อายุน้อยก็เสี่ยง! รู้จัก “โรคเก๊าต์” ปวดบวมตามข้อเลี่ยงได้แค่กินให้ถูก
โรคเก๊าต์เกิดจากกรดยูริกในร่างกายสูงเกินไป พบได้ทุกวัย แม้ไก่ไม่ใช่สาเหตุก่อโรค แต่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ลดอาการปวดบวมตามข้อ
เมื่อพูดถึงโรคเก๊าต์ หลายคนมักรู้สึกว่าเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่อายุ 30 ปีเองก็พบได้เช่นกัน เหมือนอย่าง หมู - พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซน์เนอร์และผู้ก่อตั้ง Asava group ที่เล่าปัญหาสุขภาพเนื่องจากโรคเก๊าท์ให้ฟังว่า ตอนแรกไม่รู้ และหมอตรวจเองก็ไม่พบโรค ตัวเองจึงคิดว่าขาบวมเพราะวิ่งเยอะเกินไป จนมาเจอคุณหมอคนหนึ่งบอกว่าเป็นเก๊าต์จากภาวะกรดยูริกสูง ซึ่งมาจากการกิน
อย่าปล่อยให้ “เก๊าท์” มาทำร้าย! | รายการ Rise & Shine ชีวิตดีเริ่มที่ตัวเรา EP.11 | 9 ก.ย. 65
ผู้ชายเป็นเก๊าท์มากกว่าผู้หญิง 9-10 เท่า ส่วนใหญ่พบมากในชายวัย 35 +
บางคนบอกให้กินยาทุกวัน เพราะจะยังกินได้ทุกอย่าง แต่เราเลือกการรักษาด้วยการกิน แค่เราต้องรู้ว่าอะไรที่กินได้ กินไม่ได้ เช่น ไก่ โดยเฉพาะส่วนปีก ข้อ น่อง จะกินไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอกไก่กินได้ ทุกวันนี้ตัวเองจะพยายามควบคุมไม่ให้ค่ากรดยูริกในร่างกายเกิน 6.5 เพราะถ้าไม่เกินตัวเลขดังกล่าว ก็จะไม่เกิดการปวดและการบวมแดงของข้อ แต่ถ้าเกินเดือนถัดไปเราก็จะต้องเคร่งครัดกับการควบคุมอาหารของตัวเองต่อไปชวนให้นึกว่าสำนวน “You are what you eat” หรือ “คุณกินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นอย่างนั้น” เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคเก๊าต์ได้ โดย นพ.สุรชัย นิธิเกตุกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติซั่ม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเก๊าต์ และวิธีการรักษาที่ถูกต้อง ดังนี้
รู้จัก “โรคเก๊าต์”
โรคเก๊าต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบฉับพลันชนิดนึงที่พบมากที่สุดในคนเรา ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเมตาบอลิซึมของกรดยูริกในร่างกาย ทำให้ร่างกายของเรามีค่ากรดยูริกสูง และเมื่อมีค่ากรดยูริกสูง ๆ ก็จะไปสะสมตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ จนข้อต่าง ๆ และไตเกิดการอักเสบได้ เป็นสาเหตุให้มีอาการปวดข้ออย่างมากฉับพลัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่ข้อเดียว เช่น ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือ ข้อเข่า เป็นต้น มักพบในผู้ชายวัย 40-60 ปี และในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนแล้ว
สำหรับอาการปวด จะมีตั้งแต่เริ่มปวดไปจนถึงมากที่สุดใช้เวลา 24 ชั่วโมง แล้วก็จะปวดมากจนขยับข้อหรือเดินไม่ได้ จนต้องมาพบแพทย์ ในขณะที่บางคนอาจมาพบแพทย์ ด้วยอาการข้ออักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักจะเกิดในคนที่เป็นโรคเก๊าต์เป็นระยะเวลานาน ๆ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยโรคไตอักเสบเรื้อรัง หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ที่เกิดจากกรดยูริก
สิ่งที่ควรทำ เมื่อรู้ว่าป่วย
เมื่อเรามีข้ออักเสบจากโรคเก๊าต์ สิ่งที่เราควรปฏิบัติ มีดังนี้
- การพักการใช้ข้อ
- ประคบเย็น
- ห้ามนวด
- การกินยาลดอักเสบ เนื่องจากยิ่งได้รับการรักษาด้วยยาลดการอักเสบได้เร็วขึ้นเท่าไร ผลการรักษายิ่งดีขึ้นได้เร็วเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อเรารักษาข้ออักเสบให้สงบแล้วอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ในผู้ป่วยบางคนอาจจะต้องกินยาลดกรดยูริกต่อ ได้แก่ คนไข้ที่มีข้ออักเสบบ่อย ๆ เช่น มีข้ออักเสบอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี, ผู้ป่วยที่มีก้อนกรดยูริกสะสมตามร่างกาย หรือผู้ป่วยโรคไต
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์
- ลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- จำกัดการกินอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เนื้อแดง เนื้อจากสัตว์ปีก หรือ อาหารทะเลบางชนิดอย่างหอย
- ออกกำลังกายและลดน้ำหนัก สามารถช่วยลดกรดยูริกและลดการปวดเก๊าต์ได้ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช
แพ้เครื่องประดับความกลุ้มใจสายแฟชั่นรู้จัก"นิกเกิล"ก่อนเรื้อรัง
“คนไทยไร้สิทธิ” ความเลื่อมล้ำที่แม้แต่ป่วยก็รักษาไม่ได้