5 ภาคี เปิดตัวสเปรย์พ่นจมูกแอนติบอดี้โควิด-19 คนไทยได้ใช้ 1 ต.ค.นี้
5 ภาคีรัฐ-เอกชน ทำตามสัญญา พัฒนานวัตกรรมเวลล์โควิแทรป แอนติ-โคฟ นาซอล สเปรย์พ่นจมูกแอนติบอดี นวัตกรรมโดยนักวิจัยไทย ทำหน้าที่เสมือนเป็น Invisible Mask สร้างทางเลือกใหม่ให้คนไทยอุ่นใจจากโควิด-19 เริ่มจำหน่าย 1 ต.ค. นี้
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มาเป็นประธานในงาน แถลงความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ “ผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก” ได้สำเร็จ โดยมีภาคีภาคเอกชน นางวรวรรณ ไชยกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ รอ.นพ.นิมิต ประสิทธิ์ดำรง ผู้เชี่ยวชาญกิตติมศักดิ์ บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด
อภ.ได้รับการรับรองสถานที่ผลิต “สเปรย์พ่นจมูกยับยั้งโควิด” แล้ว
เปิดตัวสเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูก ป้องกันโควิด-19 คนไทยได้ใช้ภายในปีนี้
พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม THE MITR-TING ROOM สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์
นพ.นพพร ได้กล่าวถึง แม้โควิด19จะมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จากสถานการณ์นี้ ทีมวิจัยของไทยจากภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันดำเนินงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาวัคซีน, ชุดตรวจเชื้อ, เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงการพัฒนาแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในรูปแบบของสเปรย์สำหรับพ่นจมูก ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของประเทศไทยที่จะปรากฎสู่สายตาชาวโลก และเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ จนประสบผลสำเร็จและสามารถยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย โดยถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อนำไปต่อยอดในการทำการวิจัย สร้างเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ช่วยยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ในที่สุด
พร้อมเปิดตัว ผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกเพื่อยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ภายใต้แบรนด์เวลล์โควิแทรป ครั้งแรกของไทยและของโลกด้วยว่า “ผมขอชื่นชมในความสำเร็จของสเปรย์พ่นจมูกเพื่อยับยั้งเชื้อโควิด-19 ที่มีคุณสมบัติดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 5 ภาคีเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด ที่ได้ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมไทยสู่ระดับโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ และผลิตภัณฑ์นี้ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่จะช่วยในการยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นถึงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 5 จากภาครัฐและเอกชน หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่ได้มุ่งมั่นและร่วมกันพัฒนานวัตกรรมแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติเพื่อยับยั้งเชื้อโควิด-19 ให้เป็นนวัตกรรมสุขภาพต้นแบบในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพคนไทย และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยมากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของประเทศไทย”
นพ.นพพร ยังกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความร่วมมือ ของภาควิชาการ ภาคเอกชน จนสามารถต่อยอดไปยังภาคธุรกิจได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความร่วมมือในการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ และพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า งานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันเวลาในสถานการณ์จริง
โควิด-19 “เดลตาครอน” สายพันธุ์ใหม่จริง หรือถอดรหัสผิดพลาด?
ทางด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมนักวิจัยแพทย์จุฬาฯ ได้มีการพัฒนาแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติดักจับและยั้บยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพบริเวณโพรงจมูก ซึ่งทีมนักวิจัยได้บ่มเพาะและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาคประชาชน และภาครัฐ คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทั่งสามารถพัฒนาแอนติบอดีต้นแบบได้และได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคเอกชนเพื่อนำไปต่อยอด ในการทำการวิจัยทางคลินิก เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่น่าจะมีส่วนช่วยป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 จนเป็นผลสำเร็จได้ในวันนี้ โดยเทคโนโลยี Human Monoclonal Antibody คือชีวภาพชั้นสูง โดยพัฒนาจากการถอดรหัสแอนติบอดีที่ได้จากอาสาสมัครที่หายดีจากโควิด-19 โดยมีภูมิคุ้มกันในระดับดีเยี่ยม
สำหรับผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงบทบาทขององค์การเภสัชกรรมในการบริหารจัดการและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมในฐานะองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ ได้ดำเนินการตามภารกิจวิจัย พัฒนา ผลิต จัดหา สำรอง กระจายยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ สนับสนุนให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถวิจัยและผลิตขึ้นใช้ได้เองในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีขอบข่ายการอนุญาตให้ผลิตเครื่องมือแพทย์ในกลุ่ม Respiratory care service สำหรับผลิตภัณฑ์ Nasal spray solution จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และยังได้รับการรับรอง ISO-13485 : 2016 มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพสำหรับเครื่องมือแพทย์ จากบริษัท UIC certification service ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจรับรองประเมินมาตรฐานสากลซึ่งแสดงได้ว่าสถานที่ผลิตแห่งนี้ มีคุณภาพ ความปลอดภัย ระบบการจัดการคุณภาพสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ดี
นอกจากนี้ นพ.วิฑูรย์ ยังกล่าวถึง ศักยภาพและความพร้อมในการผลิต ตลอดจนความมั่นใจในคุณภาพ ความปลอดภัย และ ความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรมว่า องค์การเภสัชกรรมจึงมีความพร้อมที่จะผลิตนวัตกรรมสเปรย์ชิ้นนี้ออกสู่ตลาด เพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพในการป้องกันและช่วยรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และยังส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ นวัตกรรมชิ้นนี้จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และเป็นนวัตกรรมสุขภาพในการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของคนไทย ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
นางวรวรรณ กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมสเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ทางกายภาพ บริเวณโพรงจมูก เวลล์โควิแทรป แอนติ-โคฟ นาซาล สเปรย์ (Vaill CoviTRAP Anti-CoV Nasal Spray) ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่พร้อมสู่สายตาของชาวโลก ที่มีคุณสมบัติสามารถดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง ด้วยหลักการทำงาน 2 กลไก ได้แก่ ดักจับด้วย HPMC ที่ทำหน้าที่เคลือบบริเวณพื้นผิวโพรงจมูก ทำให้ความสามารถในการเกาะของเชื้อไวรัสที่บริเวณโพรงจมูกลดลง และการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกายภาพ ที่เข้ามาในบริเวณโพรงจมูกด้วยภูมิคุ้มกัน ใช้พ่นที่โพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง สอดหัวพ่นเข้าไปในโพรงจมูกในแนวตั้ง พ่นข้างละ 1-2 ครั้ง ใช้ได้ตามต้องการทุก 6 ชั่วโมง ได้ถึงวันละ 3 ครั้ง มีขนาด 15 มล. พร้อมในการจัดจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Official Line @Covitrap หรือ Facebook โควิแทรป, ตลอดจนเภสัชกรประจำร้านยาองค์การเภสัชกรรม, สถานพยาบาล The Senizens, และ สถานพยาบาล Panacura ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
“อนุทิน”แถลงแผนคุมโควิด19 หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยกเลิกศบค.
รัฐบาลเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิดประเดิมไฟเซอร์เด็กเล็ก เดือนต.ค. 5 แสนโดส