แม้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะจบลงไปแล้ว แต่ยังมีควันหลงในประเด็นหนึ่งซึ่งกำลังถูกสังคมจับตามองว่า จะถูกพัฒนาไปจุดไหน นั่นคือเรื่องของ “การซื้อขายหุ้นในครอบครัว” ว่าเข้าข่ายหนีภาษีหรือไม่ หลัง คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกมาประกาศว่าอาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง
วันนี้รายการ Exclusive Talk คุยข้ามช็อตจึงชวนคุณวิโรจน์ และ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย และนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล มาพูดคุยกัน
ซื้อขายหุ้น กับโอนให้หุ้น ในแง่ภาษีต่างกันอย่างไร?
ดร.พีรภัทรบอกว่า การซื้อขายหุ้น กับการรับให้หุ้น มีความแตกต่างกัน ถ้ายกให้ กฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ต้องเป็นฝ่ายเสียภาษี แต่ถ้าซื้อขาย ต้องดูว่าขายมีกำไรหรือไม่ สมมติหุ้นต้นทุน 100 ขายได้ 120 คือกำไร 20 คนเสียคือคนขาย คนซื้อไม่เสีย
แต่ถ้าเป็นการให้หุ้น โอนหุ้นธรรมดา เข้าข่ายภาษีการรับให้ ฝ่ายรับหุ้นต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่รับหุ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของนายกฯ แพทองธารคือ “เขายืนยันว่าเป็นการซื้อขายที่ ณ วันนี้ยังไม่มีการจ่ายเงิน การเสียภาษีจึงยังไม่เกิด”
บอกว่าเป็นการวางแผนภาษี ฟังขึ้นหรือไม่?
ดร.พีรภัทรอธิบายว่า เป็นเรื่องปกติ ที่ผู้เสียภาษีมักหาทาง “เสียภาษีให้น้อยสุด” หรือ “เสียภาษีให้ช้าที่สุด”
ซึ่งคนทั่วไป จะใช้วิธีการซื้อประกัน ซื้อกองทุน ลดหย่อนบ้าน ลดหย่อนพ่อแม่เกษียณ อันนี้คือเพื่อเสียให้น้อยสุด ส่วนเสียให้ช้าสุด บางคนได้เงินบางอย่างมาปี 68 แต่รอข้ามปีไปเดือน ม.ค. ค่อยเอาเงินนั้นเข้าบัญชีหรือระบบ เพื่อยืดการเสียภาษี เหล่านี้โดยหลักการ เป็นสิ่งซึ่งสามารถทำได้
ส่วนกรณีนายกฯ แพทองธารใช้ตั๋ว PN ในการซื้อขายหุ้นกับคนในครอบครัว ดร.พีรภัทรบอกว่า โดยทั่วไปตั๋วไม่ค่อยนำมาใช้กับเรื่องพวกนี้
แต่การวางแผนภาษีเป็นสิทธิของทุกคน ตราบที่กฎหมายไม่ห้าม เรื่องตั๋วกฎหมายไม่ห้ามอยู่แล้ว เมื่อกฎหมายไม่ห้าม ก็ออกตั๋วได้ คำถามคือ ตั๋วมันเป็นเรื่องการกู้ยืม สมมติซื้อรถ 1 ล้านบาท เอารถมา ออกตั๋วให้ใบหนึ่ง บอกว่าไว้ค่อยจ่ายวันหลัง ถ้าไม่ไว้ใจไม่เชื่อใจ จะไม่ค่อยทำ ตั๋ว PN จะคล้ายสัญญากู้เงิน ผูกพันคนสองคน แต่ตั๋วเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ ใครมีตั๋วเอามาขึ้นเงินได้หมด แต่ตั๋วมักใช้ทางธุรกิจ ไม่ค่อยใช้กันในครอบครัว”
โดยการวางแผนภาษีแบบนี้ จะมองว่าเป็นการวางแผนแบบ Aggressive ก็ได้
ประเด็นไม่ใช่เรื่องตั๋ว แต่คือเรื่องเจตนา
ด้านคุณวิโรจน์ยืนยันว่า ตอนนี้สังคมพุ่งไปที่เรื่องตั๋ว PN ขอบอกตรงนี้ ไม่เกี่ยว ตั๋วไม่ผิด เพราะเป็นเครื่องมือการเงินเครดิตระยะสั้น โดยตัวมันไม่ผิด อย่าตีว่ามีตั๋วเท่ากับผิด
“ที่ต้องโฟกัส คือ พฤติกรรม พฤติการณ์ และเจตนาที่แท้จริง ของนายกฯ แพทองธาร ว่าเป็นการซื้อขายจริง หรือ จงใจสร้างการซื้อขาย เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีการรับให้” สส.พรรคประชาชนกล่าว
ซึ่งคุณวิโรจน์บอกว่า คนที่ต้องพิสูจน์เรื่องนี้คือ กรมสรรพากร โดยวันที่ 28 มี.ค. ตนจะไปยื่นหนังสือให้อธิบดีสรรพากร ให้ท่านทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ว่าสิ่งที่นายกฯ แพทองธารกำลังทำ เข้าข่ายใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อหาประโยชน์ส่วนตนหรือไม่
คุณวิโรจน์กล่าวว่า “เวลาเจอช่องว่างทางกฎหมาย คนที่เป็นนายกฯ ควรหาทางปิด หรือหาประโยชน์จากช่องว่างนั้น”
สส.พรรคประชาชนยืนยันว่า ถ้าเป็นการซื้อขายด้วยเจตนาบริสุทธิ์จริง ตนไม่ติดใจอะไรเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ อธิบดีกรมสรรพากรไม่แม้แต่จะตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งที่นายกฯ ทำมีเจตนาอย่างไร เพราะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อเรื่องนี้ที่สุดไม่ใช่ตน แต่เป็นกรมสรรพากรเองซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดเก็บภาษีเข้าแผ่นดิน
“สิ่งที่เกิดตอนนี้คือ ไม่เคยมีการจ่ายภาษีเลย ไม่เคยจ่ายค่าซื้อหุ้นเลย ดอกเบี้ยไม่เคยคิด แต่อยู่ ๆ มารับกลางสภาว่าจะจ่ายปีหน้า ถ้าไม่มีคนทักจะจ่ายหรือไม่” คุณวิโรจน์กล่าว
เขาเสริมว่า “อธิบดีกรมใรรพากรตอนนี้เชื่อไปแล้วโดยยังไม่วินิจฉัยว่าเป้นการซื้อขาย ไม่ฉุกคิดเลยหรือ อินโนเซนต์ขนาดนั้นเลยหรือ ย้ำว่า ถ้าเป็นการซื้อขาย ชำระ ส่วนเกินราคาทุนคำนวณรายได้ เสียภาษี ตรงนั้นไม่ติด ถ้าขายราคาทุน ไม่มีกำไร ก็ไม่ต้องเสีย อาจไม่ถูกใจแต่ถูกกฎหมาย ผมก็เข้าใจ ไม่ติด แต่ไม่ได้ถามเรื่องนั้น ผมถามเรื่องว่าท่านไม่สงสัยเลยหรือ”
ดร.พีรภัทรเสริมว่า จริง ๆ เรื่องเจตนาเป็นสิ่งที่พิสูจน์ยาก เพราะเป็นเรื่องของคู่สัญญาคนให้คนรับ และไม่มีใครมีอำนาจเข้ามาพิสูจน์ ยกเว้นกรมสรรพากร เพราะเป็นคู่กรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง “ถ้าสรรพากรเก็บภาษีได้น้อยลง ก็ต้องพิสูจน์ อาจต้องตั้งขอสังเกตว่า นี่เป็นสิ่งที่คนธรรมดาไม่ทำ ไม่มีใครจ่ายอย่างนี้”
อาจเกิดเทรนด์การวางแผนภาษีแบบ “แพทองธารโมเดล”
คุณวิโรจน์บอกว่า เรื่องการวางแผนภาษีแบบ Aggressive ของนายกฯ แพทองธารนั้น คนที่งอนที่สุดตอนนี้ คืออดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ว่าทำไมไม่บอกทริกกันบ้าง เพราะตอนคุณเศรษฐามาเล่นการเมือง ก็ไม่ได้ทำอย่างนี้ โอนหุ้นให้ลูกสาวแบบตรงไปตรงมา ลูกสาวก็ไปจ่ายภาษีปี 67 เป็นเงิน 32 ล้านบาท
“คุณแพทองธารมีตัวอย่างจากคุณเศรษฐา ดังนั้น ถ้าอยากทำงานในฐานะนักการเมือง เป็นฝ่ายบริหารด้วย ควรทำให้มันตรงไปตรงมา ให้มันอธิบายง่าย อันนี้ต้องมานั่งตีความ คนธรรมดาอาจจะพออะลุ้มอล่วยได้ แต่คุณเป็นผู้นำประเทศควรทำอย่างนี้หรือไม่ เป็นการวางแผนภาษีแบบดุดันไม่เกรงใจใครมาก” สส.พรรคประชาชนบอก
ดร.พีรภัทรเสริมว่า การวางแผนภาษีหลายคนใช้ช่องว่าง แม้แต่แพทย์บางคนเองที่รายได้สูง ๆ ก็มีการตั้งคณะบุคคล ย่อยเงินออกเป็นส่วน ๆ เพื่อลดอัตราภาษีที่ต้องเสีย
ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ “หุ้นโอนไปตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังไม่ชำระ ใช้ตั๋ว PN มายืดการชำระ การจ่ายภาษีก็ยืดตามออกไป เพราะเมื่อไม่ชำระ ภาษีก็ไม่เกิด เขาก็ดีเลย์มา แต่มันเกิดประโยชน์ เพราะเงินมีมูลค่าตามเวลา เงิน 100 ล้านบาทเมื่อปี 2559 กับปีนี้ มูลค่าในวันนู้นมันมากกว่า เพราะวันนี้เงินเฟ้อ พอบอกว่ายืดมาจ่ายปี 2569 ก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว”
คุณวิโรจน์บอกว่า ระบบตั๋ว PN ไม่มีกำหนดเวลาในการจ่าย จ่ายเมื่อถูกทวงถามเท่านั้น “ที่นายกบอกจะจ่ายปีหน้า ตั๋วไม่ได้บอก 2569 นะ แต่จ่ายเมื่อทวงถาม ซึ่งวิโรจน์เป็นคนทวงถามในสภา ถ้าสมมติคุณแม่ไม่ทวง จะ 10 หรือ 20 ปีไม่รู้ ปัญหาที่คือ สรรพากรไม่มีระบบคอยติดตามตั๋วพวกนี้ เกิดผ่านไปอีก 10 หรือ 20 ปีจะติดตามอย่างไร ถ้าตั๋วถูกฉีก หรือมีการยกเลิกหนี้กัน ในวันที่นายกฯ แพทองธารไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์แล้ว อธิบดีสรรพากรจะตรวจสอบอย่างไร ไม่มี”
คุณวิโรจน์บอกว่า ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ ถ้าเจ้าของกิจการทั้งหมดคิดแบบ “แพทองธารโมเดล” ไม่โอนหุ้นให้ลูกแล้ว แต่ใช้ซื้อขาย แล้วออกเป็นตั๋ว PN จ่ายเมื่อไรก็ได้ ก็เท่ากับยืดการจ่ายภาษีไปได้แบบเป็นนิรันดร์ ภาษีการรับให้จะกลายเป็นแค่ตัวอักษร บังคับใช้ไม่ได้ พ่อแม่ตายก็ไม่มีใครทวงถาม เผาตั๋วไปพร้อมกงเต็กได้เลย
“ดังนั้น สรรพากรต้องตีความ ว่าเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางหรือไม่ แล้วคนทั่วไปทำได้เหมือนกันหรือไม่ ถ้ามีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรทำได้ ประชาชนทั่วไปก็จะสบายใจว่า อย่างนี้ฉันก็จะทำบ้าง ภาษีการรับให้ที่สรรพากรควรได้รับก็จะหายไป กรมสรรพากรต้องรับสภาพให้ได้นะว่า แต่นี้ไป จะไม่มีภาษีการรับให้อีก” สส.พรรคประชาชนกล่าว
เขาเสริมว่า ถ้ากรมสรรพากรรับรองว่าสิ่งที่นายกฯ แพทองธารทำถูกต้อง ผมจะไปเปิดคอร์สสอนเลย สอนเจ้าของกิจการเลยว่าในการโอนหุ้น จะโอนแบบเดิมทำไม ใช้ตั๋วสิ
ด้าน ดร.พีรภัทรบอกว่า สมมติเกิดแพทองธารโมเดลจริง กรมสรรพากรอาจรอเห็นคนทำเยอะ ๆ จึงจะออกกฎให้เข้มงวดขึ้น เหมือนการตั้งคณะบุคคลที่สมัยก่อนทำกันมาก สรรพากรก็ออกกฎให้ต้องยื่นหลักฐานมากขึ้น หรือเมื่อก่อนคนไทยเริ่มลงทุนต่างประเทศ ยังไม่เอามาเข้าระบบไทย ก็ไม่เสีย สรรพากรก็ออกกฎตามหาทางให้เสีย
“เมื่อมีบางอย่างที่อาจทำให้กรมสรรพากรเสียหาย เก็บภาษีน้อยลงหรือเก็บไม่ได้เลย เขาก็ต้องพิสูจน์ว่าถูกผิดอย่างไร และจากการวางแผนจะขยับไปสู่การหนีภาษีหรือไม่” ที่ปรึกษาทางกฎหมายบอก