เมื่อโลกร้อนขึ้น “ไวรัสในน้ำแข็ง” อาจกลายเป็นโรคระบาดในอนาคต
งานวิจัยใหม่ประเมินว่า โรคระบาด” ในอนาคต อาจไม่ได้มาจากสัตว์ แต่จะมาจาก “ไวรัสในน้ำแข็ง” ซึ่งกำลังค่อย ๆ ละลายจากภาวะโลกร้อน
“ไวรัส” ต้องอาศัยอยู่ในร่างกายของโฮสต์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช หรือเห็ด และบ่อยครั้งที่มักเกิด “Spillover” หรือการที่เชื้อไวรัสกระโดดข้ามไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนั้น ๆ (เช่น โควิด-19 ที่เชื่อว่ากระโดดจากค้างคาวมายังมนุษย์) และกลายเป็นโรคระบาดในที่สุด
แต่ล่าสุด การศึกษาวิจัยใหม่ค้นพบว่า “โรคระบาด” ในอนาคต อาจไม่ได้มาจากค้างคาว แต่จะมาจาก “ไวรัสในน้ำแข็ง” ซึ่งกำลังค่อย ๆ ละลายจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พบเชื้อไวรัสโบราณอายุเกือบ 15,000 ปีถูกแช่แข็งอยู่ในธารน้ำแข็งทิเบต
“พิษล้างพิษ” นักวิทย์ทดลองใช้ “ไวรัสเริม” กำจัดมะเร็ง
พบสาเหตุแล้ว! ทำไมมลพิษทางอากาศทำให้คนไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอด?
โดยทีมวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างดินและตะกอนจากทะเลสาบฮาเซน (Hazen Lake) ในแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในอาร์กติก บริเวณที่เป็นดินรับน้ำซึ่งละลายมาจากธารน้ำแข็ง แล้ววิเคราะห์จัดลำดับสารพันธุกรรมไวรัสหรือแบคทีเรียที่พบในตัวอย่างเหล่านั้น และใช้โปรแกรมอัลกอริทึมประเมินโอกาสที่ไวรัสเหล่านี้จะแพร่เชื้อไปยังสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
ทีมวิจัยยังไม่ได้ระบุจำนวนว่า พบไวรัสในตัวอย่างดินและตะกอนเหล่านี้เท่าไร เป็นไวรัสที่ไม่เคยพบมาก่อนกี่ชนิด และมีอัตราการติดเชื้อแค่ไหน แต่ชี้ว่า ในพื้นที่ที่มีน้ำจากน้ำแข็งละลายจำนวนมาก จะมีความเสี่ยงที่ไวรัสแพร่กระจายไปยังโฮสต์ใหม่สูงขึ้น
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไวรัสและแบคทีเรียที่ถูกกักขังไว้ในธารน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) จะมีโอกาสหลุดรอดและแพร่เชื้อให้กับสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศมากขึ้น และอาจแพร่มาสู่คนได้ในที่สุด
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไวรัสเหล่านี้สามารถอยู่รอดในอุณหภูมิ เพราะเมื่อปีที่แล้วมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอได้รายงานการค้นพบไวรัสที่ไม่รู้จักอายุกว่า 15,000 ปีในตัวอย่างน้ำแข็งที่นำมาจากธารน้ำแข็งในที่ราบสูงทิเบต
สเตฟานี เอริส-โบรโซ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยออตตาวาในแคนาดา หัวหน้าทีมวิจัยนี้ บอกว่า “สิ่งนี้ช่วยให้เราทราบได้ว่า ไวรัสชนิดใดอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ และมีโฮสต์หรือพาหะใดบ้างในพื้นที่”
เธอเสริมว่า “สิ่งเดียวที่เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจก็คือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ความเสี่ยงของการรั่วไหลของไวรัสในระบบนิเวศนี้ก็เพิ่มมากขึ้น ... สิ่งนี้จะนำไปสู่การระบาดใหญ่หรือไม่? เราไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่นอน”
หลังจากนี้ ทีมวิจัยจะนำตัวอย่างไวรัสที่พบและโฮสต์ในระบบนิเวศไปตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อดูว่า โฮสต์เหล่านี้จะกลายเป็นพาหะให้กับไวรัสในน้ำแข็งได้หรือไม่
ออดรี เลอมิวซ์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ตราบใดที่ไวรัสและ 'พาหะ' ไม่ปรากฏอยู่ในระบบนิเวศเดียวกันพร้อม ๆ กัน โอกาสที่ไวรัสในน้ำแข็งจะระบาดก็ยังต่ำอยู่”
อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น อาจเปลี่ยนพฤติกรรมและแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เพราะหากพื้นที่ที่หนาวเหน็บและเป็นน้ำแข็งอุ่นขึ้น ก็อาจมีสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ หรือโฮสต์ใหม่ ๆ ไปอยู่ในระบบนิเวศเดียวกับไวรัสในน้ำแข็งมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดสูงขึ้น
“โฮสต์ที่ย้ายถิ่นที่อยู่อาจเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่เห็บ ยุง สัตว์บางชนิด ไปจนถึงแบคทีเรียและไวรัส ... มันคาดเดาไม่ได้จริง ๆ” เลอมิวซ์กล่าว
เรียบเรียงจาก Al Jazeera / The Guardian
ภาพจาก AFP