“สารประกอบในมะกรูด” มีฤทธิ์ต้านโควิด-19 ได้ใกล้เคียง “ยาเรมดิซิเวียร์”
งานวิจัยใหม่จากจีนพบว่า “เบอร์กามอตติน” ซึ่งเป็นสารประกอบใน “มะกรูดเทศ” สามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้
สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นประเทศจีน เปิดเผยผลการวิจัยล่าสุด เกี่ยวกับความหวังใหม่ในการรักษาโควิด-19 นั่นคือ “เบอร์กามอตติน (Bergamottin)” ซึ่งเป็นสารประกอบใน “มะกรูดเทศ (Bergamot; Citrus bergamia)”
โดยนักวิจัยจีนทำการทดลองกับเซลล์มนุษย์ในหลอดทดลอง และทดสอบในสัตว์ทดลอง พบว่า สารประกอบดังกล่าวมีผลยับยั้งการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 ได้ และยังสามารถรักษาโรคได้ในระดับประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาเรมดิซิเวียร์
โควิดยังพุ่ง สธ.เตือนอย่ารีบถอดหน้ากาก แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
หมอเผย BA.5 อาการมากกว่า BA.2 ชัดเจน ปวดเมื่อย ไอ เจ็บคอมาก ท้องเสีย
จับตา ! ศบค.เคาะปรับโควิดสู่โรคประจำถิ่น 8 ก.ค. 65
ในขั้นแรก นักวิจัยประเมินประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ของเบอร์กามอตติน แล้วพบว่า เบอร์กามอตตินแสดงผลการยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยนักวิจัยพิจารณาจากค่า IC50 หรือการพิจารณาว่า สารนั้นใช้ความเข้มข้นมากน้อยเท่าใด จึงจะมีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อไวรัสได้ที่ 50% ซึ่งถ้าใช้ความเข้มข้นน้อยแล้วยับยั้งเชื้อได้ ก็แปลว่าสารนั้นดี ดังนั้นพูดง่าย ๆ คือ ค่านี้ยิ่งน้อยยิ่งดี
เมื่อนำสารเบอร์กามอตตินไปทดสอบกับโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wild Type) ค่า IC50 อยู่ที่ 9.64 ไมโครโมลาร์ เมื่อทดสอบกับสายพันธุ์อัลฟาอยู่ที่ 8.15 ไมโครโมลาร์ และเมื่อทดสอบกับสายพันธุ์เบตาอยู่ที่ 14.16 ไมโครโมลาร์ เท่ากับว่า เบอร์กามอตตินนั้นสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทั้ง 3 สายพันธุ์ได้ดี แต่ยับยั้งสายพันธุ์อัลฟาได้ดีที่สุด
นักวิจัยศึกษาพบอีกว่า สารประกอบเบอร์กามอตตินสามารถรบกวนและแทรกแซงขั้นตอนของวัฏจักรชีวิตของไวรัสโควิด-19 ได้ด้วย โดยมีฤทธิ์ปิดกั้นไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของโฮสต์ และลดการสังเคราะห์ RNA ของไวรัส ซึ่งเท่ากับขัดขวางการสืบพันธุ์และแบ่งตัวของไวรัส
นักวิจัยยังทดสอบประสิทธิภาพของเบอร์กามอตตินในการป้องกันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 โดยใช้แบบจำลองเยื่อบุผิวจมูกของมนุษย์ โดยประเมินฤทธิ์ต้านไวรัสจากความสามารถของสารเบอร์กามอตตินในการลด RNA ของไวรัส เทียบกับการใช้ยาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโควิด-19 ที่ปัจจุบันใช้แพร่หลายทั่วโลก
หลังการทดลองพบว่า เบอร์กามอตตินมีฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 จริง โดยขึ้นอยู่กับขนาดยา เมื่อเยื่อบุผิวจมูกของมนุษย์ได้รับการรักษาด้วยเบอร์กามอตติน 25 หรือ 50 ไมโครโมลาร์ จะมีฤทธิ์ในการยับยั้ง SARS-CoV-2 เทียบได้กับการรักษาด้วยเรมเดซิเวียร์ขนาด 10 ไมโครโมลาร์
จากนั้นเมื่อทดลองใช้เบอร์กามอตตินในสัตว์ทดลองคือแฮมสเตอร์ซีเรียสีทอง ที่ถูกทำให้ติดเชื้อโควิด-19 พบว่า เมื่อหยอดสารประกอบเบอร์กามอตตินใส่ปากแฮมสเตอร์ซีเรียสีทอง ในขนาด 50 มก./กก. และ 75 มก./กก. จะสามารถลดเชื้อโควิด-19 ในกระดูกจมูกและเนื้อเยื่อปอดของแฮมสเตอร์ได้
หลังการให้เชื้อ 1 วัน แฮมสเตอร์ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่ได้รับเบอร์กามอตตินเริ่มมีอาการหลังค่อม งอแง และน้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่แฮมสเตอร์ในกลุ่มที่ได้รับสารเบอร์กามอตตินมีพฤติกรรมผิดปกติเพียงเล็กน้อยและเกิดโรคช้ากว่า นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับเบอร์กาม็อตติน 75 มก./กก. ยังมีความเสียหายของปอดและการลดน้ำหนักที่เกิดจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 บรรเทาลงกว่ากลุ่มอื่น
จากผลการศึกษาล่าสุดจึงได้ข้อสรุปว่า สารประกอบเบอร์กามอตตินในมะกรูดเทศ มีศักยภาพที่จะนำไปใช้งานทางการแพทย์เพื่อรับมือโควิด-19 และอาจใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการต้านไวรัสได้
มะกรูดเทศหรือต่างชาติเรียกส้มมะกรูด เป็นผลไม้พื้นถิ่นของอิตาลีและแถบแคริบเบียน เป็นมะกรูดคนละชนิดกับมะกรูดไทย (Kaffir Lime; Citrus hystrix) มีรสขมและกินยากกว่า แต่ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า การบริโภคมะกรูดเทศสด ๆ หรือประกอบอาหาร จะให้ผลต้านทานโควิด-19 ได้เหมือนการใช้สารเบอร์กามอตตินเพียว ๆ หรือไม่
เรียบเรียงจาก Xinhua