WHO กังวล ทั่วโลกลดการตรวจหาเชื้อ ชี้ “โควิด-19 ยังเป็นภาวะฉุกเฉิน”
อนามัยโลกแถลงเตือนรัฐบาลทั่วโลกอย่าเพิ่งยกเลิกมาตรการที่จำเป็น เช่น การสวมหน้ากาก การตรวจหาเชื้อเชิงรุก ชี้โควิด-19 ยังเป็นภาวะฉุกเฉิน
เมื่อวาน (12 ก.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า โควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก แม้จะผ่านมาเกือบ 2 ปีครึ่งแล้วนับตั้งแต่มีการประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic)
คณะกรรมการรับมือเหตุฉุกเฉินของ WHO ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระ กล่าวในแถลงการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น วิวัฒนาการของไวรัสที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในหลายประเทศ ทำให้พิจารณาแล้วว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังคงอยู่ในภาวะฉุกเฉิน
โควิดโอมิครอน BA.5 แพร่ได้เร็วกว่าไวรัสทุกชนิดในโลก
อินเดียกังวล พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน BA.2.75 เพิ่มขึ้น
กรมควบคุมโรครายงานยอด ATK สะสมรายสัปดาห์ เฉียด 1.5 แสน
เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “โควิด-19 ยังไม่เข้าใกล้กับคำว่าสิ้นสุดเลย ... ในขณะที่ไวรัสกำลังสู้กับเรา เราก็ต้องสู้กลับ ปัจจุบันเราอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่มาก”
เขาเสริมว่า “เรามีเครื่องมือที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ การรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองข้ามพวกมัน (โควิด-19)”
เทดรอสกล่าวว่า เขามีความกังวลว่าจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะสร้างแรงกดดันเพิ่มต่อระบบสาธารณสุขและบุคลากรด้านสาธารณสุข
WHO ประกาศการแจ้งเตือนระดับสูงสุดหรือที่เรียกว่าภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2020
ท่ามกลางอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น เทดรอสเรียกร้องให้ “รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการที่ผ่านการทดลองและทดสอบแล้วว่าได้ผล เช่น การสวมใส่หน้ากาอนามัย การปรับปรุงระบบระบายอากาศ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาเชื้อและการรักษา”
ในขณะเดียวกัน ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการคณะกรรมการรับมือเหตุฉุกเฉินของ WHO บอกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่มีการรายงานไปยัง WHO เพิ่มขึ้น 30% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักเกิดจากโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 รวมถึงการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขและสังคมในหลายประเทศ
ไรอันยังกล่าวว่า หลายประเทศขณะนี้ เปลี่ยนนโยบายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทำให้อัตราการตรวจหาเชื้อลดลงอย่างมาก จึงยากต่อการติดตามผู้ป่วยและเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัส
“ความเปลี่ยนแปลงนี้ขัดขวางการประเมินการแพร่ระบาดและรูปแบบใหม่ของไวรัสในปัจจุบัน” WHO กล่าว
WHO กล่าวว่า วิถีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 และลักษณะของสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ยังคงเป็นสิ่งที่ “ไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้” การไม่มีมาตรการเพื่อตรวจสอบหรือลดการแพร่เชื้อจะเพิ่มโอกาสในการเกิด “โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีความแข็งแกร่งขึ้น โดยอาจมีระดับความรุนแรง การแพร่เชื้อ และศักยภาพในการหลบหนีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น”
นายกฯ เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อ ซื้อยาโควิด-19 กินเอง หวั่นดื้อยา เกิดผลข้างเคียง
โควิดวันนี้ (13ก.ค.65) ติดเชื้อเพิ่ม 2 พันกว่าราย เสียชีวิตไม่ลดลง
เรียบเรียงจาก Al Jazeera / Reuters
ภาพจาก AFP