ภายในปี 2035 คนครึ่งโลกจะมีภาวะน้ำหนักเกิน-โรคอ้วน
สหพันธ์โรคอ้วนห่วง อีก 12 ปีข้างหน้า ประชากรโลกเกินครึ่งจะมีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานและโรคอ้วน
สหพันธ์โรคอ้วน ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดองค์การอนามัยโลกประเมินว่า ในปี 2035 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า ประชากรโลกเกินครึ่งจะมีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานและโรคอ้วน หากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ไม่แก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ผลการศึกษาของสหพันธ์โรคอ้วนระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลกที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมีจำนวนประมาณ 2,600 ล้านคนหรือ 38% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด 8,000 ล้านคน
4 มีนาคม วันอ้วนโลก กินมื้อเช้าได้สุขภาพดี ไม่ต้องกลัวอ้วน ลดพุงลดโรค
สัญญาณ “โรคไฮโปไทรอยด์”อ้วนง่ายลดไม่ได้ เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่ ?
ทริคไม่ลับ 10 วิธีกินของหวานฉลองเทศกาลอย่างไรไม่ให้อ้วน
และในปี 2035 คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 4,000 ล้านคน หรือ 51% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด และสัดส่วนประชากรที่มีภาวะอ้วนรุนแรงจะเพิ่มจากจาก 1 คนต่อประชากร 7 คนในปัจจุบัน เป็น 1 คนต่อประชากร 4 คนในปี 2035
ทั้งนี้ ประชากรที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชากรเด็ก และประชากรในประเทศกลุ่มรายได้น้อย โดยหากไม่มีการมาตรการที่บังคับใช้เป็นวงกว้างได้ เช่น การเก็บภาษีและการจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์อาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ก็จะทำให้สถานการณ์โรคอ้วนเป็นไปตามการคาดการณ์
กลุ่มประชากรในวัยเด็กหรือวัยรุ่น มีอัตราเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งตัวเลขในส่วนนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทศวรรษหน้าจากระดับเมื่อปี 2020
ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีอัตราประชากรอยู่ในภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือประเทศที่มีรายได้น้อยและประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ส่วนประเทศที่เตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในประชากรที่ดีที่สุดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในทวีปยุโรป
สาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกมีแนวโน้มน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น มีหลายปัจจัย ทั้งภาวะโลกร้อน การใช้มาตรการล็อกดาวน์ระหว่างระบาดของไวรัสโควิด-19 มลภาวะจากสารเคมี การส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และวิธีการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมอาหาร
สำหรับความเสียหายจากภาวะโรคอ้วนในหมู่ประชากรโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (70 ล้านล้านบาท) ในปี 2019 เป็นมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (150 ล้านล้านบาท) ในปี 2035 คิดเป็นสัดส่วน 3% ของจีดีพีโลก ซึ่งใกล้เคียงกับความเสียหายที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
วิธีการแก้ปัญหานี้ สหพันธ์โรคอ้วนแนะนำว่า รัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศควรใช้มาตรการทางภาษี ควบคุมวิธีการทำตลาดของอาหารที่มีไขมัน เกลือ หรือน้ำตาลสูง ควรกำหนดให้ต้องมีฉลากที่บรรจุภัณฑ์ และการจัดสรรอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ
หลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าใครอ้วนหรือน้ำหนักเกินคือดัชนีมวลกาย หรือ BMI โดยผู้ที่มีดัชนีมวลกายที่ระดับ 25 ถือว่าเป็นผู้มีน้ำหนักเกิน และหากอยู่ระดับ 30 จัดว่าเป็นโรคอ้วน
เรียบเรียงจาก Reuters