ศาลแจงคดี “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้จำนำข้าว โยนนายกฯ-ก.คลัง ออกคำสั่งใหม่

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ศาลปกครองชี้แจงข้อกฎหมายคดี “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้จำนำข้าว 10,028 ล้านบาท โยนเป็นอำนาจ นายกฯ-รมว.คลัง-ก.คลัง ดำเนินการออกคำสั่งใหม่

วันที่ 26 พ.ค.2568 สำนักงานศาลปกครองออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อกฎหมายในคดีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องชดใช้ความเสียหาย โครงการจำนำข้าว เฉพาะในส่วนความเสียหายจากขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับจีน 10,028 ล้านบาท  เหตุประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ  และให้ โดยให้ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ดำเนินการสั่งการกันทรัพย์สินบางส่วนคืนให้กับอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี  ภายใน 60 วัน นั้น

คอนเทนต์แนะนำ
เปิดฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดสั่ง "ยิ่งลักษณ์" ชดใช้จำนำข้าวหมื่นล้าน
เช็กทรัพย์สิน 610 ล้าน “ยิ่งลักษณ์” หลังศาลสั่งชดใช้จำนำข้าว 10,028 ล้าน

ศาลปกครอง ช่างภาพพีพีทีวี
ศาลปกครองชี้แจงข้อกฎหมายคดี ยิ่งลักษณ์ ชดใช้จำนำข้าว 10,028 ล้านบาท

โดยมีการชี้แจงว่า คดีนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลปกครองมีอำนาจเพียงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23  บาท  ซึ่งหากไม่ชำระ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินตามคำสั่งได้นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งพิพาทเฉพาะส่วนที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท แต่ ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคำพิพากษาและออกคำบังคับให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ นายกรัฐมนตรีกับพวกทั้ง 9 แต่อย่างใด

นอกจากนั้นในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566   โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่นั่งพิจารณาได้ลงลายมือชื่อในร่างคำพิพากษาครบทั้ง 5  คนเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด  ซึ่งในการประชุมใหญ่นั้นจะประกอบด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่พ้นจากราชการไปแล้วจึงไม่อาจเข้าร่วมประชุมใหญ่ได้   ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ จะเป็นไปตามเสียงข้างมากของที่ประชุม ต่อมาเมื่อมีการจัดทำคำพิพากษาตามมติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ตุลาการในองค์คณะ 2 คนที่พ้นจากราชการไปแล้วจึงไม่อาจลงลายมือชื่อในคำพิพากษาได้  ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีบันทึกกรณีดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาและจัดทำคำพิพากษาดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ส่วนกรณีการทำความเห็นแย้งนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนในที่ประชุมใหญ่มีสิทธิทำความเห็นแย้งได้ตามมาตรา 67แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  โดยปรากฏความเห็นแย้งและรายชื่อของตุลาการที่มีความเห็นแย้งอยู่ในคำพิพากษาแล้ว

ด้าน น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะกรรมการประชาพันธ์ศาลปกครอง เปิดเผยว่า การออกมานี้ชี้แจงครั้งนี้ เพื่อให้สังคมประชาชนเข้าใจกระบวนการพิจารณาของศาลว่า เป็นพิจารณาเฉพาะประเด็นคำสั่งที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี กับพวกทั้ง 9 เท่านั้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23  บาท  เฉพาะส่วนที่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท แล้ว  บทบาทหน้าที่ของศาลปกครองถึอว่ายุติแล้ว 

การดำเนินการใดใดจากนี้ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ต้องไปดำเนินการออกคำสั่งใหม่และปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ