เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2564 ออกโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนดประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศ ณ 1 ก.ย.64 จึงมีผล 2ก.ย.64 ) โดยกำหนดข้อจริยธรรมตำรวจ 7 ข้อ ให้ข้าราชการตำรวจ กรรมการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่น ยึดถือปฏิบัติด้วย สำหรับข้าราชการตำรวจให้ปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพตามกฎหมายอื่นด้วย
"อำนวย นิ่มมะโน" ฟาดแรง คดี "ผู้กำกับโจ้" สะกิดพนง.สอบสวน ขออย่าเหยียบย่ำ สาดสีตำรวจ
ประมวลจริยธรรมตำรวจ 7 ข้อ ประกอบด้วย
1.ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการแสดงออกถึงความภูมิใจในชาติ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ เคารพในความแตกต่างของ การนับถือศาสนา ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเทิดทูนรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
2.ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยความโปร่งใส ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสำนึกที่ดี คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
3.กล้าตัดสินใจและยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม กล้าคัดค้านและดำเนินการ แก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ ไม่ยอมกระทำ ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ไม่คบหาหรือให้การสนับสนุน แก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจ กระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และต้องวางตัวเป็นกลางในฐานะผู้รักษากฎหมาย ในกระบวนการยุติธรรม
4.คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีจิตสาธารณะ ร่วมมือ ร่วมใจ และเสียสละในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม
5.มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ทันต่อสถานการณ์ คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นที่ตั้ง รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่น ในระบบการทำงานเป็นทีม ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความเต็มใจ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เหมาะสมตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
6.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ โดยยึดถือความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติโดยการไม่ใช้ความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจส่วนตัวต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อันเนื่องมาจากชาติกำเนิด เพศ ศาสนาหรือความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ อายุ การศึกษา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และยอมรับความแตกต่างของบุคคล หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม และพึงวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
7.ดำรงตนเป็นแบบอย่างด้วยการเป็นข้าราชการที่ดี รักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ และความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พึงปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน ปฏิบัติต่อประชาชน ด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อ้างหรือใช้อำนาจโดยปราศจากเหตุผล ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบรมราโชวาท หลักคำสอนทางศาสนามาปรับใช้ และปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีด้วยการเคารพกฎหมาย และมีวินัย