อย.สหรัฐอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ของไฟเซอร์-โมเดอร์นา
สหรัฐอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 เวอร์ชันอัปเกรดของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งป้องกันได้ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและโอมิครอน
องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ประกาศอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ของ “โมเดอร์นา” และ “ไฟเซอร์” ซึ่งทั้งสองตัวเป็นเวอร์ชันอัปเดตที่สามารถรับมือได้ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์หลักในขณะนี้อย่างโอมิครอน
นี่เป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ ที่อนุมัติใช้วัคซีนยี่ห้อเดิมที่เป็นตัวอัปเกรด โดยกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์สหรัฐฯ รายงานว่า ขณะนี้สหรัฐฯ สำรองวัคซีนรุ่นใหม่ของทั้งสองบริษัทไว้แล้วรวม 171 ล้านโดส
“โมเดอร์นา” ฟ้อง“ไฟเซอร์” ละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนโควิด-19
"ระยะฟักตัว" โควิด-19 มีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน
วัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่มาแล้ว อังกฤษอนุมัติใช้ชาติแรก
สำหรับวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ของโมเดอร์นาและไฟเซอร์ที่ FDA อนุมัติใช้นี้ เป็นแบบ “ไบวาเลนต์ (Bivalent)” ทั้งคู่ สามารถกำหนดเป้าหมายต่อต้านเชื้อได้ทั้งโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์โอมิครอน
โดยวัคซีนของไฟเซอร์นั้น มีขนาด 30 ไมโครกรัม จะใช้เป็นเข็มกระตุ้นให้กับประชากรอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นา ขนาด 50 ไมโครกรัม จะเป็นเข็มกระตุ้นให้กับประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะฉีดให้กับคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแรกมาแล้ว รวมถึงผู้ที่ฉีดเข็มกระตุ้นอื่น ๆ มาก่อนหน้า
ทั้งนี้ FDA ระบุด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นจากนี้ในสหรัฐฯ จะเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ทั้งหมด และยกเลิกการนำวัคซีนสูตรเดิมมาฉีดเป็นเข็มกระตุ้น ยกเว้นในประชากรกลุ่มอายุน้อยกว่า 12 ปี จะยังคงให้ใช้วัคซีนรุ่นเดิมเป็นเข็มกระตุ้น
สำหรับวัคซีนโควิด-19 สูตรเดิมที่ทั่วโลกใช้กันอยู่นี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จากการกลายพันธุ์และวิวัฒนาการของโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับช่วงที่มันระบาดครั้งแรกในปี 2019 ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนสูตรปัจจุบันในการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงโรคถูกลดทอนลงไป
ข้อมูลเดิมจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ในประชากรสหรัฐฯ อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนดั้งเดิมของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 3 โดส หลังผ่านไป 3 เดือน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลจากสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 อยู่ที่ 55% หากผ่านไป 5 เดือนหลังฉีดเข็ม 3 ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือ 19%
ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเป็นเพียงการศึกษากับโอมิครอน BA.2 เท่านั้น ในขณะที่สายพันธุ์หลักในปัจจุบันอย่าง BA.4 และ BA.5 ได้กลายพันธุ์จาก BA.2 มาอีกพอสมควร ทำให้พอจะประเมินได้ว่า วัคซีนในปัจจุบันน่าจะ “เอาไม่อยู่” แล้ว
เมื่อเดือน มิ.ย. บริษัทไฟเซอร์ได้นำเสนอข้อมูลการทดลองวัคซีนรุ่นใหม่ในหนูทดลองต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีนของ FDA ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนไบวาเลนต์ที่จำเพาะต่อโอมิครอน BA.5 ช่วยเพิ่มแอนติบอดีในหนู และป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 2.6 เท่าเมื่อเทียบกับวัคซีนรุ่นเดิม
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจอนุมัติใช้ที่ค่อนข้างเร่งด่วนของ FDA นี้ ถูกคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่า ควรรอให้มีผลการทดลองในมนุษย์เป็นที่แน่ชัดก่อน จึงจะนำมาให้ประชาชนใช้จริง
ในประเด็นนี้ ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ออกมาแสดงความเห็นว่า การรอข้อมูลการทดสอบในมนุษย์ อาจหมายความว่าวัคซีนรุ่นใหม่นี้จะล้าสมัยไปแล้วหากมีสายพันธุ์ใหม่ปรากฏขึ้น เธอบอกว่า มีการเปลี่ยนแปลงในสูตรวัคซีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย
“มีคำถามอยู่เสมอว่านี่มันช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป ความท้าทายประการหนึ่งคือถ้าเรารอให้ข้อมูลการทดสอบของมนุษย์ กว่าเราจะได้ใช้ ฉันคิดว่าวัคซีนมันจะล้าสมัยไปเสียก่อน” วาเลนสกีกล่าว
ภาพจาก AFP
ศบค. เผยพบผู้ติดเชื้อโควิดระลอกเล็กๆ ผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตลดลง
“อนุทิน” ย้ำตั้งแต่ 1 ก.ย. ร้านยาจ่ายยาโควิดต้องมีใบสั่งแพทย์