สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในเมียนมา ที่ดำเนินมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2021 ถือเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในหลากหลายด้าน ทั้งต่อเมียนมาเอง และต่อประชาคมอาเซียนซึ่งเมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิก
ที่ผ่านมา ชาติอาเซียนเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี แต่ไม่ได้รับการตอบสนองที่น่าพึงพอใจ เป็นเหตุให้เกิดการ “แบน” ผู้นำทางทหารเมียนมาไม่ให้เข้าร่วมการประชุมอาเซียน
เรื่องที่เกิดขึ้นจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยคงไม่ได้ และเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคก้าวไกล ซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เคยระบุว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตั้งใจที่จะดำเนินนโยบายต่อเมียนมาที่แตกต่างจากรัฐบาลเดิม
ล่าสุดวันนี้ (20 มิ.ย.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาษาอังกฤษถึงสถานการณ์ของเมียนมาในหัวข้อ “ความมุ่งมั่นของพรรคก้าวไกลในการจัดการกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา”
กต.ชี้แจงกรณี พบปะอย่างไม่เป็นทางการผลกระทบความขัดแย้งกับเมียนมา
รมว.กต.อาเซียน เมิน ประชุมหารือแบบไม่เป็นทางการเรื่องเมียนมาในไทย
เลขา ครป. ร้อง “ดอน” ยุติบทบาท หลังเชิญเมียนมาร่วมการประชุมไม่เป็นทางการ
โพสต์ระบุว่า “สำหรับสถานการณ์ของเมียนมา ผมและทีมงานกำลังติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากที่สุด สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือความเห็นที่แตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลและข้าพเจ้าขอยืนยันในประเด็นต่อไปนี้:
“1. ความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ต่อการยึดอาเซียนเป็นศูนย์กลาง: เราเชื่อในการดำเนินการที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองที่นำโดยอาเซียน เราขอย้ำอย่างหนักแน่น ถึงการสนับสนุนการดำเนินการภายในกรอบอาเซียน รวมถึงการดำเนินการโดยประธานอาเซียนทั้งคนก่อนและคนปัจจุบัน เพื่อบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในฉันทามติ 5 ประการ (5PC) ในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน เราให้ความสำคัญอย่างสูงต่อความสามัคคีในหมู่สมาชิกอาเซียน และสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน
“2. ความเกื้อกูลกันของผลประโยชน์ของอาเซียนและเพื่อนบ้านของเมียนมา: เราพยายามเสริมสร้างผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของอาเซียนและเพื่อนบ้านของเมียนมาต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งเป็นเมียนมาที่มั่นคง มั่งคั่ง และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในฐานะสมาชิกที่สมบูรณ์ของอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศ ในเรื่องนี้ เราจะรับประกันการประสานงานอย่างใกล้ชิดและการปรึกษาหารือเป็นประจำระหว่างทุกฝ่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในประเด็นนี้ ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก
“3. การมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมเพื่อการรักษาเสถียรภาพ: เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการมีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเข้าถึงการแก้ปัญหาขั้นสุดท้าย กลยุทธ์การมีส่วนร่วมใด ๆ จะต้องครอบคลุม มีหลายชั้น และเหมาะสมที่จะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพของเมียนมาตามวัตถุประสงค์และหลักการที่ตกลงร่วมกันภายในกรอบของอาเซียน รวมถึงที่ผู้นำอาเซียนรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องของสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติในการหาทางออกทางการทูตต่อสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงผ่านสำนักงานเลขาธิการ
“4. ความมุ่งเน้นด้านความมั่นคงของมนุษย์: กลยุทธ์ของเราสำหรับเมียนมาจะให้ความสำคัญกับการพิจารณาด้านความมั่นคงของมนุษย์ โดยเน้นหนักทั้งด้านมนุษยธรรมและด้านเศรษฐกิจ ภายในประเทศไทย การดำเนินการนี้อาจเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมาคมมนุษยธรรม-เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเวทีที่ไม่เพียงแต่จะจัดการกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในทันที แต่ยังสร้างโอกาสสำหรับทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่จะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายต่อเศรษฐกิจไทย ส่วนในระดับภูมิภาค เราวางแผนที่จะสนับสนุนความคิดริเริ่มเพื่อให้แน่ใจว่า การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นไม่มีการเลือกปฏิบัติและครอบคลุมทุกกลุ่ม
“5. ความท้าทายหลายมิติ: ประเทศไทยตระหนักดีว่า ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเมียนมาครอบคลุมมิติต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการไหลของผู้อพยพที่ไม่ปกติ ความมั่นคงด้านพลังงาน โทรคมนาคมและการหลอกลวงทางออนไลน์ การค้าอาวุธผิดกฎหมาย หมอกควันข้ามแดน ภัยสุขภาพ การค้ามนุษย์ และการลักลอบขนยาเสพติด ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของเรา แนวร่วมที่นำโดยพรรคก้าวไกลวางแผนที่จะจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจระหว่างหน่วยงานของเมียนมาภายใต้ขอบเขตของสำนักนายกรัฐมนตรี กองกำลังเฉพาะกิจนี้จะประสานความพยายามหลายด้านและแสวงหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้สำหรับความท้าทายด้านต่าง ๆ ของเมียนมา”
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งยังเป็นการดำเนินงานของรัฐบาลรักษาการ เชิญตัวแทนเมียนมาและสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมไม่เป็นทางการ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การกระทำของรัฐบาลรักษาการของไทยเสี่ยงเป็นการให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลทหารเมียนมา และถือเป็นท่าทีที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่นอกเหนือฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน