ตำรวจทลายเครือข่ายกลูต้าผสมสารอันตราย กินแล้วประสาทหลอน
ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย.ทลายขบวนการผลิตและขาย “ชาร์มาร์ กลูต้า” อาหารเสริมผสมสารอันตราย กินแล้วประสาทหลอน หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมสารอันตราย โดยตรวจยึดของกลาง 20 รายการ ตรวจค้น 7 จุด จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 3 ราย
สืบเนื่องจากได้ตรวจสอบโฆษณาประกาศขายอาหารเสริม “ชาร์มาร์ กลูต้า” ที่จำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook), ติ๊กต็อก (Tiktok) และไลน์ (Line) พบโฆษณาชวนเชื่อว่า “ปลอดภัยไม่ผิดกฎหมายและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค”
เช็กเลย! หลังกินวิตามินเสริม ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นจริงหรือไม่?
ยา วิตามิน อาหารเสริม รู้ชัดตัวไหน "ควร - ไม่ควร" กินคู่กัน
เมื่อนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบวัตถุออกฤทธิ์ 2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน (desoxy-D2PM) ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ. 2565 ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
จากการสืบสวนทราบว่า สิรินดา คอสเมติกส์ เป็นโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยมีบริษัท ชาร์มาร์เพอร์เฟค จำกัด เป็นผู้ว่าจ้างให้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฯ ผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) แล้วมาว่าจ้างนายอนิวัต (สงวนนามสกุล) หรือ นารา เป็นอินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
โดยมีนายเมธากร (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่รับโอนชำระค่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับ นางนิชกานต์(สงวนนามสกุล) เจ้าของบริษัท ชาร์มาร์ เมื่อตรวจสอบอีกพบว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า ผลิต จำหน่าย วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) แต่อย่างใด
จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ 1. นายเมธากร (สงวนนามสกุล), 2. นายอนิวัต (สงวนนามสกุล) และ 3. นางสาวนิชกานต์ (สงวนนามสกุล) ในข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลโพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า”
และต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2565 ได้ทำการตรวจค้น สถานที่ผลิต จัดเก็บ และจำหน่าย รวม 7 จุด ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จำนวน 3 จุด, จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 2 จุด และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 1 จุด รายละเอียดดังนี้
1. สิรินดา คอสเมติกส์ บ้านเลขที่ 62 หมู่ 4 ตำบลบัวงาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตและเก็บผลิตภัณฑ์ ชาร์มาร์ กลูต้า พบอุปกรณ์ในการผลิต และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 4 รายการ
2. โกดังเก็บของ (ไม่ทราบเลขที่) หมู่ 4 ตำบลบัวงาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 3 รายการ
3. บริษัท เอสแอล อินเตอร์แลบ จำกัด ที่ตั้ง 133/1 หมู่ 2 ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับ สิรินดา คอสเมติกส์ พบอุปกรณ์ในการผลิต และพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 5 รายการ
4. บริษัท ชาร์มาร์เพอร์เฟค จำกัด 129 หมู่ 9 ตำบลหนองบัว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัด มหาสารคาม พบนายเมธากร (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 536/2565 ลงวันที่ 13 กันยายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า” และพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 2 รายการ และ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จำนวน 2 รายการ
5. บ้านเลขที่ 113 หมู่ 9 ตำบลหนองบัว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 1 รายการ
6. บ้านเลขที่ 15 หมู่ 11 ซอย 27 ตำบลบ้านกรด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบ นายอนิวัต (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 538/2565 ลงวันที่ 13 กันยายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า” และพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 3 รายการ
7. บริเวณทางเดินหน้าโรงแรมแบงค๊อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ พบ น.ส.นิชกานต์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 537/2565 ลงวันที่ 13 กันยายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า”
รวมตรวจค้น 7 จุด จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 3 ราย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 18 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จำนวน 2 รายการ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลโพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า”
ในส่วนบริษัทสิรินดา คอสเมติกส์ และบริษัท เอสแอล อินเตอร์แลบ จำกัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับทั้งสองบริษัทต่อไป
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 31, 149 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 เรื่อง วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (ลำดับที่ 15) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 พ.ศ. 2565 ฐาน “ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 เพื่อการค้า” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวอีกว่า 2-ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน (2-diphenylmethylpyrrolidine หรือ desoxy-D2PM) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ซึ่งช่วงหลังมักถูกตรวจพบว่ามีโรงงานผู้ผลิตลักลอบนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มมากขึ้นเหมือนไซบูทรามีน ซึ่งทั้ง 2 ตัวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกำหนดห้ามให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 94 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มีโทษตามมาตรา 149 (1) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
โดยผู้อนุญาตจะพิจารณาออกใบอนุญาตผลิต ขาย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือสภากาชาดไทย และมีความประสงค์ที่จะผลิต ขาย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เพื่อประโยชน์ของทางราชการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่หากเพื่อการค้าฝ่าฝืน 149 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,500,000 บาท
ซึ่งอันตรายจากการใช้ D2PM นี้จะมีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้ ส่วนไซบูทรามีน จะมีอาการตั้งแต่ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว โดยอุบัติการณ์การเกิดแตกต่างกันไป แต่ปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
จึงขอเตือนผู้บริโภคกลุ่มสาว ๆ ที่หวังจะพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในการลดอ้วนหรือลดน้ำหนักว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดที่จะใช้ลดความอ้วนได้ การลดความอ้วนที่ถูกวิธี คือ การออกกำลังกาย งดแป้ง ทานผักผลไม้ หมั่นขยับตัวและกายบริหารระหว่างงานได้ ซึ่งสามารถลดอาการเหนื่อยล้าจากกการทำงานได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยามารับประทานเพื่อรักษาโรค ควรเลือกซื้อจากร้านขายยา หรือร้านค้าที่มีหลักแหล่งและไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาที่อวดอ้างผอมภายใน 7 วัน หรือขาวแบบออร่า เป็นต้น
และขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต และขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอมหรือที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันทีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลและกวาดล้างต่อไป หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เกิดผลกระทบกับร่างกายและเสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
ญาติร้องสาวเสียชีวิตจากอาหารเสริม ผ่านมา 4 ปี คดีไม่คืบ
ตลาดอาหารเสริมโตเกือบ 8 หมื่นล้าน คนไทยยอมจ่ายเดือนละพันกว่าบาท