เบคอนใส่ “ไนไตรท์” ให้สีสวยน่ากิน เสี่ยงก่อ “มะเร็ง”
งานวิจัยจากสหราชอาณาจักรยืนยัน เบคอน-แฮมที่ผสม “ไนไตรท์” เสี่ยงก่อ “มะเร็ง” ไม่ว่าใส่มากน้อยแค่ไหนก็ตาม
สำหรับใครที่เป็นนักกินสายเนื้อสัตว์หรือมีตเลิฟเวอร์ อาจเคยสงสัยว่า ทำไมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เรากินบางอย่าง โดยเฉพาะไส้กรอก เบคอน หรือแฮม ถึงได้มีสีแดงอมชมพูน่ากิน คำตอบก็คือบางที่อาจมีการใส่ “ไนไตรท์ (Nitrite)” ลงไป
ไนไตรท์ (NO2) เป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง มักใช้กันในรูปของเกลือโซเดียมไนไตรท์ และโพแทสเซียมไนไตรท์ ทำให้เกิดสีแดงอมชมพูในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และใช้เป็นสารกันเสียได้ด้วย
“มะเร็งกระเพาะอาหาร” อาหารไม่ย่อย-ท้องอืด สัญญาณเล็กๆ หากมองข้ามอาจลุกลาม
วิธีแก้ท้องอืดปรับสมดุลลำไส้ ปล่อยทิ้งไว้นานอาจเป็นสัญญาณโรคมะเร็ง
อาหารรักษาสมดุลลำไส้ ห่างไกลมะเร็งลำไส้ ระบบขับถ่ายดีเยี่ยม
เป็นที่ทราบกันว่าสารกลุ่มไนไตรท์เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลายประเทศในปัจจุบันก็ได้มีการกำหนดปริมาณการใส่ไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เหมาะสม แต่นั่นไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงเท่าไรนัก เพราะล่าสุดมีงานวิจัยจากสหราชอาณาจักรออกมายืนยันว่า ไม่ว่าจะใส่ไนไตรท์น้อยแค่ไหน ก็ยังนับว่าเป็นการใส่ และเพิ่มความเสี่ยงในการ “ก่อมะเร็ง” ได้อยู่ดีเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ที่ปลอดไนไตรท์
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบลฟาสต์แห่งสมเด็จพระราชินี ในไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลของตนมีคำสั่ง “ห้ามใช้ไนไตรท์ในอาหาร” แทนที่จะแค่กำหนดปริมาณ หลังจากการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ชัดเจนในการเกิดมะเร็งจากการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปที่ใส่ไนไตรท์
การศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ พบว่า หนูที่กินเนื้อสัตว์แปรรูปที่มีไนไตรท์ 15% มีโอกาสเกิดเนื้องอกมะเร็งมากกว่าหนูที่กินเนื้อสัตว์ปลอดสารไนไตรท์ถึง 75%
ศ.คริส เอลเลียต หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรควรเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับไนไตรท์ในเนื้อสัตว์แปรรูป
“ผลการศึกษาครั้งใหม่นี้ทำให้ความเสี่ยงมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อที่ผ่านการบ่มด้วยไนไตรท์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น การบริโภคเบคอนและแฮมที่มีไนไตรท์ทุกวันก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน” เขากล่าว
ด้าน ดร. ไบรอัน กรีน อีกหนึ่งนักวิจัยในทีม กล่าวว่า “ผลจากการศึกษาของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่เนื้อสัตว์แปรรูปทุกชนิดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเท่ากัน และการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปที่มีไนไตรท์ จะทำให้การพัฒนาของเนื้องอกมะเร็งรุนแรงขึ้น”
มีข้อมูลว่า คาดว่าประมาณ 90% ของเบคอนที่ขายในสหราชอาณาจักรมีไนไตรท์
ทั้งนี้ แม้ว่าเนื้อสัตว์แปรรูปที่มีไนไตรท์ 15% จะถือว่าเป็นตัวเลขไนไตรท์ที่สูง ซึ่งในตลาดจริงไม่มีการอนุญาตให้ใส่มากขนาดนั้น แต่นักวิจัยชี้ว่า แม้จะบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสัดส่วนไนไตรท์น้อยกว่านี้ ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งได้
หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) เพิ่งเผยแพร่ร่างความคิดเห็นฉบับปรับปรุงล่าสุด ซึ่งระบุว่า ระดับไนไตรต์ในอาหารอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศสก็มุ่งมั่นที่จะกำจัดการใช้ไนไตรท์ในการผลิตอาหารทั้งหมดหากเป็นไปได้ หลังกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสได้ข้อสรุปว่า สารเคมีดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจริง
เอลเลียตกล่าวเสริมว่า “หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรปและรัฐบาลฝรั่งเศสกำลังเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริง ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ต้องทำเช่นกัน”
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุด้วยว่า ไนไตรท์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ราว 32,000 รายต่อปี
อย่างไรก็ดี ริก มัมฟอร์ด หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ หลักฐานและการวิจัยของสำนักงานมาตรฐานอาหารกล่าวว่า การศึกษาใหม่จะต้องได้รับการประเมินอีกครั้ง และอาจต้องมีการชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียของไนไตรท์ เพราะ “ไนไตท์เป็นสารกันบูดสำคัญที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอย่าง Clostridium botulinum ที่ก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก Getty Image