รู้จัก “ฮาราฮาชิบุ” เคล็ดลับกินอาหารให้สุขภาพดีแบบชาวโอกินาวา
กินอิ่มจนแน่นท้องเสี่ยงโรครุมเร้า ทำความรู้จัก “ฮาราฮาชิบุ” เคล็ดลับกินอาหารให้สุขภาพดีแบบชาวโอกินาวา
คุณเคยไหมที่กินอาหารมากเกินไปจนต้องปลดกระดุมกางเกงออก เพราะอิ่มจนแน่นท้องเหลือเกิน หรือแข่งกินบุฟเฟต์กับเพื่อนว่าใครกันที่กินได้มากที่สุด จนจานใส่อาหารวางเรียงกันสูงเป็นสิบๆ ใบ
แม้ว่าการกินอาหารมื้อใหญ่อาจทำให้เรารู้สึกพึงพอใจ แต่จริง ๆ แล้วการกินอาหารจนกว่าเราจะรู้สึกอิ่มนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาจคลืบคลานเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน ภาวะนอนหลับยาก หรือกรดไหลย้อนก็ตาม
รู้ว่าทำลายสุขภาพแต่ก็ยังกิน ทำไมเราถึงหลงใหล “อาหารขยะ”
“มันฝรั่งทอด” อาหารสุดอันตรายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอยากให้หยุดกิน
ดังนั้นถ้าเราสงสัยว่า เรากินมากเกินไปหรือไม่ แนะนำให้ลองทำตามคำแนะนำของชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเมืองโอกินาวา หนึ่งในกลุ่มคนที่มีอายุยืนที่สุดในโลก ที่เขามีวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ฮาราฮาชิบุ” (Hara hachi bu) เป็นการกินอาหารเพียง 4 ใน 5 ส่วน หรือประมาณ 80% ของปริมาณพื้นที่ในท้องเท่านั้น หรือหากคิดเป็นพลังงานจะอยู่ราว ๆ 1,800 กิโลแคลอรี่
การกินแบบฮาราฮาชิบุ แม้จะไม่ได้ทำให้รู้สึกอิ่มทันทีเมื่อกินเสร็จ แต่หลังผ่านไปสักครู่ร่างกายของเราจะรู้สึกอิ่มตามมาเอง เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ทันทีที่ร่างกายได้รับอาหารเข้าไปแล้ว จะต้องใช้เวลาย่อยและดูดซึมก่อนสักพักหนึ่ง ก่อนจะส่งสัญญาณไปที่สมอง เพื่อสั่งการให้ร่างกายรู้สึกอิ่มเองโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการกินอาหารเพียง 4 ใน 5 ส่วน จึงเป็นปริมาณที่พอดี และไม่ทำให้ร่างกายอิ่มจนเกินไป
การกินอาหารจนเกือบอิ่ม เป็นวิธีป้องกันที่ดีเพื่อไม่ให้เรากินอาหารจนอิ่มเกินไปในแต่ละมื้อ ร่างกายจึงได้รับสารอาหารต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และเมื่อร่างกายสามารถเผาพลาญอาหารได้อย่างพอดิบพอดีไม่เหลือใช้ ก็ย่อมไม่มีก้อนไขมันที่สะสมอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ แถมยังทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้สะดวก ป้องกันการเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
การกินช้า ๆ ช่วยลดการกินมากเกินไปได้
เมื่อเรากิน ท้องของเราจะขยายตัว ยิ่งกินอาหารมากเท่าไรท้องก็จะขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น กระเพาะอาหารจะมีตัวรับยืด (Stretch) ขยายตัวขึ้นเมื่อน้ำหรืออาหารเข้าไป และตัวรับยืดนั้นจะส่งสัญญาณไปยังสมองผ่านเส้นประสาทที่เรียกว่า “เวกัส” ซึ่งเชื่อมต่อกับลำไส้และก้านสมอง
ยิ่งเรากินเร็วเท่าไร สัญญาณเหล่านี้ก็จะไปถึงสมองของเราน้อยลงเท่านั้น เราจึงรู้สึกว่าไม่อิ่ม นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรากินมากเกินไปจนไม่รู้ตัว และเมื่อร่างกายของเรารู้สึกอิ่มจริง ๆ นั่นเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณควรเลิกกินแล้ว คุณกินมากเกินไปแล้ว
กินจนแน่น เสี่ยงสมองบกพร่อง-เบาหวาน-ความดัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ นักวิทยาศาสตร์บางคนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เชื่อว่าการกินมากเกินไป ไม่ได้ทำให้อ้วน แต่สิ่งที่เรากินเข้าไปมากกว่าที่เราให้เราอ้วน
อย่างไรก็ตามการกินมากเกินไปก็เป็นความเสี่ยงได้เหมือนกันที่จะทำให้เราอ้วน หรือมีไขมันส่วนเกินในร่างกายได้ นอกจากนี้ยังทำให้การทำงานของสมองบกพร่องได้ และอาจเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แทรกซ้อนตามเข้ามา เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
การกินอาหารในปริมาณที่พอดีและกินในอัตราที่ช้าลง ช่วยลดการกินอาหารมากเกินความต้องการได้ ดังนั้นอย่าลืมฟังเสียงร่างกายของเราและหยุดกินทันทีเมื่อรู้สึกอิ่ม
อ้างอิงจาก : HealthDigest