รมว.ศธ.“ไม่ถอย”แจงข้อเสียชุดไปรเวท สร้างภาระทุกฝ่าย
จุดกำเนิด "ชุดนักเรียน" มีมากกว่า 100 ปี
ผู้ปกครองเด็กนักเรียนคนนี้ เปิดเผยให้ผู้สื่อข่าวพีพีทีวีฟังว่า ลูกสาวขอนุญาตแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันนี้ ( 1ธ.ค.) ตามการเชิญชวนของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนักเรียนเลว โดยลูกสาวร่วมแคมเปญนี้ด้วยการใส่รองเท้าผ้าใบและถุงเท้าสีสันสดใส แต่ยังแต่งชุดนักเรียนไปเรียนตามปกติ
ผู้ปกครองคนนี้ ระบุว่า ตนเองอนุญาตให้ลูกสาวทำได้ตามที่ขอ แต่ก็บอกกับลูกสาวว่า ต้องยอมรับผลที่จะตามมาด้วย เพราะสิ่งที่ทำถือว่า ผิดระเบียบ ตอนแรก ครูจะไม่ให้ลูกสาวเข้าห้องเรียน แต่ได้ยกคำสัมภาษณ์ของเลขาธิการ กพฐ.ว่า ให้นักเรียนทุกคนมีสิทธิเข้าเรียน ส่วนการแต่งกายผิดระเบียบให้แต่ละโรงเรียนไปคุยกันภายหลัง ครูท่านนั้นจึงอนุญาตให้เข้าเรียนได้ แต่ขอตัดคะแนนจิตพิสัยของลูกสาว
อีกมุมหนึ่งทีมข่าวพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธารถ ศรีโคตร เจ้าของฉายา 'อ.บูมคอสเพลย์' อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่สะสมเครื่องแบบและเครื่องแต่งกาย และมักแต่งชุดคอลเพลย์เป็นชุดเครื่องแบบต่างๆ
ครูบูม ให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ว่า คนกลุ่มแรกที่มีการใช้เครื่องแบบ คือ ทหาร เนื่องจากต้องอยู่ในระเบียบและทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เครื่องแบบถูกนำมาใช้กับพลเมืองมากขึ้น เพื่อระบุอาชีพของแต่ละคน และต่อมาช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เครื่องแบบเริ่มมีการ ติดยศตำแหน่ง ที่ชัดเจนมากขึ้น
ถึงแม้จะชอบแต่งชุดเครื่องแบบ ครูบูม ก็ตั้งคำถามว่า การเป็นนักเรียนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบลำดับชั้นอำนาจ เหมือนทหาร หรือ ต้องมีสิทธิเสรีภาพมากกว่ากัน ย้ำว่า เครื่องแบบนักเรียนไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ไม่ควรบังคับนักเรียนให้สวมใส่เครื่องแบบ เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกสวมใส่เครื่องแต่งกาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธารถ ยังบอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ที่กลุ่มนักเรียนเลวต้องการปฏิรูปและเปลี่ยนกฎระเบียบ ทั้งกลุ่มนักเรียนและหน่วยงานของรัฐ ควรพูดคุยกันและเปิดรับความคิดเห็นรวมถึงเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ใช่ปฏิบัติตามกฎแบบเดิมๆ
ความเห็น นร.-ผู้ปกครองต่อการใส่ชุดไปรเวทไปเรียน