รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในขณะนี้ดูเหมือนจะมีเสถียรภาพและแข็งแกร่งอย่างมาก จากการรวบรวมขุมอำนาจที่แข็งแกร่งจนมีเสียง สส. ในสภามากกว่า 300 เสียง
แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลแพทองธารยังคงเผชิญแรงเสียดทานสูง จากหลายทิศทาง ซึ่งนักวิเคราะห์ที่มาในรายการ เข้มข่าวเย็น ช่วง Exclusive Talk ทางช่อง PPTV HD 36 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 มองว่า ณ เวลานี้มีสมรภูมิที่น่ากลัวอยู่ 3 ทิศ และกับระเบิดที่ถึงตายอยู่อีก 3 ลูก
อุตุฯ เตือนช่วง 13-19 ก.ย. นี้ เฝ้าระวัง “ฝนตกหนัก”
เช็กสถิติ 10 นัดหลัง บอลไทย พบ เวียดนาม ก่อนศึก LP BANK CUP 2024
รวบ “อิงฟ้า-อารยา” นางแบบสาวชื่อดัง แปะลิงก์ชวนเล่นพนัน!
สมรภูมิ 3 ทิศ
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า สมรภูมิหลักที่รัฐบาลแพทองธารต้องเผชิญ เป็นสมรภูมินอกสภา
ทั้งนี้เนื่องจากในสภาเสียงฝั่งรัฐบาลค่อนข้างแข็งแกร่ง อาจมีที่น่ากังวลอยู่บ้างคือพรรคพลังประชารัฐที่แตกขั้วมา เกิดเป็นภาพของปรากฏการณ์แปลกที่เรียกว่า “รัฐบาลในฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านในรัฐบาล”
โดย สส. พรรคพลังประชารัฐ 2 ส่วน กลุ่มหนึ่งอยู่กับรัฐบาลเพื่อไทย อีกกลุ่มไปอยู่ฝ่ายค้าน ไม่รู้ว่าจะอภิปรายกันอย่างไร อาจเกิดภาพซีกหนึ่งอภิปรายสนับสนุน อีกซีกค้าน เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามว่า พลังประชารัฐจะแสดงบทบาทออกมาท่าไหนในรัฐสภา
ส่วนประชาธิปัตย์ รศ.ดร.พิชายมองว่าไม่น่ากังวลเท่าไร เพราะไม่มีความขัดแย้งชัดเจน ที่เหลือมีแค่ 4 คนเท่านั้นที่เป็น 4 ผู้อาวุโสหลัก อาจมีอภิปรายบ้าง แต่จะเป็นในลักษณะไม่สนับสนุนรัฐบาล และไม่ค้านหนักมาก
แต่ที่น่ากังวลสำหรับรัฐบาลคือสมรภูมินอกสภา ซึ่งอาจารย์พิชายบอกว่ามีอยู่ 3 แนวรบใหญ่
“แนวรบแรกคือ เรื่องการร้องเรียนต่าง ๆ จะเป็นประเด็นหนักที่สุดสำหรับรรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากเรื่องที่ร้องมีทั้งเรื่องสัพเพเหระเลอะเทอะ แต่เรื่องมีเนื้อหนังมังสาก็มี ที่สำคัญ คนร้องสังกัดฝ่ายเดียวกับพลังประชารัฐ ซึ่งยังมีเครือข่ายในองค์กรอิสระ แม้จะใกล้หมดอายุแต่ยังมีอยู่ ยื่นอะไรไปอาจทำได้รวดเร็ว” รศ.ดร.พิชายกล่าว
อาจารย์ให้นึกภาพเหมือนที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร โดนเมื่อปี 2544 เป็นเกมในลักษณะนั้น คือใช้ทรัพยากรและเครือข่ายดึงเสียงองค์กรอิสระมาเป็นพวก ดังนั้น สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่แน่นอน ใครประมาทมีโอกาสร่วงได้ ลำพังดูตัวเลขเสียงในสภาอย่างเดียวไม่ได้
“แนวรบที่สอง คือม็อบต่าง ๆ โดยตอนนี้ถึงแม้ส่วนบนของพรรคที่เป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ หรือประชาธิปัตย์ จะร่วมกันได้ แต่มวลชนที่สนับสนุนอาจไม่เอาด้วย” อาจารย์กล่าว
เขาเสริมว่า “มวลชนที่ไม่ชอบคุณทักษิณยังมี และมีหลายระดับ ทั้งระดับใหญ่โต กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มเข้ามาพบปะทักทายกันมากขึ้น เริ่มสนับสนุนการเคลื่อนไหวนอกสภาต่าง ๆ มากขึ้น ม็อบ คปท. สมัยอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไม่มีพลัง ทรัพยากรน้อย คนน้อย เพราะยังไม่เกิดจุดร่วม นั่นคือการเข้ามามีอำนาจโดยตรงของตระกูลชินวัตร”
นั่นทำให้ตอนนี้เริ่มมองเห็นความขัดแย้งข้างหน้า ทรัพยากรต่าง ๆ ที่ลงไปยังม็อบทั้งการสนับสนุนเงินหรือสิ่งอื่น ๆ มีมากขึ้น นักวิชาการบางท่านเริ่มขึ้นเวทีแล้ว
“และแนวรบที่สาม คือสมรภูมิออนไลน์ ซึ่งมีการสู้กันมาตลอด ช่วงชิงคะแนนนิยม โดยจะเห้นว่า ทุกสมรภูมิที่พูดถึงมีคู่ต่อสู้ต่างกัน ในสภาคู่ต่อสู้หลักคือพรรคประชาชน นอกสภา นิติสงครามสู้กับพลังประชารัฐ การต่อสู่บนท้องถนนเป็นศัตรูกับปรปักษ์เก่าของคุณทักษิณ และในโซเชียลก็เพื่อไทยกับประชาชน ดังนั้นตอนนี้มีโจทก์รอบตัว” รศ.ดร.พิชายบอก
ด้าน รศ.พรชัย เทพปัญญา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เสริมว่า ตอนนี้ความขัดแย้งรออยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ การลงถนนจะจุดติดหรือไม่ และที่สำคัญคือมีทรัพยากรหรือไม่
นอกจากนี้ ถ้ามองภาพที่ม็อบจะโค่นล้มรัฐบาลหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องมี 2 กลุ่มสำคัญ คือ “นิสิตนักศึกษา” เหมือน 14 ตุลา อย่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนที่ลงถนนคือนักเรียนนักศึกษา กับอีกกลุ่มคือ “ชนชั้นกลาง” เหมือนในยุคพฤษภาทมิฬ ม็อบมือถือ ดังนั้นม็อบที่อาจจะเกิดขึ้นต้องดูว่ามีคนรุ่นใหม่ร่วมหรือไม่ มีชนชั้นกลางร่วมหรือไม่
อาจารย์พรชัยบอกว่า “ระยะเวลา 17 ปียังเป็นปมอยู่ ต่างฝ่ายต่างไม่ลืม คุณทักษิณก็ไม่ลืม ศัตรูคุณทักษิณก็ไม่ลืม หัวโจกที่เป็นข้อขัดแย้งในอดีตเขาคงไม่ยุ่งแล้ว ตัวตายตัวแทนไม่มี ผู้นำในการประท้วงอาจไม่มี ต้องมีคนเรียกแขก สำคัญคือ นิสิตนักศึกษา เขาจะเห้นประเด็นเหล่านี้หรือไม่ ถ้าเขาไม่รู้จักคุณทักษิณก็อาจไม่ออกมาประท้วง”
กับระเบิด 3 ลูก
รศ.ดร.พิชายบอกว่า ตอนนี้รัฐบาลแพทองธารเหมือนแข็งแรง แต่ทุกอย่างมีพลวัตเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สถานการณ์ระยะยาวพูดลำบาก
กระนั้น ประเด็นสำคัญคือ นโยบายของรัฐบาลตอนนี้ซุกซ่อนกับระเบิดเอาไว้อยู่ อาจมีอะไรที่เป็นตัวจุดชนวนระเบิดนั้นจนรัฐบาลเสียหาย ซึ่งอาจารย์พิชายมองว่า มีอยู่ 3-4 ลูก
“ลูกที่หนึ่ง เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นระเบิดลูกใหญ่ เพราะอาจกระทบศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมของคนจำนวนมากในประเทศไทย ถ้ารัฐบาลขับเคลื่อน คงเจอแรงต่อต้านไม่น้อย” อาจารย์พิชายบอก
เขากล่าวต่อว่า “ลูกที่สอง กับดักใหญ่ คือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา คนที่รักชาติอาจออกมาบนท้องถนนถ้าไปเจรจา เพราะตอนนี้ตามความเข้าใจของคนไทยกับคนกัมพูชาไม่เหมือนกัน คนไทยมองว่าเป็นของไทยเกือบ 100% หรือ 90 % ถ้าคุณทักษิณไปเจรจาแบบ ‘แบ่งครึ่ง’ ขึ้นมา ระเบิดลูกใหญ่ลงรัฐบาลแน่นอน แต่ถ้าไม่ทำ ทรัพยากรก็ไม่ได้ใช้ ... ต้องทำให้คนไทยยอมรับ แต่กลุ่มรักชาติจะยอมไม่ได้เลย ไม่ว่ากลุ่มขวาจัดหรือขวาธรรมดา จะไม่ยอมประเด็นนี้เด็ดขาด”
ส่วนระเบิดลูกสุดท้ายหลายคนอาจคาดเดากันได้ รศ.ดร.พิชายบอกว่าคือ “ดิจิทัลวอลเละ” โดยชี้ว่าไม่ใช่วอลเล็ต เพราะเละไปแล้ว กลายเป็นการแจกเงินธรรมดา ไม่มีอะไรเหมือนที่เคยหาเสียงไว้แม้แต่นิดเดียว
“ทำไมตอนหาเสียงไม่บอกแจกเงินสดไปเลย แต่อาจถูกฟ้อง เพราะเหมือนซื้อเสียง ตอนหาเสียงเลยหาอีกแบบ ทำจริงแล้วเป็นอีกแบบ เป็นการเล่นแร่แปรธาตุเชิงนโยบาย แต่นโยบายไม่ได้เข้มข้นเข้มแข็ง แก้รัฐธรรมนูญที่เคยบอกไว้ยังไม่เห็น ต้องถามว่าจะทำกี่โมง” คุณพิชายบอก
นอกจากนี้ยังมีระเบิดลูกที่ 4 รออยู่ นั่นคือ “นโยบายเร่งด่วน 10 ประการ” ที่เพิ่งประกาศออกมา ซึ่งนักวิเคราะห์ทั้งสองท่านมองว่า ไม่มีนโยบายไหนทำได้อย่างรวดเร็วเลย
รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า “ผมดูแล้ว ไม่มีนโยบายไหนทำเร็วได้เลย นอกจากแจกเงิน เพราะอย่างการปรับหนี้ก็ทำได้ยาก กว่าจะคุยหาวิธี หรือช่วยธุรกิจ SMEs สู้กับแพลตฟอร์มสินค้าต่างชาติ ไม่เขียนสักนิดว่าจะใช้วิธีการอะไร แล้วบอกช่วยแบบเดิม ๆ ทำ Matching Fund หรือลดหนี้ ซึ่งเขาทำอยู่แล้ว แต่การจะทำให้ยืนได้อย่างแข็งแกร่งกลับไม่ได้บอกบอกว่าต้องทำอย่างไร ถ้าแน่จริงบอกเลยว่าจะขึ้นภาษีสินค้าแพลตฟอร์มต่างชาติ 200% เห็นภาพ เพราะจะเข้ามาตัดราคาสินค้าเราไม่ได้ หรือไม่กล้าทำไม่รู้”
รศ.พรชัยเสริมว่า “ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือน แก้ไม่ได้แน่นอน รับประกันเลย เพราะรัฐบาลไม่รู้นิสัยคน การใช้หนี้แล้วก่อหนี้ใหม่เป็นวัฏความยากจน การปรับหนี้แก้ไม่ถูกจุด ต้องให้คนมีงาน มีหทางแก้ชีวิตที่ดีขึ้น และได้เลื่อนเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่เร่งด่วนไม่ได้”
อาจารย์พรชัยย้ำว่า นโยบายเร่งด่วนทั้งหมด 10 ข้อที่เสนอมา ไม่เชื่อเลยสักอันว่าจะทำได้ภายใน 3 ปี เพราะมันเป็นเรื่องระยะยาวทั้งนั้น มองว่านายกฯ หรือคนที่เขียนให้นายกฯ แยกไม่ได้ว่าอะไรด่วน อย่างค่าไฟ แก๊ส น้ำมัน ลดกี่บาท อันนี้ด่วน ส่วนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต้องรออีกกี่ชาติ รถไฟฟ้า 20 บาททุกสายต้องรออีกกี่ชาติ เรื่องเร่งด่วนคือเรื่องที่ต้องทำได้ทันที จะทำได้เมื่อไรต้องบอกมา
อาจารย์พิชายมองว่า นโยบายเกือบทั้งหมดจะทำให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีเป็นไปได้ยาก แทบไม่มีโอกาส ตัวเปลี่ยนเกมเดียวที่พอจะทำคะแนนบวกได้บ้าง คือแจกเงินหมื่น ซึ่งก็เป็นนโยบายที่มีหลายปัญหาในตัวเอง
“ความหวังของรัฐบาลมองไม่ค่อยเห็น อาจมีความหวังจะใช้เมกะโปรเจกต์กระตุ้นความรู้สึกทางจิตวิทยา ว่าไทยมีโครงการใหญ่ ส่งผลต่อการลงทุน สร้างภาพลวงตาของการลงทุน แต่เศรษฐกิจจริง ๆ ไม่ว่าจะภาคการผลิต การดำรงชีพของประชาชน มันไม่ก่อให้เกิดสิ่งดีเลย” อาจารย์พิชายสรุป