วิจัยพบ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดโอกาสเกิด “ลองโควิด (Long COVID)” ได้
หน่วยงานด้านสุขภาพในสหราชอาณาจักรเผยรายงาน การฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดความเสี่ยงการเกิดและความรุนแรงของภาวะลองโควิดได้
ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับโควิด-19 ที่มักถูกพูดถึง คือเรื่องของ "ลองโควิด (Long COVID)" หรือภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 บางราย ที่แม้หายดีจากโควิด-19 เป็นเวลานานแล้วแต่ยังคงมีอาการ ผลกระทบ หรือผลข้างเคียงหลงเหลืออยู่ และมีข้อมูลว่า ยังไม่มีวิธีป้องกันรักษาที่ชัดเจน ทำได้เพียงรักษาไปตามอาการ
แต่ล่าสุด หน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) เปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า “การฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลองโควิดได้”
คุณแม่ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีน mRNA สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้บุตรได้
หายป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงเกิด “Long Covid ในระบบหัวใจ” มากกว่า 50%
4 อาการ Long Covid พบบ่อย ส่งผลต่อ "ระบบหัวใจและปอด" หลังป่วยโควิด-19
โดยในรายงานการสรุปหลักฐานเบื้องต้นของ UKHSA ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษา 15 ฉบับ ทั้งที่เป็นการวิจัยในสหราชอาณาจักรและจากนานาชาติ โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อตรวจสอบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ป้องกันการเกิดลองโควิดหรือไม่ ส่วนงานวิจัยที่เหลือศึกษาผลกระทบของการฉีดวัคซีนในผู้ที่เกิดภาวะลองโควิดแล้ว
จากการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ไม่ว่า 1 เข็มหรือ 2 เข็ม มีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดน้อยกว่ามากหากติดโควิด-19 เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แม้แต่เข็มเดียว
โควิดวันนี้ เช็ก! 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด กทม.เตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่ม
ในการศึกษาย่อย 2 ชิ้นที่วัดระดับอาการลองโควิด พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว มีโอกาสเกิดผลกระทบต่อเนื่องในระยะกลางหรือยาวน้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เช่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อต่อเนื่อง ผมร่วง อาการวิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก สูญเสียกลิ่นหรือเกิดแผลเป็นในปอด
“ยังมีหลักฐานเบื้องต้นด้วยว่า คนที่ไม่ได้รับวัคซีนแล้วติดโควิด-19 จนเกิดภาวะลองโควิด ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนในเวลาต่อมา โดยเฉลี่ยแล้ว อาการของลองโควิดจะลดลง หรือมีอาการลองโควิดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน” รายงานของ UKHSA ระบุ
อย่างไรก็ตาม ก็มีบางกรณีที่รายงานว่า มีอาการลองโควิดแย่ลงหลังการฉีดวัคซีน
เดโบราห์ ดันน์-วอลเตอร์ส ประธานคณะทำงานเฉพาะกิจของ British Society for Immunology Covid-19 และศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาที่ University of Surrey กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะอธิบายว่า ทำไมการฉีดวัคซีนจึงลดอาการลองโควิดได้
“คำว่าลองโควิดครอบคลุมเงื่อนไขที่หลากหลายหลังหายจากโควิด-19 ดังนั้นเราจึงยังไม่เข้าใจกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้” เธอกล่าว
ดันน์-วอลเตอร์สเสริมว่า ทฤษฎีหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจช่วยจัดการเศษซากหรือชิ้นส่วนเชื้อไวรัสที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายที่ทำให้เกิดความผิดปกติ อีกทฤษฏีหนึ่งคือ การฉีดวัคซีนจะปรับสมดุลการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับให้สู้กับเชื้อไวรัสได้ แต่บางส่วนก็อาจแข็งแรงเกินพอดี จนระบบภุมิคุ้มกันเป็นภัยต่อร่างกาย ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าทำไมบางคนจึงมีอาการแย่ลงหลังการฉีดวัคซีน
เธอกล่าวว่า “รายงานนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้ว่าในสหราชอาณาจักรจะมีการฉีดวัคซีนในตัวเลขที่สูง แต่ผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังคงไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกหรือเข็มสอง เราต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้วัคซีนเข้าถึงคนเหล่านี้และรณรงค์ให้พวกเขาออกมารับวัคซีนโควิด-19”
ด้าน ศ.สตีเฟน พาวอิส ผู้อำนวยการด้านการแพทย์แห่งชาติของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (NHS England) กล่าวว่า “ด้วยผู้ป่วยมากกว่า 10,000 รายในโรงพยาบาลที่ติดเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร การศึกษาครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญในเวลาที่เหมาะสมว่า วัคซีนยังคงสามารถป้องกันไวรัสได้ดีที่สุด ลดโอกาสที่จะป่วยหนัก รวมถึงผลกระทบจากลองโควิด”
แนะสังเกตอาการเด็ก 5-11 ปีหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
เรียบเรียงจาก The Guardian / UKHSA
ภาพจาก AFP / Shutterstock