสามารถขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต
ภาพจาก : shutterstock
รู้จัก PTSD สภาวะเครียด หลังเจอเหตุกระทบจิตใจขั้นรุนแรง แพทย์เตือนเด็กก็เป็นได้
สธ.เผยสถิติผู้ป่วยจิตเวช 2 หมื่นคนพบ โรคจิต-ซึมเศร้า-วิตกกังวลมากสุด