สธ.ปิดศูนย์ EOC โควิด ยันยาเพียงพอ ปรับเกณฑ์ UCEP Plus เฉพาะกลุ่มสีแดง
สธ.ปิดศูนย์ EOC โควิด ยันมียา-เวชภัณฑ์สำรองเพียงพอ พร้อมปรับเปลี่ยนทันทีหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง และปรับเกณฑ์ UCEP Plus รักษาฟรีทุกที่เฉพาะกลุ่มสีแดง
หลังจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ และยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไปนั้น
รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิดยังรักษาฟรีตามสิทธิ ส่วนเกณฑ์การใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่จากโรคโควิด-19 (UCEP Plus) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง (มีอาการรุนแรง)
ครม.เห็นชอบกำหนดสิทธิ UCEP โควิด19 เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง เริ่ม1ต.ค.65
รพ.เรียกเก็บ 1.6 หมื่นบาท ค่ารักษาโควิดเด็ก 9 เดือน ผอ.แจงไม่มี UCEP - เบิกสปสช.ยุ่งยาก
คือ ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดงสามารถเข้ารักษาโควิดในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนได้จนหายดี โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา ภายใน 72 ชั่วโมง
ส่วนเรื่องของอัตราค่าใช้จ่ายนั้น สำหรับเกณฑ์ UCEP Plus จะจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 25% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าใช้จ่ายของเกณฑ์สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานเอกชนกับทางกองทุน และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว
ภาวะการติดเชื้อยังติดต่อกันได้ง่าย แม้เชื้อจะไม่ได้รุนแรงมากเหมือนเมื่อก่อน แต่การป้องกัน ด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ หรือเว้นระยะห่าง ยังจำเป็นอยู่โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะที่มีคนเยอะๆ ที่สำคัญกรณีเจ็บป่วยโควิด กลุ่มสีเขียวอาจไม่ต้องรักษา หรือหากรักษาในโรงพยาบาลของรัฐจะไม่มีค่าใช้จ่าย ก็ว่ากันไปตามสิทธิ แต่ถ้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น หัวใจหยุดเต้น หายใจหอบเหนื่อย หรือมีภาวะช็อก ถ้าเข้าโรงพยาบาลของรัฐจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเข้าเกณฑ์ UCEP Plus อันนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น
ทั้งนี้ในวันที่ 30 กันยายน 2565 จะมีการออกประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ต่อไป
ยันมียาและเวชภัณฑ์เพียงพอ แม้ปิดศูนย์ EOC
ส่วนการปิด “ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข” (EOC) ระดับกระทรวง และปรับลดเป็นระดับกรม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น และเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 จาก “โรคติดต่ออันตราย” ไปสู่ “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ในวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป
นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯได้เปิดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 จนมาถึงปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 2 ปี 8 เดือน ประชุมไปแล้ว 482 ครั้ง จัดทำข้อสั่งการเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมจำนวน 480 ฉบับ และมีข้อสั่งการสะสม 3,259 ข้อ เช่น มาตรการ Bubble and Seal ควบคุมการออกนอกพื้นที่และในโรงพยาบาลสนาม, ยุทธศาสตร์ขนมครก จัดสรรวัคซีนตามแนวทางการใช้วัคซีนกรณีที่มีการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน (Cluster), มาตรการ Covid Free Setting ควบคุมกำกับการให้ดื่มสุราในร้านอาหาร และ การสร้างโรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดแบบครบวงจร เป็นต้น
ส่วนการสำรองยาและเวชภัณฑ์ ขณะนี้ยังมียาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เหลือ 5,621,175 เม็ด เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) เหลือ 23,451 เม็ด และ โมลนูพิราเวียร์ (Mulnupiravir) เหลือ 20,362,045 เม็ด นอกจากนี้ยังจัดหาชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือ ATK มาสำรองเพิ่มอีก
แม้จะมีการปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับกระทรวง แต่กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แล้วก็มีการกำหนดให้ทุกกรมมีการดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์ได้ทันที หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง
โควิดวันนี้ (28ก.ย.65) ยอดติดเชื้อพุ่งกว่า 800 ราย กำลังรักษา 4 พันกว่าราย
“อนุทิน”แถลงแผนคุมโควิด19 หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยกเลิกศบค.