การประชุมวันนี้ 16 พ.ย. เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคจาก 21 เขตเศรฐกิจได้ ร่วมกันหาบทสรุปใน 3 ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดัน คือ การส่งเสริมการเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นตัวขับเคลื่อน
ในด้านการเปิดโอกาสการค้าการลงทุน ไทยผลักดันการเปิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ในบริบทหลังโควิด-19 โดยมุ่งหวังให้เป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก
เอกชนเขตเศรษฐกิจเอเปค เสนอ 69 ข้อ หวังให้ดันเศรษฐกิจ
เปิดรายชื่อผู้นำแต่ละประเทศ ตบเท้าเข้าร่วมประชุม APEC 2022
ซึ่งประโยชน์ของการเปิดเขตการค้าเสรี คือ จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของเขตเศรษฐกิจในประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ ๆ ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างกัน ขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และการเชื่อมโยง การค้า การลงทุนภายในกลุ่มเอเปค ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเสนอต่อเวทีระดับรัฐมนตรี และเสนอต่อเวทีผู้นำเอเปค
เป้าหมายการหารือเขตการค้าเสรีกลุ่มเอเปค หรือ FTAAP นับเป็นความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของโลก เนื่องจาก มูลค่า GDP รวมกันแล้วจะสูงถึง 61% ของGDPทั้งโลก
นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ปฏิบัติหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า ไทยจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายมิติ จาก APECเนื่องจากเศรษฐกิจไทย มีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง โดยในปี 2564 ไทยพึ่งพาการค้าจากกลุ่ม APEC ผ่านการส่งออกสินค้ามากถึง 72.1% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด ตลาดการส่งออกและนำเข้าสินค้า สำคัญ คือ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศไทย พยายามผลักดันในเรื่องนี้
ในด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง ไทยได้ผลักดัน ให้เกิดการสร้างกลไกการอำนวยความสะดวก ในการเดินทางข้ามพรมแดนในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างการเตรียมความพร้อมรองรับกรณีเกิดการแพร่ระบาดในอนาคต
ในด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ไทยได้ผลักดันการจัดทำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
จะเห็นได้ว่าวาระที่มีการหารือกันในเอเปค ไม่เจาะจงแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึง สังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG) ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ความร่วมมือระดับรัฐมนตรีในวาระด้านป่าไม้ ความปลอดภัยทางอาหาร ส่งเสริมผู้ประกอบเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง ส่งเสริมสตรีให้มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น เศรษฐกิจ สุขภาพ และการท่องเที่ยว รวมถึงการมุ่งเป้าสู่โรดแมพด้านความปลอดภัยและมั่นคงทางอาหารในปี 2573
ซึ่งทุกหัวข้อที่ว่ามานี้ มีการหาการหารือกันมาตลอดทั้งปีในระดับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสเอเปคจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนงานของเอเปคในแต่ละปี และหลังจากการรับรองเอกสารในวันนี้แล้ว ก็จะส่งต่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปครับทราบ จากนั้นจะส่งต่อให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รับรองในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้
และนอกเหนือจาก วงประชุมเอเปคของภาครัฐแล้ว อีกเวทีที่มีสำคัญซึ่งจัดคู่ขนานกันไป ก็คือ การประชุม APEC CEO Summit 2022 ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค เป็นการประชุมที่รวมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำจำนวนมาก มาแลกเปลี่ยนมุมมองทางการค้า การลงทุน และการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้ภาคเอกชนในเอเชีย
แปซิฟิค ได้มีความร่วมมือใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังจะช่วยเปิดเวทีการค้าและการลงทุนที่หลากหลาย ตลอดจนการจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั้งโลกกำลังเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ซึ่งล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมกับตัวแทน แชร์แมนเอเปคอีก 6 แห่ง อาทิ สิงคโปร์ แคนาดา มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ได้ร่วมกันแถลงข่าว บทสรุปข้อแนะนำ
จากภาคเอกชน ABAC ต่อภาคนโยบายและผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ว่า ได้ข้อสรุปจากข้อเสนอแนะรวมทั้งสิ้น 69 ข้อ
ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 2 แนวทาง ได้แก่ “การส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” และ “การกลับมาสร้างแรงกระตุ้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และมีความยืดหยุ่น” รวมทั้งจะเน้นเรื่องการก้าวสู่ความยั่งยืน, การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยผ่านดิจิทัล โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะทำการส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์แก่ผู้นำเอเปคต่อไป
กลับไปดูบรรยากาศภายในศูนย์การประชุมกันบ้าง วันนี้มีความระทึกเกิดขึ้นเล็กน้อย โดยในช่วงประมาณ 10 นาฬิกา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินเยี่ยมชมการปฏิบัติการของสื่อมวลชนทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติ แล้วก็ได้หยุดให้สัมภาษณ์ บริเวณหน้าศูนย์ สื่อมวลชนปรากฎว่าพอสัมภาษณ์เสร็จ วงนักข่าวก็สลายตัว เหลือเพียงกระเป๋าเป้สีน้ำเงินใบหนึ่งวางกองอยู่กับพื้น ตำรวจที่อยู่บริเวณนั้นได้ตะโกนถามสื่อมวลชนว่าเป็นของใคร แต่ก็ไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของจึงได้ประสานงานเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดอีโอดีให้มาตรวจสอบ พร้อมกับปิดพื้นที่
ระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่อีโอดีมาตรวจสอบประมาณ 10 นาที ก็มีชายคนหนึ่งเข้ามา แสดงตัวว่าเป็นสื่อต่างชาติ และบอกว่าเขาเป็นเจ้าของกระเป๋าที่วางทิ้งไว้ ตำรวจจึงได้ขอให้แสดงบัตรสื่อมวลชน พร้อมกับเปิดกระเป๋าเพื่อตรวจสอบ แต่ไม่สิ่งผิดปกติ เจ้าหน้าที่จึงคืนกระเป๋าให้ชายคนดังกล่าว
สำหรับเหตุการณ์นี้ ถือเป็นการพบวัตถุต้องสงสัยครั้งแรก ระหว่างที่มีการจัดการประชุมภายในศูนย์ประชุมฯแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งถือเป็นการทดสอบระบบรักษาความปลอดภัย ก่อนที่การประชุมผู้นำเอเปคอย่างเต็มรูปแบบจะเริ่มขึ้นในวันที่ 18 พ.ย.นี้