อัปเดตวัคซีนโควิดไทย “HXP-GPOVAC”คาดเตรียมขึ้นทะเบียน ก.ย.นี้
คกก.วัคซีนแห่งชาติ อัปเดตความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด HXP-GPOVAC ในไทย อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลทางสถิติในระยะที่ 3 และจะส่งข้อมูลทั้งหมดเพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยาภายในเดือนกันยายนนี้ ขณะที่คาดว่าจะจัดส่งวัคซีน HPV เข็มที่ 1 ให้กับเด็กชั้นป.5 ที่ยังไม่ได้รับแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมทั้งในที่ประชุมและรูปแบบออนไลน์ นายอนุทิน กล่าวว่า ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ไทยมีเครือข่ายการวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีโรงงานผลิตวัคซีนเกิดขึ้นในประเทศ
อัปเดต! วัคซีน“HXP-GPOVac”ป้องกันโควิด-19ฝีมือคนไทย เล็งใช้เป็นเข็มกระตุ้น!
โควิด-19 รอบสัปดาห์ติดเชื้อลดลง สวนทางไข้หวัดใหญ่-ไวรัส RSV ระบาดเพิ่ม!
ซึ่งสามารถลดความตื่นตระหนก และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเราจะมีวัคซีนเพียงพอแม้ในสถานการณ์ที่มีโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นจากทั้งในและต่างประเทศในด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ รวมทั้งระบบสาธารณสุขด้วย
โดยที่ประชุม ได้นำเสนอความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันมีวัคซีนโควิด 19 จำนวน 1 ชนิด คือ วัคซีน HXP-GPOVAC โดยองค์การเภสัชกรรม อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลทางสถิติในระยะที่ 3 สำหรับการฉีดเป็นเข็มกระตุ้น และจะส่งข้อมูลทั้งหมดเพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยา ภายในเดือนกันยายนนี้ ขณะที่มีวัคซีน จำนวน 2 ชนิด ได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว ได้แก่
- วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันกำลังรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในระยะที่ 1 วัคซีนในประเทศมีคุณภาพดีและเหมาะกับการศึกษาในมนุษย์
- วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และอยู่ระหว่างการเตรียมอาสาสมัครเพื่อศึกษาในระยะที่ 2 สำหรับการฉีดวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้น
ได้นำเสนอผลการดำเนินงานเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนแห่งอาเซียน ระหว่างปี 2565-2566 ว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบงานหลักด้านวัคซีนแห่งภูมิภาคอาเซียน ได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายวัคซีนของอาเซียนและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์ ว่าด้วยการสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของอาเซียน (AVSSR Strategic and Action Plan) 2564 – 2568 ซึ่งได้มีการจัดการประชุมเครือข่ายด้านวัคซีนอาเซียนจำนวน 2 ครั้ง โดยการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้สถาบัน ร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานเครือข่ายวัคซีน ผลักดันให้แผนการดำเนินงานทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย
- การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวัคซีนในอาเซียน
- การจัดให้มีช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวัคซีนระหว่างอาเซียนในรูปแบบ Dashboard
- การจัดทำโครงการสำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านวัคซีนอาเซียน
- การจัดทำกรอบแนวคิดคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านวัคซีนของอาเซียน ดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง และสัมฤทธิ์ผลภายในปี 2568
ด้านบริการวัคซีนโปลิโอ สูตร 2 IPV + 3 OPV ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้มีการนำร่องการให้วัคซีนโปลิโอสูตรดังกล่าว เป็นการให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) จำนวน 2 ครั้ง ในเด็กอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน และให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) จำนวน 3 ครั้ง ในเด็กอายุ 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี โดยเริ่มให้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมานั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอตามพันธสัญญานานาชาติด้วยการนำร่องให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 และต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 กรมควบคุมโรคได้จัดการประชุมชี้แจงข้อสงสัย เพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการนำร่องและเสริมข้อมูลเชิงวิชาการให้กับผู้รับผิดชอบงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยได้รับความร่วมมือจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูลเชิงวิชาการและชี้แจงข้อสงสัยการนำร่องให้วัคซีนโปลิโอให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศ
ผู้ปกครองเช็กสิทธิ!สุขภาพดีป้องกันโรคเด็กเล็กรับวัคซีน “โปลิโอ” ฟรี!
ด้านบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) เพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจาก ปี 2562 – 2564 นานาประเทศทั่วโลกประสบปัญหาวัคซีน HPV ขาดคราว ส่งผลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถจัดหาวัคซีน HPV ได้ โดยคาดประมาณว่ามีเด็ก 1.2 ล้านคน ไม่ได้รับวัคซีน HPV ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทำให้เสียสิทธิที่พึงได้รับจากรัฐ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต ซึ่งคำแนะนำทางวิชาการตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเห็นชอบให้คงหลักการให้วัคซีน HPV ในเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หรือ อายุ 11 - 12 ปี ตามสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับ (2 เข็ม) นอกจากนี้มอบหมายให้ สปสช. จัดสรรวัคซีน HPV เข็มที่ 1 สำหรับเก็บตกเด็กหญิงไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน โดย สปสช. คาดว่าจะจัดส่งวัคซีน HPV เข็มที่ 1 แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการจัดหาวัคซีน HPV เข็มที่ 2 เพิ่มเติมให้ครบถ้วนทุกคนตามสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ
สถาบันวัคซีน รับมอบวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 2 แสนโดส
สธ.เร่งฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็ก ป.5 ที่ตกค้างตามสิทธิ