จากกรณีมีกระแสข่าวว่า สำนักงานกกต. เสนอ ให้ที่ประชุม กกต. มีคำสั่งให้เป็นกรณีความปรากฏต่อกกต. ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้ง และการยินยอมให้พรรคการเมืองส่งชื่อตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงยอมให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หรือไม่นั้น
ตามการดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าว กกต. เคยแจ้งความดำเนินคดี ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าอนาคตใหม่มาแล้ว ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมีให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด (หุ้นสื่อ)
แต่ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดี คือ สั่งไม่ฟ้องนายธนาธร ในความผิดฐานดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3), 151 วรรคหนึ่ง โดยคดีนี้อัยการสูงสุด มีความเห็นว่าการดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาจำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โดยอัยการสูงสุดเห็นว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงของคำให้การพยานเพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญาโจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงหรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้โดยลำพัง
พลิกข้อกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 โทษอาญาหนัก! ตัดสิทธิ 20 ปี
กกต.ถกคำร้องปมหุ้นสื่อ "พิธา" เล็งตั้งเรื่องเอง สอบตาม ม.151
นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่านายธนาธรมีพฤติกรรมใดเกี่ยวข้องกับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ภายหลังจากวันที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วที่จะทำให้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายธนาธรยังคงถือหุ้นอยู่ ในขณะเกิดเหตุหรือมิได้โอนหุ้นของตนให้แก่นางสมพรแต่อย่างใด อีกทั้งนายธนาธรมิได้เป็นผู้มีอำนาจจัดการ แทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นตามแบบ บอจ.5 ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ ทราบ การที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพิ่งแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทล่าช้า จึงยังไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่นายธนาธรได้ ประกอบกับคดีนี้นายธนาธรให้การปฏิเสธตลอดมา จึงเห็นว่าพยานหลักฐาน ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟ้องและพิสูจน์ความผิดของนายธนาธรได้
อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องนายธนาธร ตามความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 42 (3)
โดยนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เคยแถลงชี้แจงกรณีดังกล่าวไว้ว่า เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญานายธนาธรจึงไม่มีความผิดในข้อหาคดีอาญา คือพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีนี้ แต่ส่วนการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของการเป็น ส.ส.ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกไปแล้ว ผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องเรียนว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน อันนี้อัยการพิจารณาเฉพาะในส่วนของข้อหาคดีอาญา ซึ่งอัยการดูเรื่องเจตนาจากพยานหลักฐานทั้งหมดพบว่านายธนาธรน่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา และขอย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ท่านวินิจฉัยในเรื่องของคุณสมบัติต้องห้ามของนายธนาธรในการเป็น ส.ส.