กินหมูกระทะ เสี่ยง “โรคไข้หูดับ” อันตรายถึงขั้นหูหนวก-เสียชีวิต
สายปิ้งย่างต้องรู้! กินหมูกระทะ สุกๆ ดิบๆ หรือใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ ทำไมถึงเสี่ยง “โรคไข้หูดับ” และอาการของโรคน่ากลัวแค่ไหน ป้องกันได้อย่างไร เช็กที่นี่
จากกรณีที่มีสาววัย 17 ปี ไปกินหมูกระทะแล้วไม่แยกตะเกียบ ก่อนจะติดเชื้อโรค “สเตรปโตคอคคัส ซูอิส” หรือ “ไข้หูดับ” จนอาการโคม่านั้น ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้รวบรวมข้อมูลเดี่ยวกับโรคไข้หูดับมาฝากกัน ว่าอาหารดิบทำให้เกิดโรคนี้ได้อย่างไร และอาการของโรคน่ากลัวขนาดไหน
รู้จัก “โรคไข้หูดับ”
โรคไข้หูดับ คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากการติดเชื้อ สเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) จากหมู
เทคนิคการ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ปลอดภัยไม่สำลักลดอาการภูมิแพ้
กรมการแพทย์ เปิด “คลินิกผู้สูงอายุ ” ประเมิน12 ความเสี่ยงผู้สูงวัย
ลาบหมู
โดยทั่วไปโรคนี้มักพบในประเทศที่มีการทำฟาร์มหมูหนาแน่น และมีความนิยมในการบริโภคเนื้อหมู เช่น ประเทศในแถบทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย
สาเหตุของโรค
เกิดจากการติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในหมูเกือบทุกตัว โดยเชื้อชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากหมูเกิดอาการป่วยเชื้อชนิดนี้ก็จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนทำให้หมูตัวนั้นตาย และสามารถติดต่อไปสู่คนได้ 2 ทาง คือ
1.) เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น การบริโภคเนื้อและเลือดหมูดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไม่สุกดี อย่างการบริโภคลาบหมูดิบ หลู้ ก้อย และหมูกระทะ
2.) การสัมผัสเนื้อหมูที่มีเชื้อโดยตรง จากทางบาดแผล เยื่อบุตา และสัมผัสสารคัดหลั่งของหมู ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเกษตรกรในฟาร์ม หรือผู้ที่ทำงานในโรงเชือด
หลู้
หมูกระทะ
สัญญาณเตือนรีบพบแพทย์
อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ สายพันธุ์ของเชื้อ และระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่มีไข้ ไปจนถึงมีอาการหูหนวกถาวร และร้ายแรงสุดอาจอันตรายถึงชีวิตได้ โดยมักมีอาการดังนี้
- มีไข้
- หนาวสั่น
- หอบเหนื่อย
- คลื่นเหียน
- ปวดศีรษะ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด หรือหากไม่เสียชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้ว ส่วนใหญ่มักพบความผิดปกติตามมาในภายหลัง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกหรือที่เรียกกันว่า “หูดับ”
หากใครมีอาการเหล่านี้ ขอให้รีบมาพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและส่งผลให้อันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย
การรักษาโรคไข้หูดับ
รักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ และรักษาแบบประคับประคองอาการของผู้ป่วยไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น คือ ลดไข้ ลดอาการปวด ลดอาการเวียนศรีษะ ร่วมกับการให้สารอาหารหรือเกลือแร่ต่างๆ ให้กับผู้ป่วย
การป้องกันโรคไข้หูดับ
1.) หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ โดยจะต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส และใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที ก่อนรับประทาน
2.) หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อหมูสด หรือยังไม่ผ่านการปรุงสุก ด้วยการใส่ถุงมือ และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
3.) หลีกเลี่ยงการนำเนื้อหมูที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ มารับประทาน
4.) หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน สะอาด ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือกรมอนามัย
5.) หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อันเดียวกันที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุก และเนื้อหมูดิบ
6.) หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ท้องเสีย หลังจากการกินเนื้ออาหารสุกๆดิบๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
สถานการณ์โรคไข้หูดับในไทย
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ล่าสุดเปิดเผยว่า ในไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หูดับประมาณ 200-350 คนต่อปี มีอัตราเสียชีวิตสูงประมาณ 5-10% โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง
และเนื่องจากการตรวจหาเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส และการตรวจหาสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงทำได้ยาก ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการในสถานพยาบาลขนาดเล็กได้ ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานไว้จึงอาจต่ำกว่าความเป็นจริง
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า โรคไข้หูดับเป็นภัยเงียบที่ควรจับตามอง เพราะอาการอาจรุนแรงถึงขั้นหูหนวกหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนจะกินอาหารทุกครั้งจะต้องให้ความสำคัญในการทำความสะอาดเนื้อสัตว์ และต้องปรุงให้สุกก่อน เพื่อช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และความลดเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจตามมาได้
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : โรงพยาบาลเปาโล และ สวทช.
“เทมเป้” ถั่วเหลืองหมัก อุดมโปรตีน-ไฟเบอร์ช่วยการทำงานของลำไส้
เตือน! ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ อันตรายปนเปื้อนสารระเหยมีฤทธ์เฉียบพลัน