นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เปิดเผยถึงกรณีการซื้อที่ดินของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ว่าเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง ด้วยการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสารสิน กรุงเทพมหานคร เดิมมีราคาอยู่ที่ 1,570 ล้านบาท เนื้อที่ 399.7 ตาราวา ซึ่งเมื่อปี 62 เดิมที่ดินย่านนี้ราคาตารางวาละ 1 ล้านบาท แต่บริษัทประเมินซื้อขายอยู่ที่ ราคาตารางวาละ 3.93 ล้านบาท นายชูวิทย์ อ้างว่าแพงที่สุดในประเทศไทย
โดยที่ดินแปลงดังกล่าว มีชื่อผู้เป็นเจ้าของทั้งหมด 12 คนในโฉนดเดียวกัน และกระบวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ ใช้วิธีการโอนแบ่งเป็น 12 วัน จากผู้ขายทั้งหมด 12 คน หรือโอนวันละ 1 คนจนครบ ทำให้เสียภาษีให้กับกรมที่ดินเพียง 59 ล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้หากผู้ขายทั้ง 12 คน โอนที่ดินให้กับผู้ซื้อในวันเดียวกัน จะทำให้เข้าเงื่อนไข เป็นคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งจะต้องจ่ายภาษีให้กรมที่ดิน 59 ล้านบาท และกรมสรรพากรในอัตราก้าวหน้า 35% อีก 521 ล้านบาท รวมภาษีทั้งหมดที่ต้องจ่าย 580 ล้านบาท
“สรรพากรตีไว้ว่าผัวเมีย 2 คน ไม่ได้จดทะเบียนขายบ้านหลังหนึ่งถือว่า 2 คนนั้นเป็นคณะบุคคล ต้องไปเสียเงินได้บุคคลธรรมดาปลายปี นอกเหนือจากต้องเสียค่าธรรมเนียมที่กรมที่ดินแล้ว”
ขณะที่เอกสารรายงานการประชุมของ บมจ.แสนสิริ ในการซื้อที่ดิน ที่ นายชูวิทย์ นำเปิดเผย พบว่า มีลายเซ็นของ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นผู้รับรองการประชุม โดยการประชุมนี้เกิดขึ้นใน 1 วัน แต่มีรายงานทั้งหมด 12 ฉบับ แยกตามชื่อผู้ขาย เพื่อนำไปแยกวันโอนที่สำนักงานที่ดิน ทำให้เสมือนว่าต่างคนต่างขายทั้งที่เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน
“พฤติการณ์ของนายเศรษฐา แสดงให้เห็นว่ามีการร่วมมือกันกับคนขาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคธรรมดาในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน หรือคณะบุคคลตามคำวินิจฉัยของสรรพากร”
นอกจากนี้ นายชูวิทย์ ยังตั้งข้อสงสัยถึงการจ่ายเงินค่าซื้อที่ดิน โดยบริษัทมีการวางมัดจำเป็นเงินสดให้กับผู้ขายที่ดิน 12 คน ไม่เท่ากัน ในสัดส่วน 35 – 50% ซึ่งส่วนใหญ่ได้เงินมัดจำสูงกว่าเงินที่ได้รับวันโอนที่ดิน นายชูวิทย์ จึงเชื่อว่าเงินสดดังกล่าวเป็นเงินทอนให้กับผู้ขาย สะท้อนได้จากราคาซื้อที่ดินที่ถูกทำให้สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
แสนสิริ ปัด “เศรษฐา” เลี่ยงจ่ายภาษีซื้อที่ดินหลายร้อยล้าน ชี้เป็นหน้าที่ของผู้ขาย
“เศรษฐา” โอนหุ้น SIRI ทั้งหมดให้ลูกสาว ลุยการเมืองเต็มตัว
สำหรับความผิด นายชูวิทย์ ระบุว่า เข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำตั้งแต่บุคคล 2 คนขึ้นไป ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยการนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
รวมถึงประมวลกฎหมายรัษฏากร มาตร 37 โดยเจตนาแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานเป็นเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือฉ้อโกง หรือด้วยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท