เลขา สมช.ขอเวลาประเมินโควิด ก่อนชงยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินปลายเดือนหน้า
เลขา สมช.ขอเวลาประเมินโควิด ต้องมั่นใจไม่เกิดวิกฤติ ก่อนชงยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินปลายเดือนหน้า บอกเป็นนัยเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว พร้อมถอยดูมิติมั่นคงหาก ศบค.ถูกยุบ
พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า การต่อขยาย พ.ร.กฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ ออกไปหรือไม่ เป็นอำนาจของ สมช. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เรื่องนี้จริง ๆ แล้วมีความชัดเจน โดยขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติแผนการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง
กลับลำ! ศบค. ยังไม่คุยยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอหารือนัดหน้า
เคาะร้านจ่ายยา– รพ.เอกชนจัดซื้อยาโควิดเองได้ เริ่ม 1 ก.ย.นี้
ส่วนจะต้องยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ จากการเตรียมการ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ สภาพความเป็นอยู่ โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุม ศบค.วงรอบหน้า
ส่วนความเป็นไปได้ที่จะไม่ต่อขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้น พลเอกสุพจน์ กล่าวว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินจริง ๆ แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทางอื่น หากไม่มีการติดใจในประเด็นการเมือง ถือว่ามีข้อดีมาก ๆ เนื่องจากเมื่อมีเหตุการณ์อะไรสามารถเข้าไปจัดการได้เรียบร้อยทั้งหมด อย่างไรก็ตามต้องประเมินความเสี่ยงและแผนที่จะรองรับ และดูว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับเดิมนั้นเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดวิกฤติและความเสียหายในมิติต่าง ๆ เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นต้องแก้ไขได้ทันท่วงที โดยเน้นให้มีแผนรองรับที่ดี และวิกฤตความเสียหายต้องไม่เกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ตามจะต้องมีการประเมินทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 แต่การจะประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมีข้อแม้ว่าจะต้องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งการประชุม ศบค.ในวงรอบถัดไป คือ เดือนหน้า น่าจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน
พลเอกสุพจน์ กล่าวอีกว่า หาก พ.ร.ก. ฉุกเฉินไม่ถูกต่อขยาย ศบค.จะถูกยุบอย่างแน่นอน เนื่องจากเกิดมาด้วยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาได้หมด และสามารถมอบให้นายอนุทิน ชาญวีรกุลรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการเหตุการณ์ หลังจากนั้นจะให้สาธารณสุขเป็นผู้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ หาก ศบค.ถูกยุบลง สมช.จะถอนบทบาทกลับมาดูในมิติความมั่นคง แต่อาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่กระทรวงสาธารณสุขตั้ง หรือ เป็นหน่วยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) อะไรก็แล้วแต่