วันที่ 15 พ.ค.2568 ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา พร้อมด้วยทีมกฎหมายแพทยสภา เดินทางนำส่งมติแพทยสภาให้ลงโทษแพทย์กรณีการรักษานายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ จำนวน 3 คน โดยตักเตือน 1 คน ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน ในกรณีให้ข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยยื่นให้กับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภา โดยมีนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับมอบ
โดยนายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า หลังการรับมอบมติในวันนี้แล้วจะมีการลงเลขรับหนังสือ พร้อมส่งให้นายสมศักดิ์ พิจารณาเรื่องนี้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป โดยจากที่คุยกับทางนายสมศักดิ์ จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อช่วยกันดูมติ รวมถึงเอกสารประกอบจากแพทยสภา จำนวนหลัก 1 พันหน้า รวมถึงกรณีที่มีแพทย์ที่เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่ถูกแพทยสภาสั่งลงโทษและมาร้องขอความเป็นธรรมเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา คือ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วย ผย.ตร. และ พล.ต.ท. ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ
ซึ่งเบื้องต้นตนได้เปิดเอกสารที่นำมายื่นขอความเป็นธรรมคร่าวๆแล้ว ในส่วนของ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ นั้นมี 1 ข้อ แต่เอกสารเยอะ ส่วน พล.ต.ท.โสภณรัชต์ มี 8 ประเด็น แต่เอกสารมีไม่มาก แต่ทั้งหมดก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้รมว.สาธารณสุข ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งทีมอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ท่านพูดไว้ว่าจะตั้ง
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ก็ต้องพิจารณาภายใน 15 วัน และต้องส่งกลับไปที่แพทยสภาว่า สภานายกพิเศษจะมีความเห็นด้วย หรือจะวีโต้มติของแพทยสภาอย่างไร แล้วทางแพทยสภาก็ลงมติ 2 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า สภานายกพิเศษสามารถขอยืดเวลาในการพิจารณาได้ ถ้าครบ 15 วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ก็ต้องส่งให้แพทยสภา ว่าจะยืนยันตามมติแพทยสภาหรือจะวีโต้ในประเด็นใด และหากไม่ส่งกลับใน 15 วัน ก็ถือว่าเป็นการยอมรับมติดังกล่าว
ด้าน ผศ.นพ.ต่อพล กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับมอบหมายจากเลขาธิการแพทยสภาให้นำมติของแพทยสภามาส่งถึงสภานายกพิเศษ และยืนยันว่าทางแพทยสภาส่งมติดังกล่าวให้กับสภานายกพิเศษฯเท่านั้น ยังไม่ได้มีการส่งมติดังกล่าวให้กับแพทย์ที่ถูกตัดสินลงโทษแต่อย่างใด เพราะถือว่ากระบวนการยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น การที่มีแพทย์ที่เข้าใจว่าตัวเองถูกตัดสินแล้วมาร้องเรียนนั้น ตนไม่ทราบว่าแพทย์เหล่านั้น ทราบมติของแพทยสภาจากที่ใด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำถามว่าหนักใจหรือไม่ที่มีทั้งผู้ที่มาร้อง ขอความเป็นธรรมและม็อบมาคัดค้านไม่ให้รมว.สาธารณสุข แทรกแซงเรื่องนี้ รวมถึงกรณีมีกระแสว่าทางแพทยสภากำลังรวบรวมเสียงให้ได้ 2 ใน 3 เพื่อรองรับกรณีหากถูกวีโต้นั้น ตนก็ไม่ทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามปกติคณะกรรมการแพทยสภา จะมีการประชุมประจำเดือนทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน