ถอดบทเรียน 2 ผู้ป่วย “มะเร็งปอด” สาเหตุที่ต้องรู้เท่าทัน โอกาสรอด 90%
มะเร็งปอดใครว่าไกลตัว ถอดบทเรียนจาก 2 ผู้ป่วยที่ทำให้รู้ว่าแม้สุขภาพแข็งแรงก็อาจเป็นได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องรู้จักโรคให้เท่าทัน เพราะรักษาได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรอดมากถึง 90%
“โรคมะเร็งปอด” กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจาก นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ ออกมาเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของตัวเองกับการเป็นมะเร็งปอด เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกคน
เรื่องราวชีวิตของเขาดูเหมือนจะเรียบง่าย เป็นเพียงชายหนุ่มที่มีสุขภาพดี ชอบออกกำลังกาย และให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง รวมทั้งอาหารการกิน และการนอนเป็นอย่างมาก
มะเร็งปอด พบบ่อยในคนไทย แนะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
เปิดแหล่งอาหารที่ควรกิน-หลีกเลี่ยง เพิ่มความแข็งแกร่งให้ "ปอด"
แต่ขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ เพิ่งได้บรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ กำลังจะซื้อบ้าน และแต่งงาน ชีวิตกลับพลิกผันด้วยโรคมะเร็งปอดที่ไร้สัญญาณเตือน มาตรวจพบอีกทีก็เป็นระยะสุดท้ายแล้ว
แต่เคสของอาจารย์แพทย์กฤตไท ไม่ใช่เคสเดียวที่มาตรวจเจอมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย ล่าสุด พ.ต.ต.รุ่งคุณ จันทโชติ สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ก็ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องราวการป่วยเป็นมะเร็งของตัวเองเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้อื่นเช่นกัน
โดยเขาเล่าว่า เราเป็นตำรวจ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อยเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราชอบออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจเลยนะ ถึงขั้นเสพติดเลยก็ว่าได้ ส่วนกินเหล้า สังสรรค์บ้าง ตามประสาวัยรุ่น แต่ไม่สูบบุหรี่ และที่บ้านก็ไม่มีใครสูบเลย
พอวันสงกรานต์ ปี 2565 อยู่ๆ ปวดแขนขวา แข็งๆ ตึงๆ งอลำบาก สีเริ่มเปลี่ยน ไปหาหมอตั้งหลายที่ก็ให้แต่แก้อักเสบมาทาน ก็ไม่หาย 3 วันต่อมา มีบวมๆ ที่คอด้วยนะ เลยไปหาหมอโรงพยาบาลตำรวจเขาจับเราแอดมิทเลย ให้ยาแก้อักเสบ 6 วัน ก็ไม่หาย
เลยไปเจาะชิ้นเนื้อที่คอไปตรวจ อีกอาทิตย์นึงผลออก ปรากฏว่าตรวจพบเป็นมะเร็งปอด ระยะลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง ช็อกเลยทีเดียว แต่ตอนนั้นตั้งสติดีมาก ไม่ท้อเลย คิดหาทางแก้ไขอย่างด่วน
ขั้นตอนการรักษาคือ คีโม (เคมีบำบัด) และ ฉายรังสี (ฉายแสง) บริเวณทรวงอก ถ้าถามถึงความเจ็บนั้นอธิบายความทรมานออกมาเป็นคำพูดไม่ได้เลย เจ็บถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ แสบหลอดอาหาร ตื่นทุกชั่วโมง ต้องนอนคว่ำเท่านั้น แต่ไม่เป็นไร เรายังคงอดทน เพราะเชื่อว่ามันต้องหาย
ตอนนี้ฉายแสงเกือบจะครบคอร์ส 33 ครั้งแล้ว คอไหม้กันเลยทีเดียว เมื่อครบคอร์สการรักษา แผลก็เริ่มลอกออกมาเป็นสะเก็ด แต่ยังคิดบวกอยู่ ไม่ท้อ ยังออกมาวิ่ง ออกมาสูดอากาศที่สวนสาธารณะบ้าง
แต่ตอนนี้คือวิ่งไม่ได้แล้ว เพราะ หอบ เหนื่อย และไอเยอะ เลยได้แต่เดินๆ แกว่งๆ แขน ดูคนอื่นออกกำลังกายมันก็ทรมารดีเนอะ ฮ่าๆ
พอมาถึงตอนเข้าเครื่อง PET Ct ดูว่า การรักษาตอบสนองมั้ย ช็อกอีกรอบ เพราะไม่ตอบสนองเลย เซลล์เนื้อร้ายขนาดเท่าเดิม 1.4 ซม. ในปอด ยังไม่พอ กระจายไปตับอีกหลายจุด กระจายไปกระดูกสันหลังอีกจุดนึง
ตอนนั้นคือ ใจมันตกไปอยู่ตาตุ่มจริงๆ หมอบอกคงต้องเปลี่ยนแผนการรักษาจากที่จะให้หายขาด เป็นประคองไปเรื่อยๆ ก็คือ คงคีโม ไปเรื่อยๆ ซึ่งในใจของเราคือปล่อยแล้วนะ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
แต่ในความโชคร้ายมันก็ยังมีความโชคดี หมอเอาชิ้นเนื้อที่เคยเจาะไว้ ไปตรวจด้วยการย้อมสีเพิ่มเติม จึงรู้ว่า เซลล์กลายพันธ์ ชนิด ALK ซึ่งพบน้อยมากในคนเอเชีย และทุกวันนี้ยังหาสาเหตุไม่ได้เลย ว่าเป็นมะเร็งจากสาเหตุใด
หมอแจ้งว่า มียามุ่งเป้า (targeted therapy) ซึ่งมันจะไปกดให้เซลล์ร้าย สงบ แล้วก็ใช้ชีวิตกับมันไปเรื่อยๆ กินยาตลอดชีวิต จนกว่าจะดื้อยา
ก็ลองยาตัวนี้มาได้เดือนกว่าๆ แล้ว รู้สึกดีขึ้นนะ เพลียน้อยลง เริ่มออกกำลังกายได้ดีมากขึ้น ก็ขอให้มันตอบสนอง แล้วก็คงต้องกอดคอกันไปกับมัน
ขอขอบคุณทุกกำลังใจ ทุกคำอวยพร มันช่วยได้จริงๆ นะ อยากจะฝากถึงทุกๆ คน ทุกๆ อย่างในชีวิตไม่แน่ไม่นอนจริงๆ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ต้อง “ตั้งสติ” เตรียมรับมือ
และสิ่งที่อยากจะบอก กาดอกจันทร์ 100 ดวง คือ คำว่า “ใจ” ใจมันต้องได้นะ ยาจะดีแค่ไหน แต่ถ้าใจไม่ได้ ยามันก็ไม่ได้ผลหรอก
โรคร้ายไร้สัญญาณเตือน เป็นได้แม้คนไม่มีปัจจัยเสี่ยง
จากเรื่องราวทั้งหมด จะเห็นได้ว่า “มะเร็งปอด” มักไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก กว่าผู้ป่วยจะมาตรวจพบ มารู้อีกทีก็เป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ทำให้รักษาได้ยาก แต่หากตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรก ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพเปิดเผยว่า จะมีโอกาสรักษาให้หายได้สูงถึง 90%
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งปอด ส่วนใหญ่แล้วมาจากการสูบบุหรี่ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเสี่นงสูง แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันเริ่มมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่เคยสูบบุหรี่และไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่มีคนใกล้ชิดสูบบุหรี่ แต่ก็เป็นมะเร็งปอด ดังนั้นการตรวจคัดกรองเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ
การศึกษาทางคลินิกพบอีกว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้นด้วยวิธี Low-dose CT Chest screening (LDCT) ประจำปี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดได้สูงถึง 20% เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ขณะที่ยังไม่แสดงอาการใดๆ มีโอกาสรักษาให้หายได้มากกว่า อีกทั้งผู้ป่วยยังได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน (Computed Tomography (CT) – Chest)
สัญญาณความเสี่ยง “มะเร็งปอด”
แม้ว่าโรคนี้มักจะไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก แต่ถ้าหากพบว่าเริ่มมีอาการเสี่ยงดังต่อไปนี้ ขอให้รีบไปพบแพทย์
- ไอเรื้อรัง หรือไอเเห้งๆ ติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์
- ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
- หายใจมีเสียงดังผิดปกติ
- เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
มะเร็งปอดถือเป็นโรคเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที เพราะไม่ว่าใคร แม้แต่คนที่มีสุขภาพดีก็สามารถเป็นได้ ด้วยความน่ากลัวที่ระยะแรกมักไร้สัญญาณเตือน ดังนั้นการตรวจสุขภาพปอดประจำปี นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ในเรื่องร้ายก็ยังมีเรื่องดีๆ อยู่ นั่นคือถ้าหากตรวจพบได้ไว มีโอกาสหายขาดได้สูงถึง 90%
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก รุ่งคุณ จันทโชติ,โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลเปาโล
หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยมะเร็งปอด ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ พบดมควันธูปนาน6ปี
สิงห์อมควัน! “บุหรี่ไฟฟ้า” สูบแล้วติดใช้เลิกบุหรี่ไม่ได้ เสี่ยงมะเร็งปอดหลายโรครุมเร้า