ภาวะ “Overtraining” ออกกำลังกายหนักจนฟอร์มตก-เจ็บเรื้อรัง
รู้ว่าการออกกำลังกายเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ถ้าเสพติดมากจนเกินไปอาจเสี่ยงภาวะ “Overtraining” ทำให้ฟอร์มตก เจ็บกล้ามเนื้อเรื้อรังได้
ทุกคนรู้ว่าการออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพร่างกายดี บางคนใช้การออกกำลังกายในการลดน้ำหนัก ฟิตหุ่นให้เป็นอย่างที่ใจปรารถนา หรือบางคนก็ใช้การออกกำลังกายเพื่อเป็นบททดสอบร่างกายและจิตใจ
แต่ออกกำลังกายจนเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของการออกกำลังกายหนักจนเกินไป หรือภาวะ “Overtraining” ที่ “พุฒ - พุฒิชัย เกษตรสิน” หรือ “ดีเจพุฒ” ออกมาเล่าประสบการณ์ทางสุขภาพ ว่า ออกกำลังกายและเล่นกีฬาจนเจ็บที่หัวไหล่ และข้อเท้าเรื้อรังเป็นปีๆ เหมือนกัน
เคล็ดลับหุ่นแซ่บ “พุฒ พุฒิชัย” ลงทุนยกฟิตเนสมาไว้ในบ้าน
ตรวจก่อนป่วย ไม่ใช่ ป่วยก่อนตรวจ! ข้อคิดจากไวรัลฮิต “มะเร็ง” ควรเช็กตอนอายุเท่าไร
ต้องเรียกว่าผมเสพติดการออกกำลังกาย เป็นคนชอบการออกกำลังกายมาตั้งแต่เข้าวงการแรกๆ ทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ ในช่วงที่มีงานเยอะก็จะพยายามหาวันว่างสัปดาห์ละ 2-3 วัน ต้องไปยกเวท หรือไปวิ่ง เพราะเวลาถ่ายละครต้องมีถอดเสื้อเห็นซิกแพค เห็นวงกล้ามแขนเป็นมัดๆ ก็เลยต้องพยายามเตรียมร่างกายไว้เพราะไม่รู้ว่าจะถ่ายตอนไหน เราต้องพร้อมตลอดเวลา
ไม่เพียงแค่ออกกำลังกาย พุฒ ยังชอบเล่นกีฬาอีกด้วย อย่างฟุตบอล จะไปเล่นประจำกับก๊วน “พี่แท่ง” (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) หรือ “พี่เกรท” (เกรท วรินทร) และยังมีวิ่งมาราธอน รวมถึงไตรกีฬา (ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง) ด้วย
แน่นอนว่าการไปวิ่งมาราธอน และเข้าร่วมแข่งไตรกีฬา ย่อมต้องใช้เวลาฝึกซ้อมร่างกาย ก่อนวันลงสนามจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ พุฒ ยอมรับว่าต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจมาก เหนื่อยแต่ก็สนุก และเป็นอะไรที่ชาเลนจ์ตัวเองดี
แต่สภาพร่างกายตอนนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน เมื่อก่อนจะไม่ค่อยรู้สึกเจ็บปวดร่างกาย แต่ตอนนี้ดูเจ็บง่ายหายยาก จุดแรกที่เริ่มเจ็บคือ หัวไหล่ อาจจะเป็นเพราะยกเวท แล้วขาดการยืดเหยียดไป แล้วก็มีหัวเข่าบ้าง แต่ที่ข้อเท้า เป็นมาจากการเตะบอล ซึ่งตัวเองพยายามทำทุกวิถีทางให้หาย ไม่ว่าจะเป็นการเอ็กซเรย์ ฝังเข็ม หรือการรักษาด้วยเครื่องช็อคเวฟ (Shock Wave) แต่ก็ใช้เวลารักษาร่วมปี ทุกวันนี้ก็ไม่ได้หายร้อยเปอร์เซ็นต์ยังมีเจ็บๆอยู่บ้าง ทำให้ตอนนี้ต้องลด ๆ
รู้จัก “Overtraining syndrome”
สำหรับอาการเจ็บปวดร่างกายที่ดีเจพุฒเป็นนั้น นพ.อานันท์ วชยานนท์ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า เป็นหนึ่งในอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ของภาวะ “Overtraining Syndrome”
โดยภาวะดังกล่าวนี้ คือ กลุ่มอาการหรือการตอบสนองของร่างกายทั้งในด้านกายภาพและจิตใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่
1.) ฝึกซ้อมร่างกายมากเกินไป
2.) การออกรูปแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมร่างกายไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการซ้อม ความหนักหน่วงของการซ้อม และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
3.) การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น การได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ทำให้การฟื้นฟูร่างกายและกล้ามเนื้อไม่ได้ประสิทธิภาพ การได้รับกลุ่มคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายสะสมพลังงานได้ไม่เต็มที่ หรือการดื่มน้ำไม่เพียงพอ เวลาออกกำลังกายหนัก ๆ จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ รวมถึงการเครียดสะสม ก็ทำให้เกิดภาวะ overtraining syndrome เช่นกัน
อาการของภาวะ “Overtraining syndrome”
อาการของภาวะนี้ เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ดังนี้
- สมรรถภาพของการออกกำลังกายลดลง
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- เหงื่อออกมากขึ้น
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร
- มีภาวะความเครียดที่ไม่ทราบสาเหตุ
กลุ่มเสี่ยงภาวะ “Overtraining syndrome”
กลุ่มเสี่ยงที่เกิดภาวะนี้ได้ง่าย คือ คนที่ออกกำลังกายหนัก เนื่องจากมีเป้าหมายที่จะแข่งขัน ไม่ว่าจะแข่งขันกับตัวเองเพื่อทำเวลา หรือแข่งขันกับผู้อื่น เพื่อตัดสินแพ้ชนะ ทำให้ฝึกซ้อมอย่างหนักและพักผ่อนน้อยมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ “Overtraining syndrome” ได้
แนะใช้ “หลัก 10%” ป้องกันป่วย
ถ้าเราออกกำลังกายมากเกินไปและพักผ่อนไม่เพียงพอ แน่นอนว่าย่อมทำให้กระดูกอ่อนหัวเข่าสึก หรือเส้นเอ็นของหัวเข่าบาดเจ็บได้ง่าย
แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้น คือ เมื่อเกิดการบาดเจ็บภาวะของกระดูกอ่อนหัวเข่า เส้นเอ็น หรือหมอนรองกระดูกหัวเข่าสึกแล้ว อาจทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมตามมาได้
ดังนั้นสำหรับคนที่ออกกำลังกายหนัก จะต้องมีโปรแกรมการฝึกซ้อมที่เหมาะสม อาจใช้หลักการง่ายๆ คือ “หลักการ 10%” ตั้งเป้าหมายของการทำเวลาให้ดีขึ้นไม่เกิน 10% ในแต่ละสัปดาห์ หรือในเรื่องของระยะทาง ต้องไม่เพิ่มระยะทางเกิน 10% ต่อสัปดาห์ รวมถึงจะต้องมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีคุณภาพด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ