ก่อนกินต้องระวัง! อาหารเสริมอาจเพิ่มความเสี่ยง "หัวใจเต้นผิดจังหวะ"
อาหารเสริมก่อนซื้อทานเองควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อน เพราะบางชนิดหรือการทานที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติได้
ในปัจจุบันคนหันมาใส่ใจการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจสุขภาพแบบครอบคลุม และหันมากินผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อชะลอวัยหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ หรือใช้แทนการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน
การเลือกอาหารเสริมทานเอง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ปรึกษาแพทย์ประจำตัวหรือเภสัชกร นอกจากนั้นยังต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการปลอมปน และปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงและสารพิษจนสะสมในร่างกายได้
รู้จัก "โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ" ซ่อนตัวเงียบแต่อันตรายถึงชีวิต
ภาวะอ่อนล้าเรื้อรัง สัญญาณเตือนสมดุลบกพร่องของร่างกาย
ซึ่งหนึ่งในหลายอาการผิดปกติ ที่มักจะพบหลังจากทานอาหารเสริมที่ไม่เหมาะสม คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วไปหรือช้าไป (ปกติหัวใจจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที) ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของการนำกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้ในกรณีกลุ่มโรคหัวใจเต้นพริ้ว (Atrial fibrillation)
อาการที่สังเกตได้ เช่น หน้ามืด ตาลาย วิงเวียน ใจสั่น หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลมหรือหมดสติ
ยา วิตามิน อาหารเสริม รู้ชัดตัวไหน "ควร - ไม่ควร" กินคู่กัน
สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ และจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
- ปัจจัยภายนอก ที่สามารถพบได้คือ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สภาพแวดล้อม อากาศที่ร้อนจัด ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ การกินอาหารเสริมที่ส่งผลต่อหัวใจ
- ปัจจัยภายใน ได้แก่ อายุที่มากขึ้น โรคประจำตัว เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคไหลตาย เป็นต้น
ปัจจุบันมีอาหารเสริมมากมายตามท้องตลาดทั้งที่มาจากในประเทศและต่างประเทศ ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มใช้เสมอ
คนอายุ 30+ ควรทานวิตามินเสริมหรือเปล่า?
กลุ่มอาหารเสริมที่อาจพบยาต้องห้ามหรือสารปลอมปน และส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อการเต้นของหัวใจ
อาหารเสริมลดความอ้วน (Weight loss)
- ยาลดความอยากอาหาร เช่น Fenfluramine ทำให้ลิ้นหัวใจและที่ยึดระหว่างลิ้นหัวใจกับผนังหัวใจ (Chordae Tendineae) หนาขึ้น
- ยาลดความอยากอาหารและเร่งการเผาผลาญ เช่น Sibutramine ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น เจ็บหน้าอก นอกจากนั้นยังพบว่า ยาไซบูทรามีนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และสโตรกในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ยาไทรอยด์ เช่น Thyroxine ทำให้ไทรอยด์ทำงานหนัก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ความดันสูง ใจสั่น
- มาเต หรือชาบราซิล Maté ทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว (จากผลของคาเฟอีน)
10 ข้อที่อาจไม่รู้เกี่ยวกับวิตามิน กินถูกวิธีดูดซับประโยชน์ได้ดีขึ้น
ยาเพิ่มสมรรถนะทางเพศ (Sexual enhancement)
- ยากลุ่มกระตุ้นการแข็งตัวขององคชาต เช่น Sildenafil, vardenafil, tadalafil acetildenafil, hydroxyacetildenafil, hydroxyhomosildenafil, piperidenafil) ทำให้ร้อนวูบวาบ มึนงง ใจสั่น ความดันตก
อาหารเสริม หรือยาเพิ่มสมรรถนะร่างกายในนักกีฬา (Athletic performance enhancement)
ยาสังเคราะห์กลุ่มฮอร์โมนเพศชาย 19‐norandrosterone, metandienone, stanozolol, testosterone ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Possible myocardial infarction)
อาหารเสริมไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หากจำเป็น ควรตรวจการทำงานของตับ เช่น ตรวจเอนไซม์ตับ (AST, ALT) การทำงานของไต (BUN, Cr) ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการใช้ ควรหยุดใช้ทันทีและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรดังนั้นหากจะใช้อาหารเสริม ควรที่จะศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าเหมาะสมต่อการนำมาใช้หรือไม่ ผ่านมาตรฐานการผลิตหรือไม่ ส่วนผสมมีอะไรบ้าง เพราะหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจะได้ทราบว่าเกิดจากส่วนผสมชนิดใด จะได้เก็บไว้เป็นข้อมูลและระวังในการใช้ต่อไป
"วิตามิน" ตัวช่วยเสริมแกร่งร่างกาย กินเยอะไปอาจทำอันตรายต่อ "ตับ"
การตรวจวินิจฉัยภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
การตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้น ทำได้โดยการตรวจกราฟหัวใจ หรือ EKG หรือ ECG (Electrocardiography) ซึ่งจะบอกได้คร่าวๆ ว่า หัวใจเต้นปกติหรือไม่ ตามปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำทุกคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ให้ตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่ง ECG ส่วนใหญ่จะเป็นหนึ่งในรายการที่ต้องตรวจ แต่ถ้าหากหัวใจไม่ได้เต้นผิดจังหวะในช่วงที่ตรวจด้วยเครื่อง ECG ก็อาจตรวจไม่พบ ดังนั้นคนที่เริ่มมีอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลม มึนงง หรือวิงเวียน ควรเข้ามารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุโดยการตรวจเลือด
นอกจากนี้ยังมีการตรวจที่ละเอียดกว่า ECG นั่นก็คือการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitor) เพื่อดูความผิดปกติของกราฟหัวใจให้ชัดเจน หรืออาจจะใช้วิธีการตรวจที่เรียกว่า EP Study (Electrophysiology Study) ซึ่งเป็นการวินิจฉัยหาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งการวินิจฉัยด้วยวิธีนี้จะช่วยหาตำแหน่งของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่แม่นยำมากขึ้น ทำให้แพทย์สามารถกำหนดแนวทางการรักษาได้ง่ายขึ้น
อ่อนเพลีย เครียดง่าย เบื่ออาหาร อาจเพราะร่างกายขาดวิตามิน!
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
- ในรายที่เกิดจากไทรอยด์ฮอร์โมนตํ่า หรือเป็นพิษ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถ้ารักษาที่ต้นเหตุจนเป็นปกติแล้ว อาจป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ในรายที่พบว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นแบบชนิดเร็วเพราะดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือทานยาบางชนิด แพทย์จะแนะนำให้หยุดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการ
- ในรายที่ไม่มีอาการรุนแรงมากนัก อาจจะรักษาด้วยการรับประทานยา ซึ่งต้องมีการติดตามรักษาและปรับยาตามความเหมาะสม
- การรักษาโดยการจี้ไฟฟ้า หรือ Radiofrequency Ablation ส่วนใหญ่ใช้ในกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็วและกลุ่มโรคหัวใจเต้นพลิ้ว (AF) โดยการเจาะเส้นเลือดที่ขาหนีบ หลังจากนั้นจะนำสายที่ใช้ในการจี้กระแสไฟฟ้าไปวางไว้ในห้องหัวใจตามตำแหน่งที่เหมาะสม วิธีนี้ใช้เวลาหลายชั่วโมงแล้วแต่ชนิดของโรค ผู้ป่วยต้องนอนพักฟื้น ในโรงพยาบาล 1-2 คืน หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
- การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation) คือการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเข้าไปในช่องอก โดยเครื่องจะทำหน้าที่คอยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจทำให้หัวใจเต้นปกติเเละช่วยลดอาการจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้น เช่น เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม ซึ่งวิธีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทำโดยใส่สายกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Leads) เข้าไปในห้องหัวใจผ่านทางเส้นเลือดดำใหญ่และติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pulse Generator) เข้ากับสายกระตุ้นเเละฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก นอนพักใน รพ.1-2 คืนเท่านั้น
การลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถลดโอกาสเกิดให้น้อยลงได้โดย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลสมิติเวช