สธ. เตือน อย่ากินมะขามหวานขึ้นรา ชี้ อาจส่งผลเสียร้ายแรงสุขภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ประชาชนไม่ควรกินมะขามที่มีเชื้อราปะปน เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เผยคุณค่าโภชนาการในมะขามหวานสุก ช่วยระบบขับถ่าย มีวิตามินซีสูง
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีข่าวมะขามหวานขึ้นรากินได้ ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยที่ระบุว่าเป็นเชื้อราที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพนั้น พบว่าเชื้อราที่แยกได้จากมะขามหวานในการวิจัยทั้งหมดเป็นเชื้อราที่ไม่สร้างสารพิษและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กรมอนามัยขอให้ประชาชนเลือกกินเฉพาะมะขามที่ไม่ขึ้นราดีกว่า เพราะมะขามหวานที่ขึ้นราอาจมีการปนเปื้อนเชื้อราชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เชื้อราที่พบในมะขามหวานแต่ละสายพันธุ์จะสร้างสารพิษต่างชนิดกัน
เตือน! อย่าหลงเชื่อ‘ปลาเหล็ก-กระทะเหล็ก’เพิ่มธาตุเหล็กป้องกันโลหิตจางได้
สธ. ร่วม SAVE แกงส้ม ยันเป็นเมนูยอดเยี่ยม ประโยชน์เพียบคู่ครัวไทย
โดยสามารถจำแนกสารพิษจากราเป็นกลุ่ม ดังนี้
- Aflatoxins
- Ochratoxins
- Zearalenone
- Trichothecenes
เชื้อราดังกล่าวก่อให้เกิดอาการ พิษต่อตับโดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 3 - 8 ขวบ และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ และส่งผลเสียต่อร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น อาการไข้ ปวดท้อง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ไตวายเรื้อรัง ทำลายเซลล์ในไขกระดูก เซลล์บุเยื่อเมือกของทางเดินอาหาร และทำลายระบบภูมิคุ้มกัน โรคตับอักเสบเฉียบพลัน โรคมะเร็งตับ เป็นต้น นอกจากนี้เชื้อราในกลุ่ม Zearalenoneยังเกิดผลกระทบต่อหมู แต่ยังไม่มีรายงานการเกิดพิษจากสารนี้ในมนุษย์
ด้าน อ.เจษฎ์ หรือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขข้อสงสัยกรณีดังกล่าว ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ใจความว่า เชื้อราที่พบในมะขามหวาน ส่วนใหญ่จะพบชนิด Pestalotiopsis sydowiana หรือ "ราน้ำตาล" จริง ซึ่งเป็นชนิดของเชื้อราที่ไม่ได้สารสร้างพิษอันตราย และมีความสามารถในการทำให้มะขามนั้นหวานขึ้นด้วย แต่ในมะขามหวานเอง ก็ยังมีเชื้อราอีกหลายชนิดครับ ซึ่งเมื่อลุกลามมากๆ ก็จะนำไปสู่การเป็นโรค "ฝักเน่า" เสียหายได้ และบางชนิดอาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ฯลฯ ได้เมื่อกินเข้าไปเยอะๆ (รวมถึงถ้าเป็นคนที่แพ้เชื้อราบางชนิด ก็จะมีอาการรุนแรงได้)
เวลาเลือกซื้อเลือกกิน จึงควรสังเกตว่า ถ้ามีเชื้อราเป็นเส้นใยสีขาว จำนวนไม่มาก บนเนื้อมะขามในฝักก็ยังพอกินได้ครับ แต่ถ้าเชื้อราที่ขึ้นเป็นจุดๆบนฝัก หรือเป็นสีอื่น หรือขึ้นลุกลามมากแล้ว ก็ไม่ควรกินครับ
เตือน! ใช้ปัสสาวะหยอดตา เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียตาบอดได้
มะขามหวานสุก ถือเป็นผลไม้ยอดนิยมตามฤดูกาลของไทย มีประโยชน์และคุณค่าโภชนาการ เพราะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย มีวิตามินซีสูงช่วยบรรเทาอาการโรคเบาหวานชนิดน้ำตาลในเลือดน้อย ช่วยสมาน และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย แต่มะขามหวานก็เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานและคาร์โบไฮเดรตสูงเช่นเดียวกัน โดยเนื้อมะขามหวานสุก 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงาน 332 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 80.30 กรัม โปรตีน 2.9 กรัม เบต้าแคโรทีน 156 ไมโครกรัม วิตามินซี 75 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าส้มที่มีวิตามินซี 53.2 มิลลิกรัม และสตรอเบอร์รี่ ที่มีวิตามินซี 58.8 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน แต่ด้วยปริมาณพลังงานที่สูงมาก ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานมากเกิน 1 ขีด ต่อ 1 วัน เพราะจะทำให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกายได้
“ละมุด”หวานชื่นใจประโยชน์เป็นยาช่วยการทำงานของลำไส้ ผิวเปล่งปลั่ง