แก้ราคาพลังงานพุ่ง ภารกิจใหญ่ผู้นำสหราชอาณาจักรคนใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของ ‘บอริส จอห์นสัน’ ทำให้พรรคต้องเลือกผู้นำคนใหม่ที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรแทนที่จอห์นสันด้วย

โดยหลังขับเคี่ยวชิงชัยกันมานาน 2 เดือน ระหว่าง ‘ลิซ ทรัสส์’ รัฐมนตรีต่างประเทศ และ ‘ริชชี สุนัค’ อดีตรัฐมนตรีคลัง ปรากฏว่าวันนี้พรรคอนุรักษ์นิยมได้ประกาศแล้วว่า สมาชิกทั่วประเทศของพรรคได้เลือกลิซ ทรัสส์ เป็นผู้นำคนใหม่และเตรียมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย

ทรัสส์ ถือเป็นผู้นำหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักรต่อจากมากาเร็ต แธตเชอร์ และเทเรซา เมย์ ซึ่งทั้งคู่ก็สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกัน

“ลิซ ทรัสส์”ชนะโหวต ขึ้นเป็นนายกฯอังกฤษคนใหม่

เส้นทาง "บอริส จอห์นสัน" ก่อนตกเก้าอี้นายกฯอังกฤษเพราะปาร์ตี้

โดยเธอจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ ( 6ก.ย.)ที่พระตำหนักบัลมอรัลในสกอตแลนด์ เพื่อรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

งานที่เธอจะต้อทำเป็นการเร่งด่วนคือปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่อย่างหนักจากผลกระทบของสงครามในยูเครน ที่ทำให้เงินเฟ้อของอังกฤษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์และกำลังทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ

การลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นการลงคะแนนจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศที่เข้าร่วมพรรคก่อนวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิโหวตมีอยู่มากกว่า 160,000 คน  ลงคะแนนได้ทั้งทางไปรษณีย์และออนไลน์

พรรคได้ปิดโหวตอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการนับคะแนนและประกาศผลในวันนี้ โดยปรากฏว่า ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ 

เธอได้เสียงโหวต 81,326 เสียง เอาชนะริชี สุนัค อดีตรัฐมนตรีคลังซึ่งเป็นคู่แข่งที่ได้คะแนนโหวค 60,399 เสียง มีผู้มาออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรคทั้งหมด 82.6% ของสมาชิกผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 

หลังรู้ผล ทรัสส์ได้กล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณผู้สนับสนุน ขอบคุณริชี สุนัค สำหรับการเป็นแคนดิเดตหาเสียงต่อสู้กันด้วยความยากลำบาก 

นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ในการยืนหยัดต่อต้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ก่อสงครามในยูเครน รวมถึงเดินหน้ากระบวนการเบรกซิท นำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปจนเสร็จสิ้น

ว่าที่นายกรัฐมนตรีทรัสส์ ได้ประกาศว่าจะทำตามที่ให้สัญญาไว้กับผู้ลงคะแนน ทั้งในเรื่องการตัดลดภาษี สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และจัดการวิกฤตพลังงาน ทั้งยังบอกว่าจะเอาชนะพรรคแรงงานให้ได้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2024

ทั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่หลังนายกรัฐมนตรี ‘บอริส จอห์นสัน’ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังเผชิญมรสุมเรื่องอื้อฉาวมากมาย จนสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนมาต่อเนื่อง โดยจอห์นสันประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหลังถูกถอนการสนับสนุน และรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาตบเท้าลาออกเพื่อกดดันให้เขาลงจากตำแหน่ง 

การได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม จะทำให้ทรัสส์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรแทนที่บอริส จอห์นสัน ด้วย เนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับประวัติของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่ลิซ ทรัสส์ อายุ 47 ปี แต่งงานแล้วและมีบุตร 2 คนเธอมาจากครอบครัวฐานะปานกลาง พ่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ส่วนแม่เป็นพยาบาล

ทรัสส์จบจากโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลก่อนเข้าเรียนต่อด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เคยทำงานบริษัทพลังงานอย่างเชลล์ ก่อนจะเข้าสู่การเมืองโดยเลือกสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรค Conservative

แม้ลงสมัครเป็นผู้แทนทั้งในปี 2001 และ 2005 แต่ทรัสส์ก็ยังไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา จนกระทั่งปี 2010 ที่เธอชนะเลือกตั้งได้เป็นส.ส. ได้ในที่สุด

ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งในรัฐบาลเป็นครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการในสมัยของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน

หลังจากนั้นก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลเทเรซา เมย์ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรงการต่างประเทศในรัฐบาลของบอริส จอห์นสัน นี่คือนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ

ความท้าทายของผู้นำหญิงคนนี้คือ สงครามที่กำลังดำเนินไปในยูเครนและผลกระทบของสงครามที่มีต่อคนอังกฤษโดยตรง นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาพลังงานที่พุ่งสูง

สำนักสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรเพิ่งจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอยู่ที่10.1% เพิ่มขึ้นจากระดับ 9.4% ในเดือนมิถุนายน

โดยนี่ถือเป็นระดับเงินเฟ้อสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่แรงที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 เงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นทำให้คนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า บรรดาเจ้าของกิจการบอกว่า บิลค่าไฟขึ้นไป 5-6 เท่าของที่เคยจ่าย

ตัวอย่างเช่นเจ้าของผับชานกรุงลอนดอนคนนี้ที่บอกว่า คนทำธุรกิจลำบากมากถ้าราคาพลังงานยังไม่ลดลง โดยก่อนหน้านี้ ค่าไฟที่ผับต้องจ่ายในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 16,000 ปอนด์อหรือ 640,000 บาทต่อปี พอมีสงครามในยูเครน บิลค่าไฟขึ้นเป็น 65,000 ปอนด์ หรือ 2,600,000 บาทต่อปี

ผู้ประกอบการผับบาร์บอกว่า คนที่ทำธุรกิจมากกว่าร้อยละ 70 จะหายไปจาการต้องปิดกิจการถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือ โดยเฉพาะกำลังเข้าสู่หน้าหนาวที่บิลค่าไฟจะสูงขึ้นมากกว่านี้อีก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานด้านการกำลังกับพลังงานอย่าง Office of Gas and Electricity Markets เพิ่งจะประกาศปรับเพดานราคาพลังงานต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 80

รายงานจากองค์กรอิสระของอังกฤษที่ชื่อ Rosolution Foundation เปิดเผยรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาพลังงานที่สูงกำลังทำให้มาตรฐานการครองชีพของคนอังกฤษตกต่ำลง เนื่องจากรายได้หรือ Income ของคนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเจอกับเงินเฟ้อ อำนาจในการใช้จ่ายจึงลดลง โดยคาดว่าจะมีคนอังกฤษราว 3 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบ

ส่วนภาคการผลิตก็น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน โดยผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อเสาร์ที่ผ่านมาชี้ว่า  6 ใน 10 ของกิจการในอังกฤษ กำลังกระทบหนักจากค่าพลังงานที่สูงขึ้น ตอนนี้มีโรงงานหรือผู้ผลิตสินค้าร้อยละ 13 ที่ลดการผลิตในช่วงเวลาสั้นๆ หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงการผลิตในช่วงที่ราคาพลังงานพุ่งสูง

ผลสำรวจยังชี้ว่า รัฐบาลต้องเร่งใช้มาตรการใหม่เพื่อคุมราคาพลังงานด้วย แล้วรัฐบาลทำอะไรได้บ้างกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น

เมื่อวานนี้ ลิซ ทรัสส์ ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี เธอได้พูดว่า สิ่งแรกที่จะทำคือ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากราคาพลังงานแพง และพยายามหาแหล่งพลังงานทดแทนไปพร้อมๆ

ที่ผ่านมาทรัสส์ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแผนแก้ปัญหาค่าครองชีพของเธอมีอะไรบ้าง ยกเว้นแต่บอกว่า จะตัดลดภาษีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษชั่วคราวในบิลค่าพลังงาน 

โดยการให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ เธอบอกว่าหากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายใน 1 สัปดาห์เธอจะประกาศอย่างเป็นทางการว่ามีแผนจัดการอย่างไรกับราคาพลังงานที่พุ่งสูง และการหาพลังงานทดแทนสำหรับฤดูหนาว ต้องรอดูมาตรการของผู้นำคนใหม่ที่จะออกมาอย่างไรแต่อีกประเด็นหนึ่งที่จะถูกจับตามองคือ นโยบายของเธอต่อสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน

ผู้นำคนก่อน อดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันคือคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่สนับสนุนยูเครนจะเต็มที่ในทุกๆด้าน นอกเหนือจากการจัดส่งอาวุธจำนวนมากให้กับยูเครนแล้ว ตัวเขาเองยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานธิบดีเซเลนสกี โดยเคยเดินไปไปที่กรุงเคียฟเพื่อพบกับผู้นำยูเครนถึง 3 ครั้งในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา

คนยูเครนเองก็ชื่นชมอดีตนายกฯจอห์นสันมาก ในฐานะที่ทำให้กับยูเครนอย่างเต็มที่ คำถามก็คือ ภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่ นโยบายของสหราชอาณาจักรต่อยูเครนจะเปลี่ยนหรือไม่

เพราะในรัฐบาลของบอริส จอห์สัน นั้น ลิซ ทรัสส์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และเบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งสองคนนี้มีบทบาทอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายของสหราชอาณาจักรที่มีต่อสงครามในยูเครน

ลิซ มีท่าทีที่ชัดเจนและแข็งกร้าวต่อรัสเซียมาก เธอพูดเสียงดังฟังชัดว่าจะให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ในทุกทางเพื่อผลักดันรัสเซียออกไป

เธอสนับสนุนการใช้มาตรการคว่ำบาตที่เข้มข้นต่อรัสเซีย เธอพูดต่อเนื่องและหลายครั้งว่า รัสเซียต้องแพ้และล้มเหลวในสงครามครั้งนี้ นี่คือส่วนหนึ่งที่เธอเคยพูดไว้

อีกเหตุผลที่นโยบายของสหราชอาณาจักรต่อยูเครนไม่น่าจะเปลี่ยนเนื่องจากจุดยืนไม่ใช่จากรัฐบาลหรือผู้นำประเทศเท่านั้น แต่เป็นนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบและได้รับเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์จากสภา ซึ่งมีส่วนประกอบของพรรคการเมืองจากทุกพรรค การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจึงจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อยูเครน

โดยหลังเสร็จสิ้นเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ที่พระตำหนักบัลมอรัลในวันพรุ่งนี้เพื่อขอพระราชทานตั้งรัฐบาลแล้ว ลิซ ทรัสส์ จะกลับมากรุงลอนดอนเพื่อแถลงเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก่อนจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกในเช้าวันพุธ

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็จะเดินทางไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพบกับหัวหน้าพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านต่อไป

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ