สารอินทรีย์ระเหยง่าย(VOCs) พิษในอากาศ เสี่ยงอันตรายร่างกายทั้งระบบ
รู้จัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย(VOCs) ที่ส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด แนะวิธีเลี่ยงถนอมสุขภาพ!
จากกรณีเพลิงไหม้ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด พบว่าต้นเพลิงเป็นถังบรรจุไพโรไลซิส แก๊สโซลีน มีกลุ่มสาร VOCs หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย ถูกเผาไหม้จำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง
สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสาร VOCs หมายถึงกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้ง่าย กระจายตัวไปในอากาศได้ในอุณหภูมิและความดันปกติ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักของสาร ได้แก่ อะตอมของธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และมีองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ออกซิเจน ฟลูออไรด์ คลอไรด์ โบรไมด์ ซัลเฟอร์ และไนโตรเจน
“ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน”สารผสมก่อพิษระบบร่างกาย กดทับประสาทอันตราย!
อันตราย! ไมโครพลาสติก-นาโนพลาสติกสะสมในผนังหลอดเลือดแดง
สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในบรรยากาศจัดเป็นอากาศพิษ (Toxic Air) ซึ่งในชีวิตประจำวันเราได้รับสารชนิดนี้จากผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่า สีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ำยาฟอกสี สารตัวทำละลายในการพิมพ์ อู่พ่นสีรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม น้ำยาซักแห้ง น้ำยาสำหรับย้อมผมและดัดผม สารกำจัดศัตรูพืช สารที่เกิดจากการเผาไหม้และปนเปื้อนในอากาศ น้ำดื่ม อาหาร และเครื่องดื่ม นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช่สารทำละลาย เช่น โรงงานพลาสติก โรงกลั่น น้ำมันปิโตรเคมี โรงงานรองเทา เฟอร์นิเจอร์ โรงงานประกอบรถยนต์
สารVOCs มีผลทำให้โอโซนบนชั้นบรรยากาศสูงเข้ามาอยู่ในชั้นบรรยากาศใกล้โลก และโอโซนนี้จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ทำให้เจ็บไข้ ไม่สบายเจ็บคอหายใจไม่สะดวก ระคายเคืองตา แก้วตา จมูก คอ ทรวงอก ไอ ปวดศรีษะ
ผลกระทบของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย
ความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน
- การสัมผัสเบนซีน ที่ระดับความเข้มข้นสูงๆ โดยการหายใจส่งผลให้เกิดการกดของระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เซื่องซึม หน้ามืด ตาลาย หายใจเร็ว ปวดศีรษะ ใจสั่น มึนงง หมดสติ และตาย เนื่องจากระบบการหายใจล้มเหลว
ความเป็นพิษเรื้อรัง
- ความเป็นพิษจากการสัมผัสเบนซีนที่ระดับความเข้มข้นต่ำเป็นระยะเวลานาน จะกระตุ้นให้เกิดผลิตผลของเลือด เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวหรือเกร็ดเลือดลดลง ระบบภูมิคุ้มกันลดลง และอาจมีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และไม่สบายท้อง หากมีความเป็นพิษรุนแรง อาจเกิดความอ่อนเพลีย การมองเห็นไม่ชัดเจน และหายใจลำบาก
ผลกระทบต่อด้านภูมิคุ้มกัน
ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกรบกวนหรือทำลาย ศักยภาพการป้องกันโรคการติดเชื้อจะลดลง เช่นจากการศึกษาประชากรโดยการตรวจเลือด และผิวหนังในคนที่อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะสารเคมีมีพิษ พบว่ามีสารในเลือดมากกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกลกว่า ยิ่งอยู่ในบริเวณนั้นนานๆ ยิ่งได้รับมากขึ้นแตกต่างกันอย่างชัดเจนนอกจากนี้เม็ดเลือดขาวของประชากรที่อยู่ใกล้ขยะมีพิษมากกว่าจะมีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าในกลุ่มประชากรที่อยู่ห่างไกลออกไป
ผลกระทบต่อระบบประสาท
การได้รับสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายจะทำให้เกิดอาการทางกดประสาทหลายอย่าง เช่น การง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ ซึมเศร้า หรือหมดสติได้จะยิ่งทำให้มีผลมากขึ้น
ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์
ผู้หญิงที่สัมผัสกับเบนซีนทางการหายใจที่ระดับความเข้มข้นสูงๆ อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ โดยก่อให้เกิดความบกพร่องเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ในผู้หญิง ได้แก่ มีประจำเดือนไม่ปกติเนื่องจากขนาดของรังไข่เล็กลงและตั้งครรภ์ยากเนื่องจากการบาดเจ็บของอวัยวะสืบพันธุ์ อย่างไรก็ตามการศึกษาค่อนข้างจำกัด
ผลกระทบเสียหายต่อสุขภาพด้านอื่นๆ
สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบพันธุกรรม ระบบฮอร์โมน อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้และโรคทางระบบสืบพันธุ์ เช่นเป็นหมัน ความพิการของเด็กมีการกลายเพศ เป็นต้น
สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย มีผลต่อสุขภาพมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารเคมีปริมาณที่ได้รับ สภาวะทางชีวภาพของร่างกาย และปัจจัยอื่นๆ สาร
- หากได้รับในปริมาณมาก ทำให้เกิดการทำลายระบบประสาทส่วนกลาง คือไปกดประสาทส่วนกลางโดยอาจจะเกิดอาการทันที ทำให้หมดสติได้ และใน
- กรณีที่ได้รับสาร VOCs ปริมาณน้อย เป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื้อรัง อาจทำให้เกิดมะเร็ง และเกิดการเสื่อมของเนื้อเยื่ออวัยวะภายในได้ด้วย
ป้องกันอันตรายจากสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย
- การลดหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายสูง เช่น เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่มี VOCs
- หลีกเลี่ยงภาชนะบรรจุที่เป็นโฟม พลาสติก อุ่นอาหารในไมโครเวฟ
- งดสูบบุหรี่
- เปิดบ้านระบายอากาศ
- ใช้เครื่องฟอกอากาศ
- หลีกเลี่ยงการจราจรหนาแน่นให้มากที่สุด
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายสูงกว่าบุคคลทั่วไป คือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น ผู้ที่เป็นหอบหืด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ไวต่อการรับสารเคมีสูง นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพรวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งสารอินทรีย์ระเหยง่ายก็จะเสี่ยงอันตรายเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข ,สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม และ mahidol