สำหรับการเลือก สว. เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติ ต่าง ๆ ทั้ง การเจอโพยที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเลือก สว. หรือ การไม่กรอกประสบการณ์การทำงานแต่กลับได้คะแนนสูงผิดปกติ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
เริ่มจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ภาพกระดาษ ที่ด้านในมีตาราง ระบุข้อความ กลุ่ม 1-20 โดยด้านในยังมีตัวเลขต่างๆ พร้อมข้อความระบุว่า “โพยสำเร็จรูป ของอะไรก็ไม่รู้ มีคนทำตกแถวเมืองทองธานี”
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. ก็โพสต์ ข้อความ ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นเหมือนหลายคนที่รอลุ้นผลคะแนนการเลือก สว. ระดับประเทศ เพราะรู้มาตลอดว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ ได้ละเลยการตรวจสอบจริงจังในเชิงลึกถึงขบวนการจัดจ้างใช้เกณฑ์คนในเข้าไปโหวตฮั้ว การเลือก สว .ในระดับอำเภอและจังหวัด มาแต่ต้น
ทั้งที่เห็นชัดเจนมาตั้งแต่หมู่บ้านตำบล คือการจ้างคนไปลงสมัคร ที่ต้องเสียสละเงินในการไปถ่ายรูป, ตรวจสุขภาพ, ค่ารถ, โดยสาร, ค่าข้าว, ค่าสมัคร รวมถึงคนละ 4,000 บาทในระดับอำเภอ และหากผ่านเข้ารอบจังหวัด ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมคือค่ารถไปนอนค้างโรงแรมที่จังหวัดก่อนเลือก สว. 1 คืน รวมแล้ว 5,000 - 6,000บาท แต่คนเหล่านั้นเกิดมีแรงบันดาลใจใดเสียสละคะแนนทั้งหมด ไม่ลงให้ตนเองเลย หรือที่เราเรียกปรากฏการณ์จัดเทฮั้ว 0 คะแนน แบบกลุ่มต่าง ๆ ที่บุรีรัมย์และทั่วประเทศ ดังนั้นการเลือกรอบประเทศ ก็จะมีปรากฏการณ์ 0 คะแนนแบบเดียวกัน เพื่อเทไปให้กลุ่มจัดฮั้วที่เป็นเป้าหมาย เพื่อชิงคะแนนเป็นอันดับ 1-10 ในทุกกลุ่ม
นายสมชาย บอกอีกว่า เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นได้เพราะช่องว่างทางกฎหมายหรือผู้มีหน้าที่ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดฐานทุจริตหรือละเว้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ โดยตัวอย่างที่ กกต. สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือเอาผิดกับผู้สมัครรับจ้างโหวตที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้คือการไต่สวนสอบปากคำ ผู้ที่ไม่ลงคะแนนทั้งหมด หรือ 0 คะแนน ถึงมูลเหตุจูงใจใด ที่ชาวบ้านเหล่านี้มีค่าใช่จ่ายลงสมัครมากมายแต่ไม่ลงคะแนนให้ตนเองในรอบจังหวัด เช่น กลุ่ม14 กลุ่มสตรี มีผู้สมัครมีสิทธิโหวต 55 คน แต่ไม่ลงคะแนนให้ตนเองมากถึง 37 คน และพร้อมใจเทคะแนนไปเลือกอันดับ 1 ถึง 29 คะแนน อันดับ 2 ถึง 25 คะแนน
เช่นเดียวกับนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีผู้สมัครที่มาจากจังหวัดบุรีรัมย์ แนะนำตัวแค่เพียงว่าเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน และ เป็นกรรมการหมู่บ้าน เป็น อสม. แต่กลับได้คะแนนสูง ส่วน น.ส.อังคณา นีละไพจิตร มาจาก กทม.ได้ 16 คะแนน
ขณะที่ นายสุผจญ กลิ่นสุวรรณ พิธีกร และ ผู้สมัคร สว. โพสต์ภาพข้อความประสบการณ์ของผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ ในกลุ่มสื่อ ที่มีการระบุประสบการณ์ เอาไว้อย่างหลากหลาย เช่น การทำงานพิธีกรต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีบางโพสต์ที่มีการระบุว่า มีผู้ที่ผ่านรอบแรก 40 คน ของผู้สมัครในกลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม ที่มีคะแนนตั้งแต่ 20 ไปจนถึงสูงสุดที่ 49 คะแนน ซึ่งในกลุ่มนี้มี อาสาชุมชน, อสม., อปพร. ที่ไม่กรอกประสบการณ์ทำงานใด ๆ เลย ทั้งการศึกษาและการทำงาน มากถึง 16 คน ขณะที่คนทำงาน NGO จริง ร่วงหรือได้คะแนนมากสุด 16 คะแนน หลุดเข้ารอบชิงไม่ถึง 10 คน
ล่าสุด รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ออกมาโพสต์ภาพประวัติของ ว่าที่ สว. กลุ่มที่ 13 กลุ่มอาชีพด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม ผ่านเฟซบุ๊กพร้อมข้อความระบุว่า ลองหาประวัติว่าที่ สว.จากกูเกิ้ล เท่าที่พอจะหาได้ก็ดูน่าสนใจดี
1.นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม : อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองบัวลำภู 2 สมัย และอดีตคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
2.นายพรเพิ่ม ทองศรี : อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย พรรคพลังประชาชน และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งเป็นพี่ชายของ ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ เศรษฐา ทวีสิน
3.นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ : อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
4.นายกัมพล ทองชิว : ผู้พบต้นตะเคียนยักษ์อายุนับ 100 ปี ที่วัดบางกระเจ้า ม.6 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
5.นายสิทธิรัชต์ จารุไชยกุล : รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี
6.นายสุพัตรชัย เตียวเจริญโสภา : กรรมการประเภท ผู้แทนสถานประกอบการ วิทยาลัยการอาชีพปราสาท จังหวัดสุรินทร์
7.นายขวัญชัย แสนหิรัณย์ : ผู้บริหารบริษัท เอ เค โฮม ไอเดีย จำกัด จังหวัดอ่างทอง
8.นายนพดล พริ้งสกุล : ผู้บริหารบริษัทกรุงเทพ ท่อลอดไทย จำกัด กรุงเทพฯ
9.นายชาญวิศว์ บรรจงการ : อดีตผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพังงา พรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ
10.นายมานะ มหาสุวีระชัย : หัวหน้าพรรคแทนคุณแผ่นดิน อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
สรุป 16 ทีมสุดท้าย ยูโร 2024 โปรแกรมรอบน็อกเอาต์ เวลาแข่งขัน EURO 2024
วิจารณ์ยับ! พิรุธเลือก สว.ระดับประเทศ แฉโพยว่อน-คุณสมบัติไม่ตรงปก
มติก.ตร. 12 ต่อ 0 ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน ถูกต้องแล้ว