นักวิทย์พบคำตอบแล้ว ทำไมบางคนติดโควิด-19 แต่ไม่ป่วย?
นักวิทยาศาสตร์พบคำตอบแล้ว ทำไมบางคนติดโควิด-19 แต่ไม่ป่วย ขณะที่บางคนป่วยหนักมาก เล็งต่อยอดเป็นยาป้องกันโควิด-19
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อหลายเคสที่สร้างความฉงนงงงวยให้กับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ เพราะแม้บางคนจะติดเชื้อโควิด-19 แต่กลับไม่ป่วยเลย ขณะที่บางคนกลับป่วยหนักมาก พวกเขาจึงพยายามหาคำตอบว่า ความแตกต่างระหว่างผู้ติดเชื้อ 2 แบบนี้คือตรงไหน
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากออสเตรเลียพบคำตอบแล้วว่า ที่บางคนติดโควิด-19 แต่ไม่ป่วยเลย ก็เป็นเพราะพวกเขามี “โปรตีน” ชนิดหนึ่งเกาะอยู่ที่ปอด ซึ่งมันมีความสามารถในการจับไวรัสโควิด-19 และทำให้มันไร้ความสามารถได้
สธ.ยันโควิด CH.1.1 อาจหลบภูมิได้ดี แต่แพร่ช้ากว่าสายพันธุ์หลักในไทย
10 อาหารบำรุงปอด สู้ฝุ่นพิษ PM2.5 และโควิด19 ให้ปอดแข็งแรงสุขภาพดี
ผู้ป่วยมะเร็งต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 หรือไม่ ? เพราะอะไรถึงต้องฉีด?
งานวิจัยนี้เป็นผลงานของ เกร็ก นีลี ผู้เชี่ยวชาญด้านฟังก์ชันจีโนมิกส์จากศูนย์ชาร์ลส เพอร์กินส์ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ร่วมกับ ดร.ลิปิน ลู นักวิจัย และแมทธิว วอลเลอร์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก
พวกเขาทำการทดลองโดยนำเนื้อเยื้อเซลล์มนุษย์ที่เพาะเลี้ยงไว้มาทำการศึกษาจีโนมของมนุษย์ทั้งหมด เพื่อหาโปรตีนที่สามารถจับกับไวรัสโควิด-19 ได้ โดยใช้เครื่องมือทางพันธุวิศวกรรมที่เรียกว่า Crispr ซึ่งจะเปิดใช้งานยีนทั้งหมดในจีโนมมนุษย์
จากนั้นทีมวิจัยก็ดูว่า ยีนใดที่ทำให้เซลล์มนุษย์มีความสามารถในการจับโปรตีนหนามของโควิด-19 จนได้พบกับโปรตีนตัวรับใหม่ที่มีชื่อว่า “LRRC15”
นีลีบอกว่า “จากนั้นเราได้ศึกษาปอดของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 หรือโรคอื่น ๆ และพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการร้ายแรงมี LRRC15 จำนวนมากในปอดของพวกเขา”
ทีมวิจัยพบว่า LRRC15 จะไม่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ จนกว่าโควิด-19 จะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งของเกราะป้องกันภูมิคุ้มกันที่ช่วยปกป้องมนุษย์จากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรง ในขณะที่กระตุ้นการตอบสนองต้านไวรัสของร่างกาย
แม้จะพบ LRRC15 ในปอดของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 แต่นักวิจัยเชื่อว่า ร่างกายของผู้ป่วยผลิตโปรตีนดังกล่าวได้ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกัน หรือผลิตออกมาช้าเกินไป
“เมื่อเราดูปอดของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 จะมีโปรตีนชนิดนี้อยู่มาก ... แต่เราไม่สามารถดูปอดของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโควิด-19 ได้ เนื่องจากการตรวจชิ้นเนื้อปอดไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายในคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เบื้องต้นเราคาดการณ์ว่ามีโปรตีนนี้ในผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าผู้ที่เสียชีวิต” นีลีกล่าว
เขายังยกการศึกษาแยกต่างหากในสหราชอาณาจักรที่ทำการตรวจตัวอย่างเลือดผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อหา LRRC15 และพบว่า ผู้ที่ป่วยโควิด-19 รุนแรง จะมีระดับโปรตีนดังกล่าวในเลือดต่ำกว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย
“ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ระดับ LRRC15 ที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการที่รุนแรงน้อยลง” นีลีกล่าว
เขาเสริมว่า “ความจริงที่ว่า มันมีโปรตีนภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เราไม่รู้จักนี้เกาะอยู่ตามปอดของเรา คอยบล็อกและควบคุมไวรัส ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก”
ทีมวิจัยยังพบ LRRC15 ในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ควบคุมพังผืดในปอด ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสียหายและมีแผลเป็น ซึ่งโควิด-19 สามารถนำไปสู่การเกิดพังผืดในปอดได้ ดังนั้นการค้นพบนี้อาจส่งผลต่อโควิด-19 ในระยะยาวด้วย
“ตอนนี้เราสามารถใช้โปรตีนใหม่นี้เพื่อออกแบบยาที่ออกฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือแม้แต่ยับยั้งการเกิดพังผืดในปอดได้” นีลีกล่าว
ดร.ลิปิน ลู หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า “LRRC15 ทำหน้าที่คล้ายกับ ‘โมเลกุลตีนตุ๊กแก’ โดยมันจะเกาะติดกับหนามแหลมของไวรัสโควิด-19 แล้วดึงมันออกจากเซลล์เป้าหมาย”
ด้าน ศ.สจวร์ต เทอร์วิลล์ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันเคอร์บี แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า แม้การค้นพบนี้อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการต่อยอดเป็นยาที่สามารถป้องกันไวรัสและโรคอื่น ๆ ได้ แต่การวิจัยนี้ก็ได้เพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งเป็นการตอบสนองของมนุษย์ที่สามารถออกฤทธิ์ทันทีที่ไวรัสปรากฏตัวขึ้นในร่างกาย
“การทำความเข้าใจเส้นทางเหล่านี้มีความสำคัญเนื่องจากช่วยให้เราสามารถหยุดไวรัสได้ ดังนั้นส่วนอื่น ๆ ของระบบภูมิคุ้มกันของเราจึงสามารถตามทันและตอบสนองได้” เทอร์วิลล์กล่าว
เขาเสริมว่า “นี่อาจเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความสามารถของผู้คนในการป้องกันไวรัสตั้งแต่เนิ่น ๆ”
เรียบเรียงจาก The Guardian
ภาพจาก AFP