เทคนิค “เลิกเป็นคนคิดมาก” ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ เปิดใจรับสิ่งใหม่!
อาการคิดมาก ไม่ใช่โรคแต่เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดจากความเครียด ความกดดัน ความกังวลต่อปัญหาบางอย่าง เปิดวิธีแก้คือฝึกอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับความไม่สมบูรณ์ และระบายความรู้สึกอย่างเหมาะสม
อาการคิดมาก (Overthinking) เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยทางจิตใจ พฤติกรรม และชีวภาพ เช่นความเครียดและความกังวล การเผชิญปัญหาที่กดดัน ความกลัวและไม่มั่นใจ กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ บุคลิกภาพประเภทคนคิดไม่หยุด เช่น Highly Sensitive Person ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ความผิดปกติทางอารมณ์ ต่างๆ ซึ่งหากคิดมากบ่อย อาจทำให้เกิด โรคเครียดโรควิตกกังวล และอาจส่งผลให้ นอนไม่หลับ ได้เลยนะคะ

9 วิธีกลายเป็นคนเลิกคิดมาก
ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ
เพราะมนุษย์เราทุกคนล้วนผิดพลาด ไม่มีใครสมบูรณ์แบบและไม่เคยพลาดเลย เราจำเป็นต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วซึ่งอาจไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ความไม่สมบูรณ์แบบไม่ใช่ความผิดพลาด กลับกันแทนที่จะกังวลมากเกินไปให้มองว่ามันคือการเรียนรู้ เพราะได้เรียนรู้เราจึงเติบโตขึ้นและมีภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับปัญหาในอนาคตได้เก่งขึ้น
มองโลกตามความเป็นจริง
วิธีเลิกคิดมากคือการอยู่กับความเป็นจริง อย่าพยายามรีบด่วนสรุปว่า เดี๋ยวมันต้องเป็นแบบนี้แน่ ๆ ฉันทำไม่ได้แน่ ๆ หรือพยายามตัดสินโลกในแง่ร้าย เพราะการคิดไปเองจะทำให้เรายิ่งวิตกกังวล และบางทีเรื่องราวอาจไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นก็ได้
ปล่องวางเรื่องราวในอดีต
ไม่แปลกเลยที่คุณอาจจะคิดทบทวน คิดไม่หยุดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วอดีต หลายคนอาจจะยังผูกติด ไม่หยุดคิดถึงอดีตด้วยความรู้สึกเสียดาย เสียใจ เจ็บใจ โทษตัวเอง โทษคนอื่น แต่ทั้งหมดมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วและเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ สิ่งที่ทำได้คือการทำวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอดีตที่จะทำให้เราเสียใจอีกครั้ง
ระบายความคิดและความรู้สึก
เราไม่จำเป็นต้องกักเก็บความรู้สึกอัดแน่นไว้คนเดียว ลองหาคนที่เราไว้ใจ สบายใจด้วย และเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พวกเขาฟัง หรือบางคนอาจจะถนัดการเขียนระบายความรู้สึกก็สามารถเขียนไดอารี่เพื่อบรรยายความคิดความรู้สึกออกมาได้ การระบายความรู้สึกจะช่วยให้เราสบายใจขึ้น
หาสิ่งที่อยากโฟกัสใหม่ ๆ
การทำสิ่งใหม่ ๆ เป็นวิธีเลิกคิดมากที่ดีวิธีหนึ่ง เพราะการทำสิ่งใหม่ ๆ จะช่วยดึงความสนใจออกจากความคิดฟุ้งซ่าน กิจกรรมที่แนะนำ เช่น เล่นดนตรี วาดภาพ ถ่ายภาพ ฝึกทำอาหาร ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ออกกำลังกาย เดินเล่นในสวน ไปเที่ยว จัดห้องใหม่ หรือเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร จะช่วยให้ได้พบปะผู้คนและรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น
ปรับเปลี่ยนวิธีคิด
ลองถามตัวเองว่า “สิ่งที่ฉันคิดตอนนี้มีประโยชน์อะไรไหม?” ถ้าไม่ ก็ลองเปลี่ยนความสนใจไปทำอย่างอื่น แยกแยะสิ่งที่ควบคุมได้กับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าควบคุมได้ให้ลงมือทำ เช่น ถ้ากังวลเรื่องงาน ก็วางแผนให้ชัดเจน แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ให้ปล่อยวาง เช่น ถ้ากังวลว่าคนอื่นจะคิดยังไง ก็เตือนตัวเองว่า “เราควบคุมความคิดคนอื่นไม่ได้” และหยุดคิด หยุดกังวลเรื่องนี้
หยุดจินตนาการด้านลบ
วิธีปล่อยวาง ไม่คิดมากวิธีนี้คือการดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เพราะการอยู่กับความคิดในจินตนาการด้านลบก็เหมือนทำให้เราคิดวกวนได้ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นลองหาวิธีดึงความคิดตัวเอง ดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เช่น การฝึกลมหายใจ หรือการฝึก Grounding Technique
บันทึกความสำเร็จเล็ก ๆ
การได้เห็นความสำเร็จของตัวเองในแต่ละวันจะทำให้เรามีความมั่นใจ ภูมิใจ มี Self-Esteem ที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้เราเลิกคิดมาก รู้สึกวิตกกังวลต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึงน้อยลง ความสำเร็จในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แค่การทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งแล้ว
ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน
วิธีเลิกคิดมากที่สำคัญวิธีหนึ่งก็คือการอยู่กับปัจจุบัน การที่เราคิดเยอะ คิดไม่หยุด ไม่สบายใจ ก็เพราะเราคิดถึงเรื่องในอดีตหรือไม่ก็เรื่องในอนาคตที่ไม่สามารถควบคุมได้ การดึงสติตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันอาจจะทำได้ยากในตอนแรก จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อให้เรารู้ทันอารมณ์ความคิดของตัวเองและดึงความคิดกลับมา
ความคิดที่วกวน ฟุ้งซ่าน ทำให้เรานอนไม่หลับ เกิดความเครียด ไม่มีสมาธิและยังเหนื่อยล้าต่อการใช้ชีวิตประจำวัน วิธีแก้ไขคือการหาทางจัดการกับความคิด และอาจเข้ารับการปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกเนื่องจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกจะช่วยให้ปรับความคิด รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองและยังช่วยให้เราจัดการกับปัญหาและความรู้สึกของตัวเองได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : BeDee