เปิดสายด่วน “ปรึกษากัญ 1667” ให้คำปรึกษาใช้กัญชาอย่างปลอดภัย
กรมสุขภาพจิต เดินหน้าเปิดสายด่วน 1667 ให้คำปรึกษาในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ไม่เสพติด ไม่เจ็บป่วยทางจิต
วันนี้ 14 มิ.ย. 2565 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่กฎหมายปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดมีผลบังคับใช้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจตนารมณ์ที่สำคัญเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตมีข้อแนะนำในการใช้กัญชาและกัญชง ขอให้ระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากบริโภคอย่างไม่เหมาะสม โดยแนะนำต้องไม่จำหน่ายแก่บุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์ มารดาที่ให้นมบุตร
แจก "กัญชา" 2 ต้นต่อครัวเรือน เปิดลงทะเบียน 16 มิ.ย. นี้
แขวนบ้องกัญชาหน้าบ้าน เตือนสติวัยรุ่นอย่าเสพ
นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังการใช้ในผู้มีโรคเรื้อรังและผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มโรครุนแรง เช่น จิตเภท ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว เพื่อคุ้มครองไม่ให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีโอกาสเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่ และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผลและการยับยั้งชั่งใจ ทั้งในขณะเสพและหลังเสพ จนเกิดอาการทางจิตเวชตามมาได้ ส่วนในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร สารสกัดจากกัญชาอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์หรือทารกได้
ด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤทธิ์ของสารสกัดจากกัญชาที่มีต่อระบบประสาทสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มอาการ ได้แก่
1) กดประสาท ผลเบื้องต้นทำให้รู้สึกสงบ สุขคนเดียวได้ ง่วง อยากนอน แต่ทำให้ไม่มีแรงจูงใจทำอะไร หากเสพเกินขนาดจะหลับลึก ไม่ค่อยรู้ตัว
2) กระตุ้นประสาท ผลเบื้องต้นทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ไม่หิว ไม่เหนื่อย แต่ถ้าได้รับสาร THC มากขึ้นจะกระสับกระส่าย กลัว ตื่นตระหนก หากเสพเกินขนาดหัวใจจะเต้นเร็วมากขึ้นและอุณภูมิร่างกายสูงขึ้น
3) หลอนประสาท ทำให้มีอาการเคลิ้มฝันกลางวัน วิตกกังวล กลัว ไม่อยากออกไปไหน หากเสพเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น ยิ้มพูดคนเดียว หูแว่ว หวาดระแวง
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้เปิด สายด่วน “ปรึกษากัญ 1667” เพื่อให้คำปรึกษาในการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากกัญชาและกัญชงอย่างถูกต้อง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกรมสุขภาพจิตเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจที่จะใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพจากกัญชาและกัญชง แต่ยังไม่มั่นใจหรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ สามารถโทรขอรับการปรึกษาได้ฟรี หรือ สามารถปรึกษาแพทย์ที่ดูแลรักษาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยและเกิดประสิทธิภาพ ในการรักษาอย่างแท้จริง
สาย แอลกอฮอล์ ต้องลอง แบบทดสอบคุณดื่มมากเกินไปหรือเปล่า?
คนขี้เซารีบเช็กตัวเอง ระวังเป็น"โรคนอนเกิน" โรคที่เกิดจากความผิดปกติจากร่างกายหรือจิตใจ