“โรคลิชมาเนีย”เกิดจากริ้นฝอยทรายเป็นแมลงพาหะ ปี 2568 พบเสียชีวิต 1 ราย
ชวนรู้จัก โรคลิชมาเนีย (LEISHMANIASIS) เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัว โดยมีริ้นฝอยทราย เป็นแมลงพาหะของโรค ปี 2568 พบผู้ป่วย 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย เปิดอาการ ระยะฟักตัว และวิธีป้องกันโรค
จากกรณีมีผู้ใช้ facebook ออกมาเปิดเผยว่า โรคใหม่ระบาดแล้ว และกำลังแพร่กระจาย พบผู้ป่วยแล้วในทุกภาค แต่จะชุกชุมมากในภาคใต้ โรคนี้มีพาหะแพร่เชื้อเป็นแมลงชื่อ "ริ้นฝอยทราย" รูปร่างคล้ายยุง มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่เกษตรกรรมที่มีต้นไม้เยอะอากาศร้อนชื้น รวมถึงพื้นที่ที่เป็นป่า อาการเริ่มแรกของผู้ติดเชื้อคือหลังจากโดนแมลงริ้นกัด ก็จะมีแผลผื่นคัน จนอาจลุกลามตามภาพ ยิ่งถ้าเป็นเด็ก และผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว

โรคอาจส่งผลอวัยวะภายในอย่างตับและม้ามจนถึงขั้นต้องฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้ามิดชิด และใช้ยาทา-พ่นกันแมลงเวลาที่ต้องเข้าพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่ป่า
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด พบว่า ตั้งแต่ปี 2539 - 2568 พบผู้ป่วยโรคลิชมาเนีย ในไทย 45 ราย เสียชีวิต 7 ราย ในปี 2568 พบผู้ป่วยโรคลิชมาเนีย จำนวน 2 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
สรุปแล้วโรคลิชมาเนียคืออะไร ?
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคลิชมาเนีย เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัว Leishmania spp.โดยมีริ้นฝอยทราย (Sandfl y) เป็นแมลงพาหะของโรค พบในประเทศทั้งแถบเขตร้อนและใกล้เขตร้อน พบผู้ป่วยประมาณ 14 ล้านคน อุบัติการณ์ 1.5 - 2 ล้านคน/ปีผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิง ผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 700,000 คน/ปีแต่การเป็นโรคที่ไม่ต้องแจ้งทำให้ข้อมูลทางระบาดวิทยาตํ่ากว่าเป็นจริง ประมาณ 3 เท่า
สถานการณ์ในประเทศไทย
มีทั้งผู้ป่วยชาวต่างชาติ และแรงงานไทยกลับจากแหล่งโรคในประเทศตะวันออกกลางนำเข้ามา (imported cases) รวมจำนวน 49 ราย และคนไทยติดเชื้อในประเทศ (indigenous case) รวมจำนวน14 ราย ตาย 2 ราย มีทั้งชาย หญิง และเด็ก จังหวัดที่พบผู้ป่วย ได้แก่ เชียงราย น่าน กรุงเทพฯ จันทบุรี พังงาสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และตรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดทางภาคใต้
อาการของโรคลิชมาเนีย
- เกิดแผลที่ผิวหนัง (Cutaneous Leishmaniasis:CL) อาการ เช่น ตุ่มนูนพองใสและแดง แผล ซึ่งอาจเป็นแผลเปียก หรือแผลแห้ง แผลมักมีขอบ อาจแผลเดียวหรือหลายแผล แผลลุกลามรวมกันเป็นแผลใหญ่ได้ หรืออาจเป็นตุ่มๆ กระจายทั่วตัว
- เกิดแผลที่เยื่อบุบริเวณปาก จมูก (Mucocutaneous Leishmaniasis : MCL) เป็นแผลตามใบหน้าโพรงจมูก ปาก และลำคอ อาจทำให้รูปหน้าผิดไปจากเดิม มีไข้ ซีด อ่อนเพลีย นํ้าหนักลด หากอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาก็ถึงกับเสียชีวิตได้
- พยาธิสภาพกับอวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis: VL หรือปัจจุบันนิยมเรียกว่าคาลา - อซาร์ (Kala - azar)) ข้อบ่งชี้ที่สำคัญตามนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ ไข้เรื้อรังมากกว่า 10 วัน ผอม (weight loss) ซีด (pale) ม้ามโต (splenomegary) (รูปที่ 34) ตับโต (hepatomegary)ผู้ป่วยหลังให้การรักษาจนหายแล้วอาจปรากฏอาการทางผิวหนังที่เรียกว่า Post Kala-azar Dermal Lesion (PKDL) เช่น ตุ่มนูน (nodule) ปื้น (papule) ด่างดวง(macular) หรือหลายลักษณะร่วมกัน
ระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอนอาจตั้งแต่ 2 - 3 วัน สัปดาห์ จนถึงหลายเดือน เป็นปี หรือหลายๆ ปี แต่ส่วนใหญ่ระยะฟักตัวค่อนข้างนาน
การรักษาโรคลิชมาเนีย
- ยารักษามีทั้งชนิดทาแผล รับประทาน และฉีด แต่ยาประเภทหลังมีอาการข้างเคียงค่อนข้างรุนแรงต่อผู้ป่วยซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ในโรงพยาบาล ชื่อยารักษา เช่น
- เพนตะวาเลนท์แอนติโมเนียล (Pentavalent Antimonials)
- เพนทามิดีน(Pentamidine)
- พาโรโมมัยซิน ซัลเฟต (Paromomycin sulfateSulfate)
- มิเลทโฟซีน (Miletefosine)
- คีโทโคนาโซล (Ketoconazole)
มาตรการป้องกันโรค
- กำจัดเชื้อลิชมาเนียในผู้ป่วย โดยค้นหาให้พบผู้ป่วยทั้งระยะปรากฏอาการและไม่ปรากฏอาการพร้อมทำการักษาอย่างรวดเร็วจนหายขาด
- ควบคุม กำจัดพาหะริ้นฝอยทรายโดยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้าน นอกบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ริ้นฝอยทราย
- ควบคุม กำจัดสัตว์รังโรค โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมควรอยู่ห่างจากตัวบ้านอย่างน้อย 10 เมตร กรณีเลี้ยงในบ้านหรือใกล้บ้านควรให้สัตว์นอนในมุ้งชุบเคมีหรือคลุมด้วยผ้า/กระสอบป่าน/ปลอกคอชุบเคมีตอนกลางคืน สัตว์ที่มีเชื้อลิชมาเนียต้องกำจัดโดยปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานปศุสัตว์
- ป้องกันตนเองอย่าให้ริ้นฝอยทรายกัด เช่น ทายากันยุงสวมเสื้อผ้าปกปิดทั่วร่างกาย เมื่อเข้าป่า ไปถํ้าทำสวน ทำไร่ นอนใมุ้งชุบเคมี ไม่อยู่นอกบ้านช่วงพลบคํ่าที่ริ้นฝอยทรายออกหากินมาก
- คนที่มีเชื้อเอชไอวี (HIV) ควรป้องกันถูกริ้นฝอยทรายกัด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV
- แรงงานไทยและชาวมุสลิมที่กลับจากประเทศแหล่งโรคในตะวันออกกลางหากถูกริ้นฝอยทรายกัดบ่อยๆเมื่อปรากฏอาการสงสัยต้องรีบไปพบแพทย์
