"เลือก สว." สัญญาณน่าอึดอัดใจ คนทำงานจริงถูกปัดตก อาจได้คนที่ประชาชนไม่ต้องการ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

"สมชัย" ชี้ "เลือก สว." ครั้งนี้ เป็นสัญญาณน่าอึกอัดใจ คนทำงานจริงรั้งท้าย เสี่ยงถูกปัดตก "รสนา" คาด สว.กลุ่มใช้เงิน มีโอกาสเข้ารอบมากสุด กลไกการเลือก ทำให้อาจได้ สว.ที่ประชาชนไม่ต้องการ

จับตาการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ระดับประเทศ วันนี้ (26 มิ.ย. 67) หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต กลุ่ม “บ้านใหญ่” ล็อกผลการเลือกหรือไม่ หลังมีข่าวลือ “สมชาย วงสวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ล็อกเก้าอี้ เตรียมนั่งประธานวุฒิสภา

นอกจากนี้ ฝั่งกูรูการเมืองเชื่อว่า กลุ่ม 200 สว. ที่ผ่านการเลือก สว. ระดับประเทศนี้ ถูกใช้เป็นอาวุธลับเดินเกมองค์กรอิสระ หวังเปลี่ยนกระดานการเมืองไทย

คอนเทนต์แนะนำ
เช็กชื่อผู้สมัคร สว.คนดังผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ ชิงดำเลือก 200 สว.
ทำความรู้จัก "สว.2567” สภาสูงชุดใหม่ – ไร้อำนาจตามบทเฉพาะกาล!
กกต.มีข้อมูลแล้ว! ปมผู้สมัคร สว.นัดรวมตัวส่อแววล็อบบี้-บล็อกโหวต

ภาพบรรยากาศการคัดเลือก 200 สว. ในระดับประเทศ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม ช่างภาพพีพีทีวี
บรรยากาศการคัดเลือก 200 สว. ในระดับประเทศ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม

โดย PPTV ได้พูดคุยกับ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในรายการเข้มข่าวเย็น ช่วงคุยข้ามช็อต Exclusive Talk ถึงกรณีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

เลือก สว. น่าอึดอัดใจ คนทำงานจริงถูกปัดตก

นายสมชัย กล่าวว่า จากการสังเกต สำหรับ สว. กลุ่มประชาสังคม คำว่าประชาสังคม ถูกตีความกว้างเกินไป ตั้งแต่คนที่ช่วยดูแลคนเจ็บป่วย อสม. ไปจนถึงคนที่ช่วยทำดอกไม้งานศพฟรี คนที่เป็น NGO ตัวจริง ถือเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ แม้จะเข้าไปในรอบ 40 คน แต่ก็ได้รับคะแนนในช่วงท้าย ๆ ตาราง เช่น อังคณา นีละไพจิตร ที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ได้คะแนน 16 คะแนน จากคะแนนสูงสุด 49 คะแนน คนที่ได้คะแนนสูงสุดกลับเป็นนักธุรกิจอยู่หอการค้า ซึ่งอาจทำบุญบริจาค อาจถือว่าเป็นประชาสังคม ส่วนกลุ่ม NGO ตัวจริงที่มีคะแนนท้ายตารางเท่ากันก็ต้องมาจับฉลากกันให้เหลือ 1 คน

ภาพที่ปรากฏในขณะนี้ เท่ากับว่า คุณทำอะไร ไม่สำคัญเท่าคุณอยู่กลุ่มไหน สังกัดใคร หรืออยู่ภายใต้การจัดตั้งของใครที่มีการเตรียมการกันมา ซึ่งการจัดตั้งของกลุ่มต่าง ๆ ถือว่าประสบความสำเร็จ

ส่วนเรื่องเส้นแบ่งของความผิดกฎหมาย ตนมองว่า หากใช้เงินในการจ้างคนเข้ามาสมัคร เช่น หากเดินทางมา กทม. จะออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้จะผ่านเข้ารอบ 200 คนหรือเปล่า หรืออาจผ่านเพื่อไปกระจายเข้าสู่รอบเลือกไขว้ต่อไป ซึ่งเมื่อเวลาเลือกไขว้แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะจัดการได้หมด

จากที่สังเกตขณะนี้ อาจมีกลุ่มที่เตรียมการกันมาประสบความสำเร็จไปกว่า 70% แล้ว อาจมี สว. อิสระ ไม่สังกัดฝ่ายใคร หลุดเข้าไปในรอบ 40 คน ประมาณ 30% ส่วนรอบไขว้จะเหลือกี่คนยังไม่ทราบ ตนมองว่าไม่ใช่สัญญาณที่ดี เป็นสัญญาณที่ดูแล้วค่อนข้างอึดอัดใจ เพราะใครที่ทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ กลับถูกปัดตก หรือพวกที่ไม่ถูกปัดตกก็อยู่ท้ายตาราง สุ่มเสี่ยงถูกปัดออก

เลือก สว. ไม่เป็นอิสระ คนหักหลังอาจถูกตามเช็กบิล

นางสาวรสนา กล่าวว่า ประเทศไทยมี สว. มาทุกรูปแบบแล้ว ตั้งแต่ สว. แต่งตั้ง สว. เลือกตั้ง มาจนถึงตอนนี้คือ สว. จัดตั้ง ตนมองว่าจริง ๆ เป็นการจัดตั้งทั้งหมดโดยเงิน หรือโดยอุดมการณ์ เพราะระบบนี้เป็นระบบที่เปิดให้คนต้องมาฆ่าฟันกันจนเหลือกลุ่มสุดท้าย มองว่าใช้เงินได้ผลที่สุด บางคนไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการเป็น สว. แต่ต้องการมาเป็นผู้ออกเสียง หรือ Voter ซึ่งจากตัวอย่างที่ทำดอกไม้งานศพฟรี เขาเข้ามาเป็น Voter

มองว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำให้คำจำกัดความของกลุ่มต่าง ๆ กว้างเอง และไม่มีระบบกลั่นกรอง ซึ่งความจริงต้องมีรายละเอียดและเอกสารประกอบ แต่ครั้งนี้ไม่มี ให้รับรองตัวเองและมีคนรับรอง 1 คน ทำให้ระดมคะแนนมาได้ และคะแนนเหล่านี้เป็นคะแนนผี เพราะตั้งใจเข้ามาเลือกคนอื่น ไม่ได้ตั้งใจเป็น สว. ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตลกมาก ระบบของ กกต. คือ คนที่มาโหวตก็ต้องเสียเงิน คำถามคือ แล้วจะมีคนเสียเงินเพื่อจะมาโหวตคนอื่นหรือไม่

อันที่จริง ต้องบอกว่า กกต. เปิดช่องให้มีการรับรู้กันว่าใครโหวตให้ใคร สามารถตามเช็กบิลได้เลย เช่น เวลาโหวตเรามี 1 คะแนนที่สามารถโหวตให้ตัวเองได้ และโหวตให้คนอื่นได้ 1 คะแนน คุณมี 1 คะแนน คุณไม่โหวตให้ตัวเองก็ได้ แต่สามารถโหวตให้คนอื่นได้ แต่ได้เพียงคนละ 1 คะแนนเท่านั้น กกต. ก็จะต้องจัดตั้งคนมากขึ้น เมื่อมาตามเช็กบัตรแล้วเห็นว่ามีการโหวตตรงกัน ก็จะเห็นได้เลยว่าโหวตให้กัน ซึ่งถูกออกแบบมาให้ทำตั้งแต่ในระดับอำเภอแล้ว

ภาพนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา รายการเข้มข่าวเย็น Exclusive Talk
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา

และกล่องลงคะแนนถูกแบ่งมาเป็นกลุ่ม ๆ เพราะฉะนั้นก็จะรู้หมดว่า กลุ่มที่ 1 จะต้องเลือกกลุ่มอื่น จะเลือกกลุ่มตัวเองไม่ได้ กล่องแต่ละกล่องจะบอกเลยว่าคุณลงคะแนนให้ใครบ้างในแต่ละกลุ่ม เพราะฉะนั้นสามารถตามเช็กบิลง่าย ถ้าใครที่รับเงินมาเป็น Voter แต่กลับไม่โหวตตามโพยที่ให้มา ก็สามารถไปตามเช็กบิลกันได้ ซึ่งโดยหลักการต้องเป็นความลับ แต่กลับไม่เป็นความลับ

ตนเคยสอบถามนักวิชาการด้านกฎหมายบางรายระบุว่า การเลือก สส. ต้องเป็นความลับ แต่ สว. ไม่ได้ระบุว่าเป็นความลับ แต่ตนก็มองว่าต้องเป็นความลับเช่นกัน เพราะสามารถรู้ได้หมดเลยว่าใครเลือกให้ใคร มันไม่เป็นอิสระ

นางสาวรสนา กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่ากลุ่มที่ถูกจัดตั้งโดยการว่าจ้าง เพื่อเข้ามาเป็น Voter พวกนี้ไม่มีปากมีเสียง รู้ตัวว่าเข้ามาเป็น Voter พวกนี้จะไม่ค่อยมีปัญหา จะเงียบ ซึ่งก็จะมีวิธีการในการหลีกเลี่ยงได้ ส่วนกลุ่มคนอิสระที่เข้ามาในรอบที่ลึกขึ้น ก็จะเริ่มรู้สึกว่าเริ่มมีโอกาสได้ มีความสามารถ ก็จะเริ่มมีการหลอกการหักหลังกัน มีระบบการเจรจาต่อรองต่าง ๆ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ สว. ที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นคนที่คุณต้องเข้าไปต่อรอง แลกเปลี่ยน หักหลัง หลอกลวง ทำได้หมดทุกอย่าง

กลไกเลือก สว. อาจได้คนที่ประชาชนไม่ต้องการ

นางสาวรสนา กล่าวว่า งานนี้ไม่ใช่ Popular Vote แต่เป็น Block Vote คุณไม่ให้ประชาชนเลือก แต่กลับกำหนดให้กลุ่มคนเล็ก ๆ มาเลือก และไม่ได้เป็นตัวแทนภาคประชาสังคมจากทุกจังหวัด ทำให้เกิดคำถามว่า สว. เหล่านี้เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยตรงไหน ทีนี้ กติกาเป็นแบบนี้ พอกติกาออกมาแล้ว ตนมองว่าสัดส่วนของกลุ่มใหญ่ ๆ มีมาก ทำให้กลุ่มเหล่านั้นพอใจ ซึ่งหากประเมินว่ามีสัดส่วนน้อย อาจทำให้การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้เป็นโมฆะได้

ตนเกิดความรู้สึกว่า กลไกแบบนี้ตั้งใจออกแบบมาสำหรับพรรคการเมือง เนื่องจากหากเปิดเป็น Popular Vote ให้ประชาชนเลือก อาจทำให้ไม่ได้คนที่ต้องการได้ เพราะฉะนั้นการ Block Vote ครั้งนี้สามารถจัดสัดส่วนได้ชัดเจนว่าจะให้เป็นอย่างไร

จุดสำคัญอยู่ตรงที่ สว. ที่เป็นอิสระหรือเป็นคนที่อ้างว่าเป็นส่วนของประชาธิปไตย จะได้ถึง 1 ใน 3 หรือ 67 คนหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญหรือดำเนินการอื่น ๆ ได้  ถ้าหากกลุ่มประชาธิปไตยเกิดได้เยอะขึ้นมา ก็อาจจะมีโอกาสล้มกระดานได้ เพราะรัฐธรรมนูญล้มกระดานนี้มาตลอด

"สมชัย" เชื่อ เลือก สว. มีการร้องเรียนความโปร่งใส

นายสมชัย กล่าวว่า เชื่อว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใสความเป็นอิสระอยู่แล้ว แต่การร้องอาจมี 2 ลักษณะ

  1. ร้องเรียนตัวบุคคล เช่น อาจขาดคุณสมบัติแต่มาสมัคร แต่กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีผลต่อตัวบุคคลไป ถ้าผ่านเข้าสู่รอบ 200 คนแล้ว และถูกร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติ ก็ต้องหลุดจากตำแหน่งและเลื่อนคนขึ้นมาแทน
  2. การร้องเกี่ยวกับกระบวนการจัดการ ว่าขัดหรือผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว เช่น กรณีที่การเลือกตั้ง สส. ไม่เป็นความลับ สามารถเห็นได้จากนอกคูหา ขณะนั้น กกต. เกือบจะต้องชดใช้เงิน แต่เมื่อทางกระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการสอบสวน กลับระบุว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ร้ายแรง ซึ่งหากมีคำว่าไม่ร้ายแรงเมื่อไหร่ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน

หรืออย่างกรณีการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่มีการรับสมัครได้ไม่ครบทุกเขต มี 28 เขต ที่ถูกปิดกั้นโดยกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนที่ต่อมาท้ายที่สุดศาลจะระบุว่า ไม่ถือเป็นการเลือกตั้งในวันเดียวกัน ทำให้การเลือกตั้งนั้นเสียไป และหากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือก สว. ก็ต้องรอดูคำตัดสินของศาลต่อไป

ภาพนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายการเข้มข่าวเย็น Exclusive Talk
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

"กลุ่มใช้เงิน" กลุ่มเลือก สว. ได้ผลสุด

นางสาวรสนา กล่าวว่า ตนคิดว่าคนที่เข้ามาอาจมีโอกาสได้ โดยที่ไม่ได้มาจากการจัดตั้ง แต่หลังผ่านกระบวนการนั้นแล้ว เห็นชัดเจนว่าถ้าไม่มีการจัดตั้งตนมองว่ายาก ถ้าเป็นพวกบรรดากลุ่มการเมืองที่ถนัดในการจัดตั้ง ก็จะมีการจัดตั้งเป็นลำดับ แต่ในกรณีของคนที่จัดตั้งโดยอุดมการณ์ก็มี ยอมเสียเงินเองเพื่อเข้าไปโหวตคนอื่นก็มี แต่ยังไงสุดท้ายก็ยังเป็นระบบจัดตั้ง ไม่ใช้เงินแต่ใช้อุดมการณ์สำหรับคนที่มีแนวคิดเดียวกัน

ด้านนายสมชัย กล่าวว่า ตนแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม สามกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งจริง ๆ กลุ่มที่ 4 ก็จะเป็นกลุ่มที่มีอิสระจริง ๆ ทีนี้ 3 กลุ่มแรกจะมีความแตกต่างกัน หนึ่งคือใช้เงิน หนักสุด และตรวจสอบดูแล้วดูจะได้ผลมากที่สุด สองคือใช้อำนาจที่ตนมีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง มีความชัดเจนระดับปานกลาง สุดท้ายคือกลุ่มที่จัดตั้งโดยอุดมการณ์ เดิมคนคิดว่ากลุ่มนี้จะแรง แต่กลับไม่แรง และกลุ่มที่ 4 กลุ่มร่วมหมด เป็นอิสระ

ซึ่งกลุ่มอิสระจะโหวตแลกกันสองคน เพื่อไม่ให้ดูขี้เหร่มากเกินไป พวกนี้จะได้คะแนนประมาณ 1-2 คะแนน ได้คะแนนที่ซื่อสัตย์ หรืออาจโดนหักหลัง หรืออีกกลุ่มที่ได้ 0 คะแนน คือกลุ่มที่เทคะแนนให้คนอื่น ๆ หมดเลย ตนประเมินว่ากลุ่มอิสระจะไปหมด

ตนได้ข้อมูลของสายประชาสังคมมาว่า คนที่อยู่หัวตาราง 12 คนแรก ประกอบด้วย นักธุรกิจหอการค้า 3 คน อสม. ชาวบ้าน ชาวสวน เกษตรกร 7 คน ผอ.โรงเรียน ที่ถือว่าอยู่ในกลุ่มอิสระ 1 คน และเป็น NGO ที่ต่อสู้เพื่อคนในสังคม 1 คน ซึ่งจากทั้งหมด 12 คน มี NGO ที่เป็นตัวกลั่นจริง ๆ คนเดียวเท่านั้น

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ต้องบอกว่ากลุ่มทุนที่เชื่อมโยงกับการเมือง ค่อนข้างทำงานประสบความสำเร็จ ทำให้หน้าตาของ สว. ที่จะเกิดขึ้น สัดส่วนส่วนใหญ่จะสะท้อนกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจ และกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน มีในส่วนของวิชาชีพต่าง ๆ ที่อาจจะจัดการได้ดี

จากข้อมูลล่าสุดของกลุ่มการศึกษา พบว่า รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ 10 คะแนน ตกรอบ และในบรรดากลุ่มที่ได้คะแนนมากจะเป็นกลุ่มการศึกษา อาจจะเป็นไปได้ว่า คนที่ผ่านส่วนใหญ่คือครู ครูก็จะเลือกครูด้วยกัน ทำให้บรรดาครูอยู่อันดับต้น ๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะรั้งท้าย

ตัวอย่างเช่น เดิมการประชุมสภามหาวิทยาลัย กลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีบทบาทนำ แต่พอเริ่มขยายวงออกไป มีราชภัฏฯ ราชมงคลต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย เวลาโหวตทีไรแพ้หมด

ตนคิดว่าต้องยอมรับสภาพจากระบบที่ถูกออกแบบมา เพียงแต่ว่าเห็นผลแบบนี้แล้ว จะไปปรับปรุงอย่างไรค่อยว่ากันภายหลัง

อุตุฯ เตือนฉบับ 10 กทม.-44 จังหวัดฝนตกหนัก ถึง 26 มิ.ย.

ก.ตร.จ่อเลื่อนวาระพิจารณา “บิ๊กโจ๊ก” หลังองค์ประชุมไม่ครบ

สรุปผลกลุ่ม C และ D ตารางคะแนน ยูโร 2024 (EURO 2024) ทีมใดเข้ารอบ

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ