ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ได้ประชุมครั้งแรก เพื่อรัฐบาลชุดแรก คือ รัฐบาลพระยาโนปกรณ์นิติธาดา และ ตั้งคณะอนุกรรมการสภาไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ดังที่มีการบันทึกเล่ากันสืบมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ว่าในวันนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะได้สร้างขึ้นมาด้วยเวลากระทันหัน อาจมีข้อบกพร่องได้ จึงควรจะได้ตั้งผู้มีความรู้ความชำนาญตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่”
เตือนอย่าเพิ่งด่วนสรุป! ปม “น้องผิง” เสียชีวิตจากนวด แนะรอผลชันสูตรก่อน
ปธน.เกาหลีใต้ “ยุน ซอกยอล” เป็นผู้ต้องสงสัยฐาน “กบฏ-ใช้อำนาจในทางมิชอบ”
ผลตรวจยาเสพติดปาร์ตี้หนุ่มกล้ามโตทองหล่อ ครอบครองยา 31 คน เสพยา 66 คน
ที่ประชุมเห็นชอบ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตบดี
3. พระยามานวราชเสวี
4. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์
5. พระยาปรีดานฤเบศร์
6. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
7. นายพันตรีหลวงสินาดโยธารักษ์
ต่อมาในเดือน ก.ย. พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาประธานกรรมการราษฎรได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ตั้งพระยาศรีวิศาลวาจา กับนายพลเรือโทพระยาราชวังสัน เพิ่มเติม เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนทั้งหมดเป็น 9 คน
คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดการร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงต้นเดือนพ.ย. พ.ศ. 2475 ก็สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้เรียบร้อย นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในวันที่ 16 พ.ย. พ.ศ. 2475 โดยให้เวลาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับร่างไป อ่านประมาณ 10 วัน และได้นำร่างรัฐธรรมนูญกลับมาเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเริ่มพิจารณารายละเอียดอีกในวันที่ 25 พ.ย. พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอให้สภาพิจารณาทุกวันตั้งแต่เช้าจนเย็น เพื่อจะได้พิจารณาให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลาสิ้นเดือนพ.ย. เพราะได้มีฤกษ์วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วว่าเป็นวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 เรื่องของฤกษ์ของยามนี้ พระยามโนปกรณ์เป็นผู้บอกกับที่ประชุมสภาเองว่า
“เมื่อได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตรทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ 3 ฤกษ์ ฤกษ์ 1 ตกวันที่ 1 ธ.ค. ฤกษ์ 2 ตกวันที่ 10 ธ.ค. ฤกษ์ 3 ไปตกกลางเดือนมกราคม จึงได้คิดว่าสำหรับฤกษ์หนึ่งนั้นเวลากระชั้นเกินไปคงไม่ทัน จึงได้กำหนดเป็นวันที่ 10 ธ.ค.… โดยที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะให้ขลัง เพราะฉะนั้นต้องการเขียนใส่สมุดไทยซึ่งจะกินเวลาหลายวัน...”
ในที่สุดการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้เรียบร้อย แม้จะมีการถกเถียงกันอยู่พอสมควรก็ตาม เนื้อหาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนั้น พระยามโนปกรณ์ฯ ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการ ร่างก็ได้ให้ความเห็นไว้ในคำแถลงของท่านเองที่สั้นกระชับและให้ภาพรวมที่แท้จริงว่า
“ข้าพเจ้าขอเสนอว่าถ้าอ่านไปจนตลอดแล้วในหลักการสำคัญร่างใหม่นี้เป็นรูปพระธรรมนูญอย่างราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวฉบับเดิม เว้นแต่ว่าได้จัดรูปเสียใหม่...ในการเพิ่มเติมข้อความหรือตัดข้อความก็ตาม อนุกรรมการได้ค้นคว้าหาแบบแผนธรรมนูญที่เขาทำกันมาในนานาประเทศ เพื่อเป็นแบบอย่างและดัดแปลงเสียบ้างในข้อที่เห็นว่าไม่เหมาะแก่ฐานะในเมืองเรา”
วันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงเป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวันที่มีพิธีอย่างสำคัญ ดังที่เราได้เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ที่ย่อหน้าสุดท้าย มีข้อความสำคัญที่แสดงถึงความปรารถนาที่ว่า
“ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเราวันนี้ จะเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุก สันติคุณวิบูลราศรี แก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทหาร พลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎรจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ให้ยืนยงอยู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชประณิธาน ทุกประการเทอญ..”
การจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 นั้นเป็นความพยายามที่จะประนีประนอม ของคณะราษฎร และเพื่อสนองพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ไม่ทรงเห็นด้วยนักกับเนื้อหาใน พระราชบัญญัติการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ดังที่ปรากฏในพระราชบันทึกตอนหนึ่งว่า
“ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นไปกรุงเทพฯ แล้วและได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐฯ (นายปรีดี พนมยงค์) ได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่าหลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์ที่จะให้เสรีภาพในการเมืองโดยบริบูรณ์ หากแต่ต้องการให้มีคณะการเมืองได้แต่คณะเดียวข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และสมควรจะรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ก่อนเพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลังและเผื่อมีเวลาสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึงยอมผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น”
ดังนั้น เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 ที่ออกมาจึงเกิดจากการประนีประนอมของทั้ง 2 ฝ่ายในคณะอนุกรรมการ ดังจะเห็นได้ว่าการมีบทเฉพาะกาล 10 ปีนั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ก็ไม่เห็นด้วย
“...ข้าพเจ้าได้เคยตักเตือนพระยามโนฯ ไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้เสนอคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าการที่จะให้มีสมาชิกประเภทที่สอง ซึ่งคณะรัฐบาลเป็นผู้เลือกตั้งเองนั้น จะเป็นเหตุทำความไม่พอใจให้เกิดขึ้นได้และเป็นอันตรายแก่วิธีการปกครองแบบใหม่ซึ่งกำลังจะสถาปนาขึ้น.....คำตักเตือนของข้าพเจ้าเหล่านี้ไร้ผลเพราะคณะผู้ก่อการยืนยันในความประสงค์ที่จะยึดอำนาจไว้ในมือของคณะของตนให้จงได้ อย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี...”
แต่ก็เป็นหลักที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 65 โดยให้มีทางเลือกอีกทางว่าถ้ามีผู้จบการ ศึกษาภาคบังคับเดิมกว่ากึ่งหนึ่งก็ต้องเลือกผู้แทนราษฎรทั้งหมด เพียงแต่ว่าทางเลือกอีกทางนั้นกลับเกิดขึ้น ยากกว่าเสียอีก
ส่วนเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ในคณะอนุกรรมการก็คือชื่อคณะผู้บริหารประเทศที่เดิมเรียกว่า ประธานกรรมการราษฎร และกรรมการราษฎร ซึ่งมีอ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงทักปรากฏว่าในการ พิจารณาถึงชื่อคณะผู้บริหารประเทศ แทนคณะกรรมการราษฎรที่มีการติงกันในเรื่องชื่อนั้น ได้มีผู้เสนอญัตติในชื่อนี้แบ่งเป็น 3 พวก คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายประยูร ภมรมนตรี หลวงเดชสหกรณ์ และนายสงวน ตุลารักษ์ ต้องการใช้คำว่า “รัฐมนตรี” แทนคำว่า กรรมการราษฎร แต่นายซิม วีระไวทยะ ยังอยากให้คงใช้คำเดิม คือ กรรมการราษฎร และให้ยกเลิกใช้คำว่า เสนาบดี ซึ่งหมายความว่าให้เอา 2 ชื่อเหลือชื่อและตำแหน่งเดียว ส่วนนายเนตร พูนวิวัฒน์ เสนอให้เรียกว่า “อนุสภาผู้แทนราษฎร” แทน คำว่า คณะกรรมการราษฎร
เมื่อมีการอภิปรายกันนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวว่า “คำนี้ ในที่ประชุมอนุกรรมการข้าพเจ้าขอให้งดไว้ ไม่ให้วินิจฉัยคำนี้ เพื่อขอให้นำเสนอสภา ความประสงค์ของข้าพเจ้า อยากใช้ภาษาธรรมดาให้คนอ่านเข้าใจง่ายเช่น คำว่า กรรมการราษฎร หมายความว่า บุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่ราษฎรมอบหมายมาให้ทำหน้าที่บริหารเป็นกรรมการของราษฎร แต่คำนี้ประธานอนุกรรมการฯ ท่านว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทัก และมีผู้เข้าใจผิดว่าข้าพเจ้าจะนำลัทธิบางประเทศมาเผยแผ่ ข้าพเจ้าของดไม่แสดงความเห็นสนับสนุนทางใด แต่ฉะเพาะคำว่า “รัฐมนตรี” ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ควรใช้เพราะมนตรีเป็นแต่เพียงที่ปรึกษาแผ่นดินไม่หมายความถึงผู้บริหาร”
แต่การอภิปรายเรื่องการเลือกชื่อที่จะใช้นี้ดูจะเป็นที่ตกลงกันยากต้องอภิปรายและหยุดอภิปราย รวมทั้งเลื่อนการพิจารณาไปไว้ตอนสุดท้ายและในที่สุดออกเสียงลงมติ มีผลว่า “มีผู้เห็นควรใช้คำว่ารัฐมนตรี 28 เสียง ไม่ออกเสียง 24 เสียง ควรใช้คำอื่น 7 เสียง” จึงตกลงใช้คำว่า “รัฐมนตรี” ในตัวรัฐธรรมนูญและได้ใช้สืบมาจนทุกวันนี้ นับว่าเป็นความพยายามที่ทางผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายอนุกรรมการได้ประนีประนอมกันเพราะคะแนนที่ชนะกันก็ไม่เด็ดขาด
เนื้อหาความขัดแย้งในเรื่องการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทางรัฐบาลเป็นผู้เสนอชื่อก็เป็นประเด็นที่ทางฝ่ายกบฏบวรเดชได้อ้างและต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็มีบันทึกที่มีข้อสำคัญที่แย้งอยู่ 3 ประการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ คือ สส. ประเภท 2 ที่กล่าวมาแล้วกับเรื่องเสรีภาพ
การสร้างหลักเกณฑ์การปกครอง หรือการวางหลักทั่วไปแห่งอำนาจสูงสุดในประเทศนั้นรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนถึงโครงสร้างของอำนาจ และที่มาของอำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ เฉกเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รวมทั้งเขียนระบุถึงเสรีภาพของราษฎรในทำนองเดียวกัน
ความแตกต่างหรือข้อสำคัญนั้นอยู่ที่บทเฉพาะกาล มาตรา 65 ที่มีนัยให้รู้ว่าในระยะเวลา 10 ปี อำนาจทางการเมืองจะอยู่ในมือรัฐบาล ซึ่งก็คือคณะราษฎรหรือคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. พ.ศ. 2475 นั่นเอง 10 ปีที่ว่านี้เป็นระยะเวลาที่อ้างว่าต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงการปกครอง ระบบใหม่ที่มีมาโดยการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะผู้ก่อการฯ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญนี้จึงให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลที่จะอยู่ได้ 10 ปี โดยมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น
แต่แล้วพอใกล้เวลาจะครบ 10 ปี ใน พ.ศ. 2483 ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลา บทเฉพาะกาลไปจาก 10 ปี เป็น 20 ปี และใน พ.ศ. 2485 ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายอายุการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปได้อีก อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะอาศัยการแก้บทเฉพาะกาลเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไปโดยไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
อย่างไรก็ตามความพยายามของผู้นำในคณะราษฎรด้วยกันเองอีกหลายคนที่คิดยกเลิกบทเฉพาะกาล โดยได้มีการอภิปรายในสภาตั้งแต่ พ.ศ. 2487 และการพิจารณาในรัฐสภาที่จะปรับปรุงโดยแก้ไข เพิ่มเติมหรือตัดทอนมาตราใด เมื่อวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2488 จนนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 27 นายไปพิจารณา อันมีผลอีก 7 เดือนต่อมา เมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขทั้งฉบับต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยสมาชิกสภา ประเภทที่ 2 จำนวน 6 คน และเนื้อหาสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีก็คือไม่มีสมาชิกรัฐสภาประเภทที่แต่งตั้งอยู่เลย
ดังนั้นความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโค่นล้มนายกรัฐมนตรี หรือล้มรัฐบาลได้จริงจังนั้นก็เนื่องมาจากเหตุของการขัดแย้งในคณะราษฎรเองเป็นสำคัญ คนอื่นนอกคณะราษฎรทำก็ไม่สำเร็จ ดังจะเห็นได้ว่า กรณีปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2476 ก็เพราะผู้นำคณะราษฎรแตกแยกกันเป็น 2 ฝ่ายและการยึดอำนาจปกครองใหม่ในวันที่ 20 มิ.ย. พ.ศ. 2476 ก็เช่นเดียวกัน ส่วนกรณีกบฏบวรเดชนั้นเป็นพวกข้างนอกคณะราษฎร จะทำการล้มรัฐบาลด้วยกำลังก็ทำไม่สำเร็จ หรือความพยายามอื่น ๆ ที่มีมาอีกบ้างเป็นบางครั้งก็ไม่สำเร็จและเป็นกบฏมีการตั้งศาลพิเศษมาลงโทษกันหลายราย
บทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งตลอดเวลาประมาณ 14 ปีจึงเป็นแค่ตัวเสริมเท่านั้นเอง การเลือกตั้งทั่วไปสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีความสำคัญเพราะผลการเลือกตั้งไม่สามารถกำหนดรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีได้ จึงมีผู้นำในคณะราษฎรไม่กี่คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ชทั้งหมดนี้ก็คือนัยทางการเมืองที่มองเห็นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค.พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดจะใช้ถาวร แต่แล้วรัฐสภาของไทยก็ใช้วิธีการร่างใหม่รัฐธรรมนูญทั้งฉบับขึ้นมาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แทนการแก้ไขเพิ่มเติม นับว่าน่าเสียดาย เพราะไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่ต้องรื้อทั้งฉบับ และในความเป็นจริงก็ไม่ได้รื้อทั้งฉบับ ดังจะเห็นได้เมื่อมีการศึกษารัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พ.ค. พ.ศ. 2489 ที่มีอายุการใช้งานต่อมาสั้นมากเพียงปีกว่า ๆ เท่านั้น ก็จะพบว่าเนื้อหาหลายส่วนก็เลียนแบบรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกอยู่ ที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 ที่ถือได้ว่าเป็นผลผลิตของคณะราษฎรนี้ต่อมาคณะทหารที่มีความคิดเห็นต่างกับคณะราษฎร และไม่ชอบคณะราษฎร พอตอนได้อำนาจและอยากปกครองบ้านเมืองโดยมีสมาชิกสภาประเภทสองก็ได้หันมาหยิบเอารัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2475 ไปใช้อีก เพราะชอบใจในเรื่องที่สามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กึ่งหนึ่ง
ดังปรากฏในกรณียึดอำนาจ พ.ศ. 2494 ได้หันไปเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ฉบับนี้มาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 และประกาศใช้นั่นเอง และก็ได้ใช้อยู่ต่อมาอีกเป็นประมาณ 7 ปี คือ จนถึงวันที่จอมพล สฤษด์ ธนะรัชต์ และพรรคพวกยึดอำนาจในวันที่ 20 ต.ค. พ.ศ. 2501 จึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 อย่างไรก็ตามวันระลึกถึงรัฐธรรมนูญของไทยก็ยังเป็นวันที่ 10 ธ.ค. ที่มีการระลึกอยู่ทุกปี
ที่มา:สถาบันพระปกเกล้า
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต