“สามารถ-ลอยด์-โดโด้-ดักแด้” กว่าจะมาเป็น 4 จตุรเทพผู้นำเชียร์

โดย PPTV Online

เผยแพร่

กองเชียร์ไทยไม่แพ้ชาติใดโลก และยังเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกกล่าวขานไปทุกสนามทั่วโลก โดยเฉพาะ 4 จตุรเทพผู้นำเชียร์ทีมชาติไทย สามารถ(สามารถ คุณสวัสดิ์) -ลอยด์(สมพงศ์ กาศแก้ว) - โดโด้(กิจจา มีบำรุง) ดักแด้(ไทยแลนด์ คำทอง) แต่กว่าจะเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้พวกเขาต้องฝ่าพันหาทุนเพื่อตามไปเชียร์นักกีฬาในดวงใจด้วยตัวเอง โดยทั้งสี่ได้มาพูดคุยในรายการ "บางกอกซิตี้ เลขที่ 36" ถึงจุดเริ่มต้นจนมีวันนี้

ดักแด้  ผู้นำเชียร์รุ่นพี่ที่ทำหน้าที่นี้มาราว 30 ปี เล่าว่า เริ่มเชียร์แมทช์แรกในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยตอนนั้นใส่ชุดตะกั่วจนเป็นที่รู้จัก และเริ่มนำเชียร์มาเรื่อยๆ ทุกประเภทกีฬา ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล ตะกร้อ ซึ่งได้นำประสบการณ์จากการเป็นผู้นำเชียร์กีฬาสีที่โรงเรียนมาใช้ รวมถึงเป็นคนมีใจรักกีฬามาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว

ส่วน โดโด้ เผยว่า เป็นผู้นำเชียร์รุ่นน้องดักแด้ โดยเริ่มมาประมาณ 20 ปี ก่อนหน้านี้เป็นคนชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว วันหนึ่งไม่ได้เป็นคนเล่นจึงมาเป็นคนเชียร์ด้วยหัวใจรักกีฬาควบคู่กับการเล่นตลก เช่นเดียวกับลอยด์และสามารถ ที่เริ่มต้นมาจากการเล่นตลก แต่เมื่อวงการตลกถึงจุดเปลี่ยน จึงหันมาเป็นผู้นำเชียร์ทีมชาติ

โดยในช่วงแรกที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ทั้งหมดต้องควักเงินส่วนตัวเพื่อเดินทางไปเชียร์ ไม่ว่าจะเป็น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก บางครั้งถึงกับต้องขายทรัพย์สินที่มีเพื่อเอามาเป็นทุน

"ผมเคยเอารถไปจำนำ เพราะต้องเดินทางไปไกล ยืมเงินแม่ ยืมเงินเพื่อนบ้านมาบ้าง บางครั้งไปยุโรป ต้องซื้อตั๋วเอง อย่างที่พักก็ไปอาศัยนอนกับนักข่าว นักกีฬาเอา ถ้าไม่ได้ก็ต้องไปหาที่อื่นนอน วัด สถานทูต เหมือนสปิริต เราอยู่บนหลังช้างแล้วลงไม่ได้ เวลาเจอนักกีฬาก็จะทักเรา ว่าไม่ไปเชียร์เหรอ เราก็ไม่ไปไม่ได้ พอไปเชียร์นักกีฬาปกติแล้ว เราก็ต้องไปเชียร์นักกีฬาคนพิการด้วย" ดักแด้ เล่าให้ฟัง ในขณะที่สามารถยอมรับว่า เคยแม้กระทั่งเอาตู้เย้นไปจำนำ นอนในสนามบินจน รปภ.มาไล่ เวลาไปเชียร์ก็จะต้องซื้อบัตรผ่านประตูเข้าไปเหมือนคนดูปกติ ปัจจุบันพอเริ่มเป็นที่รู้จัก ทำให้มีผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย

การเป็นผู้นำเชียร์ไม่ใช่แค่การเปล่งเสียงตะโกนออกไปเท่านั้น พวกเขา ยังบอกด้วยว่า ยังมีความยากที่จะต้องรู้กฏกติกาของแต่ละชนิดกีฬา ช่วงไหนที่ต้องเงียบ และช่วงไหนสามารถใช้เสียงได้ หรือถ้าเป็นกีฬาคนพิการหู ก็ต้องใช้ภาษาท่าทาง ต้องเรียนรู้ภาษามือเพื่อมาเชียร์

"พวกเราสี่คนต่างคนต่างก็จะไปเชียร์กีฬาในแต่ละสนาม จะมารวมกันในมหกรรมใหญ่ๆ เท่านั้น อย่าง โอเชี่ยนเกมส์, ซีเกมส์ รูปแบบการเชียร์ สไตล์การแต่งตัวของพวกเราก็จะต่างกันไป แล้วก็จะต้องมีวิธีปลุกใจกองเชียร์ หากเงียบๆ ก็พยายามกระตุ้นให้ร่วมเชียร์กับเราให้ได้ บางครั้งเราก็หาวิธีขอแรงจากประเทศเจ้าภาพที่ไม่ได้แข่งวันนั้นให้มาร่วมเชียร์เรา อย่างถ้าเจ้าภาพแข่งก่อนหน้าเรา เราก็เชียร์เขาก่อนเลย พอถึงเวลาเราแข่งเขาก็จะได้มาช่วยเราเชียร์"

สี่จตุรเทพ ยังเผยว่าภาคภูมิใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้ไปเชียร์นักกีฬา ยังได้เป็นตัวแทนคนไทยนำวัฒนธรรมไทย ผ่านการสวมชุดไทย การยกมือไหว้ ไปเผยแพร่ให้ได้รู้จัก เพราะยังมีต่างชาติหลายคนไม่รู้จักประเทศไทยเท่าไหร่ ซึ่งเวลาที่ไปเชียร์ต่างแดนก็มักจะได้รับความสนใจมีคนมาถ่ายรูปด้วยนับพันคน

ติดตามชมรายการ "บางกอกซิตี้ เลขที่ 36" ทุกวันจันทร์ -ศุกร์ เวลา 09.15 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36 รับชมย้อนหลังทาง http://pptv36.tv/rkG และ  https://tv.line.me/bangkokcity36

บูชาไฟ! “ท้าวดักแด้” เผย “อุลตร้าไทยแลนด์” จุดพลุเป็นเอกลักษณ์ ขนาดเชียร์วอลเลย์บอลชายหาดยังจุด

"พอลลีน งามพริ้ง"กับการคืนสนามเชียร์บอลไทยครั้งแรก

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ