มทภ.3 สั่ง ตรึงกำลังแนวชายแดน หลังเมียนมาก่อรัฐประหาร
สหรัฐเรียกร้องปล่อยตัว "ออง ซานซูจี"
ทหารเมียนมา ปิดด่านท่าขี้เหล็ก หลังก่อรัฐประหาร
“อองซานซูจี” เป็นที่รู้จักในระดับสากลในฐานะผู้นำที่เรียกร้องประชาธิปไตยของเมียนมา และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเคยต้องโทษกักขังนานกว่า 15 ปีเพราะความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเธอ
เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสั่งคุมขังนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เชื้อชาติ หรือศาสนา ทั้งที่ไม่มีกฎหมายใดที่อนุญาตให้รัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังกักขังประชาชนโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดีและจำกัดเสรีภาพผู้อื่น
นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมเส้นทางชีวิตของอองซานซูจี สตรีไอคอนด้านประชาธิปไตยผู้มีทั้งด้านที่ควรยกย่องและน่ากังขา
ชีวิตในวัยเด็ก
อองซานซูจีเกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2488 (ปัจจุบันอายุ 75 ปี) เป็นลูกสาวของ “อองซาน” วีรบุรุษผู้เรียกร้องเอกราชของเมียนมา ซึ่งถูกลอบสังหารเมื่อเธออายุเพียง 2 ขวบ
ในปี พ.ศ. 2503 เธอเดินทางไปอินเดียกับดอว์ขิ่นกี แม่ของเธอ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทูตของเมียนมาในกรุงเดลี
4 ปีต่อมา เธอเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร โดยศึกษาด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เธอได้พบรักกับ ไมเคิล อริส นักวิชาการชาวทิเบต และสมรสกันในปี พ.ศ. 2515 มีลูกชาย 2 คนคือ อเล็กซานเดอร์ และคิม หลังจากนั้นเธอทำงานอยู่ในญี่ปุ่นและภูฏาน และตัดสินใจตั้งรกรากในสหราชอาณาจักร
กลับแผ่นดินเกิด
อองซานซูจีเดินทางกลับพม่าในปี พ.ศ. 2531 เพื่อดูแลแม่ที่กำลังป่วยหนัก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่เกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา
“ฉันทำไม่ได้เป็นลูกสาวของพ่อยังคงเฉยเมยต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น” เธอกล่าวในสุนทรพจน์ในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2531 เธอเป็นผู้นำการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารในยุคสมัยนายพลเนวิน
ไม่ช้าหลังเธอเข้ามามีส่วนร่วมในการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ ระบอบทหารซึ่งปกครองเมียนมาในสมัยนั้นตอบโต้การจลาจลด้วยกำลัง มีการสังหารหมู่ผู้ประท้วงมากถึง 5,000 คนในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531
หลังจากการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2531 ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน ได้มีการจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ขึ้นใหม่ อองซานซูจีได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรค หลังจากนั้นอองซานซูจีได้กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยจำนวนมาก และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั่วประเทศ
การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2533
ระบอบเผด็จการทหารเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ จึงถูกบีบให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี พ.ศ. 2533
ขณะที่อองซานซูจีเริ่มหาเสียงให้พรรค NLD เธอและสมาชิกพรรคอีกหลายคนถูกรัฐบาลควบคุมตัวและกักบริเวณไว้ อองซานซูจีถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
สภาพแวดล้อมของการเลือกตั้งในปีนั้นห่างไกลจากคำว่า “เสรี” และ “ยุติธรรม” อองซานซูจีและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนอื่น ๆ ถูกควบคุมตัว สื่อรายงานอย่างมีอคติ รวมถึงมีการข่มขู่นักการเมือง กระนั้น ผลการลงคะแนนในวันนั้นพรรค NLD กลับได้ที่นั่งในรัฐสภาสูงถึง 82% แน่นอนว่าผู้ปกครองระบอบเผด็จการทหารตีเนียนไม่รับรู้ผลการเลือกตั้ง และปฏิเสธที่จะส่งมอบอำนาจให้กับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง
ในปี พ.ศ. 2534 ขณะที่ถูกคุมตัว มีการประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับอองซานซูจี
ถูกปล่อยตัวครั้งแรก
อองซานซูจีถูกกักบริเวณในบ้านเป็นเวลา 5 ปีจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 โดยได้รับการปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ที่กองทัพกำหนด
กระทั่งวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2542 ไมเคิล อริส สามีของอองซานซูจีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในลอนดอน ก่อนหน้านี้เขาได้ยื่นคำร้องต่อทางการเมียนมาเพื่อให้เขาได้ไปเยี่ยมอองซานซูจีเป็นครั้งสุดท้าย แต่ทางการเมียนมาปฏิเสธคำขอของเขา รัฐบาลเมียนมาพยายามมาตลอดที่จะส่งอองซานซูจีไปอยู่กับครอบครัวของเธอในต่างประเทศ แต่อองซานซูจีปฏิเสธ เพราะรู้ดีว่าเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเมียนมาอีกแล้ว
ถูกคุมขังครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ. 2543 อองซานซูจีถูกกักบริเวณอีกครั้งหลังจากพยายามออกจากกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวง ณ ขณะนั้น เป็นจำนวนหลายครั้งเพื่อจัดการรวมกลุ่มทางการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ
ถูกปล่อยตัวครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ. 2545 อองซานซูจีได้รับการปล่อยตัวจากการกักบริเวณและมีอิสระในการเดินทางไปทั่วประเทศ การปล่อยตัวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่เจรจาโดยทูตจากสหประชาชาติ (UN) ราซาลี อิสมาอิล
อิสมาอิลอำนวยความสะดวกในการประชุมลับระหว่างอองซานซูจีและทหาร เพื่อหาตรงกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย ส่งลให้ระบอบเผด็จการทหารตกลงหยุดการโจมตีอย่างรุนแรงต่ออองซานซูจีในสื่อ
หลังจากเฝ้ารอโอกาสอย่างอดทน อองซานซูจีก็เริ่มเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป มีผู้คนหลายหมื่นหลายแสนคนคอยติดตามดูความเคลื่อนไหวของเธอ ทำลายความหวังของระบอบเผด็จการทหารมีคิดว่าประชาชนจะลืมเลือนอองซานซูจีไปในช่วงที่ถูกคุมขัง
การปกครองแบบเผด็จการเริ่มใช้สมาชิกของสมาคมสหสามัคคีและการพัฒนา (USDA) เพื่อโจมตีและก่อกวนการประชุมของพรรค NLD ซึ่งสมาคมนี้ได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพ โดยมีนายพลตานฉ่วย เผด็จการแห่งพม่าเป็นประธานสมาคม ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP)
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 สมาชิกของ USDA ได้โจมตีขบวนรถที่อองซานซูจีนั่งโดยสารอยู่ เป็นความพยายามของเผด็จการที่จะลอบสังหารอองซานซูจีโดยใช้แนวร่วมพลเรือนเพื่อไม่ให้เกิดความผิด คนขับรถของอองซานซูจีสามารถขับรถไปส่งเธอได้อย่างปลอดภัย แต่ผู้สนับสนุนของอองซานซูจีกว่า 70 คนถูกทำร้ายจนเสียชีวิต
เหตุดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ การสังหารหมู่เดปายิน (Depayin) กลุ่มเผด็จการอ้างว่าเป็นการจลาจลระหว่างกลุ่มการเมือง 2 กลุ่ม สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการ
ถูกคุมขังครั้งที่ 3
หลังเกิดเหตุลอบโจมตี อองซานซูจีถูกควบคุมตัวและถูกกักบริเวณในบ้านพักอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่ถูกคุมขังครั้งที่ มาตรการต่าง ๆ เข้มงวดกว่าในอดีตมาก สายโทรศัพท์ของเธอถูกตัด สื่อโซเชียลมีเดียของเธอถูกระงับ และอาสาสมัครของพรรค NLD ที่ให้การรักษาความปลอดภัยถูกย้ายไปจนหมดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547
โดยทั่วไปแล้วนักการทูตไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบเธอ มีเพียงบางครั้งที่ทูตของสหประชาชาติและรัฐบาลสหรัฐได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม แม้แต่ บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พบเธอเมื่อเขาไปเยือนประเทศในปี พ.ศ. 2552
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 เพียงไม่กี่วันก่อนที่เธอจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง อองซานซูจีถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการกักบริเวณ ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ใดมาเยี่ยมเยียนทั้งสิ้น หลังจากที่ จอห์น เยตทอว์ ชาวสหรัฐอเมริกา ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบอินยามา และปฏิเสธที่จะออกจากบ้านของเธอ
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 เธอถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกตัดสินให้จำคุก 3 ปี ในการบรรเทาความไม่พอใจของนานาชาติเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของอองซานซูจี โทษดังกล่าวจึงลดลงเหลือเพียง 18 เดือนภายใต้เงื่อนไขต้องถูกกักบริเวณในบ้าน
สำหรับกำหนดวันปล่อยตัวของเธอคือ 6 วันหลังจากการเลือกตั้งเมียนมาครั้งหน้า นั่นหมายความว่า เธอถูกควบคุมตัวในระหว่างการเลือกตั้งอีกครั้ง
ระหว่างที่เธอถูกคุมขัง มีการประกาศห้ามเธอลงเลือกตั้งโดยเด็ดขาด และพรรค NLD เองก็ถูกแบนเช่นกัน
ถูกปล่อยตัวครั้งที่ 3
กระทั่งในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 อองซานซูจีได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ซึ่งเมื่อนับรวมแล้ว เธอถูกคุมขังอยู่ในบ้านของตัวเองนานถึง 15 ปี
ในที่สุดความพยายามของเธอก็ผลิดอกออกผล ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555 อองซานซูจีได้ที่นั่งในรัฐสภา รวมถึงพรรค NLD ชนะที่นั่งในสภาไปถึง 43 จาก 45 ที่นั่งจากผลการเลือกตั้ง
ในปีเดียวกันนี้ อองซานซูจีเดินทางไปเยือนประเทศยุโรปนาน 3 สัปดาห์ในช่วงเดือนมิถุนายน โดยเดินทางไปที่สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส นับเป็นครั้งแรกที่เธอได้เดินทางไปยุโรปในรอบ 24 ปี
กระนั้น ในทางนิตินัย รัฐธรรมนูญของเมียนมาสั่งห้ามไม่ให้เธอดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี เหตุเพราะเธอมีบุตรเป็นคนต่างชาติ แต่ในทางพฤตินัยแล้ว ประชาชนต่างมองว่าอองซานซูจีเป็นผู้นำที่แท้จริงของเมียนมา
ปัจจุบันตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเธอคือที่ปรึกษาแห่งรัฐ ส่วนประธานาธิบดีคือ วิน มินต์ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของเธอ
25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 อองซานซูจีกล่าวสุนทรพจน์แรกในรัฐสภา เธอเรียกร้องให้มีกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อย
ข้อกังขาปมชาวโรฮิงญา
ในปี พ.ศ. 2560 ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนหลบหนีไปยังบังกลาเทศที่อยู่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากมีการปราบปรามของกองทัพปมการโจมตีสถานีตำรวจในรัฐยะไข่
เมียนมาต้องเผชิญกับการถูกกล่าวหาว่า กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสอบสวนเมียนมาในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
อดีตผู้สนับสนุนของอองซานซูจีกล่าวหาว่า เธอไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อหยุดยั้งการข่มขืน การฆาตกรรม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้
ในตอนแรกมีบางกลุ่มช่วยโต้แย้งว่า เธอเป็นนักการเมืองที่จริงจัง และกำลังพยายามอย่างมากในการปกครองประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและมีประวัติศาสตร์อันซับซ้อนแห่งนี้
แต่การแสดงออกเชิงปัดความรับผิดชอบของเธอในการพิจารณาคดีของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2561 ในกรุงเฮกถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนใหม่ที่ลบชื่อเสียงด้านดีของเธอในสายตานานาชาติไปเล็กน้อย รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปลดภาพของเธอออกจากทำเนียบศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเรียกร้องให้มีการริบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคืน
การปฏิรูปประชาธิปไตยหยุดชะงัก
นับตั้งแต่เข้าบริการประเทศ อองซานซูจีและรัฐบาลพรรค NLD ของเธอก็เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนือง ๆ จากการดำเนินคดีกับนักข่าวและนักเคลื่อนไหวโดยใช้กฎหมายยุคอาณานิคม
มีความคืบหน้าของการปฏิรูปประชาธิปไตยในบางพื้นที่ แต่กองทัพยังคงมีที่นั่งในรัฐสภาถึง 1 ใน 4 และควบคุมกระทรวงสำคัญ ๆ รวมถึงมหาดไทยและกิจการชายแดน
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปฏิรูปประชาธิปไตยของเมียนมาดูเหมือนจะหยุดชะงักลง แต่อองซานซูจียังคงได้รับความนิยมอยู่ จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2563 โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน่วยเฝ้าระวังการทุจริตเลือกตั้ง พบว่า 79% ของผู้คนไว้วางใจเธอเพิ่มขึ้นจาก 70% ในปีก่อนหน้า
เดเร็ก มิตเชลล์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเมียนมา เคยกล่าวไว้ว่า เธออาจจะไม่ได้เปลี่ยนไป เธออาจยังคงเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย เราแค่ไม่รู้ว่าภายใต้ความซับซ้อนทั้งหลายนี้ แม้จริงเธอคือใคร
“เราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า เราไม่ควรยกย่องผู้คนที่มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นจนเกินไปเสมือนว่าเขาหรือเธอไม่ใช่มนุษย์”
ล่าสุดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 อองซานซูจี วิน มินต์ และสมาชิพรรค NLD ถูกกำลังทหารบุกควบคุมตัวไว้อีกครั้ง และประกาศนำประเทศเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ยังไม่มีใครแน่ใจว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นในเมียนมา และประชาธิปไตยที่หลายคนเฝ้าฝันหาจะเป็นอย่างไรต่อไป
อัปเดต รัฐประหาร เมียนมา ด่วน! ประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี ยึดอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการทั้งหมด
“อองซานซูจี” ถูกทหารควบคุมตัวช่วงเช้ามืดวันนี้
กองทัพเมียนมาสยบข่าวลือรัฐประหาร ยัน ยึดมั่นรธน.
เมียนมาส่อทำรัฐประหาร อ้างพบหลักฐาน พรรค NLD ของออง ซาน ซู จี โกงเลือกตั้ง
เรียบเรียงจาก BBC / Burma Campaign UK