“ไบเดน” ขู่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา
รู้จัก “มินอ่องหล่าย” ผู้นำรัฐประหารเมียนมา
เส้นทาง “อองซานซูจี” จากลูกสาววีรบุรุษ สู่ไอคอนผู้ใฝ่หาประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ธนาคารโลกกล่าวว่า มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมา และการยึดอำนาจทางทหาร โดยเตือนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเสี่ยงต่อความสูญเสียครั้งใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการพัฒนาประเทศ
“เรากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้คนในเมียนมา รวมถึงเจ้าหน้าที่และพันธมิตรของเรา และมีปัญหากับการปิดช่องทางการสื่อสารทั้งในเมียนมาและกับโลกภายนอก” ธนาคารโลกกล่าวในแถลงการณ์
วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ส่งมอบอำนาจให้กับนายพลมินอองหล่ายผู้นำทางทหารและประกาศให้มีภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี โดยกล่าวว่ากองทัพออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากพบการทุจริตการเลือกตั้ง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเรียกเสียงประณามจากผู้นำตะวันตก ขณะที่สหรัฐฯ ขู่ว่าจะทำการคว่ำบาตรเมียนมาครั้งใหม่
ธนาคารโลกกล่าวว่า ดำรงตนเป็นพันธมิตรที่มุ่งมั่นในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงความพยายามที่จะบรรลุการเติบโตในวงกว้างอย่างยั่งยืน และเพิ่มการรวมตัวกันทางสังคม
“เรายังคงยึดมั่นในเป้าหมายเหล่านี้ ความคิดของเรายังเหมือนกับชาวเมียนมา” แถลงการณ์ระบุ
เว็บไซต์ของธนาคารโลกแสดงรายการภาระผูกพันในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารโลกให้พม่าในปี 2020 จำนวน 900 ล้านดอลลาร์ (ราว 27,000 ล้านบาท) และ 616 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,500 ล้านบาท) ในปี 2017
ธนาคารโลกยังระบุว่า มาตรวัดสวัสดิการสังคมของเมียนมานับตั้งแต่เปิดประเทศในปี 2011 เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยความยากจนลดลงเหลือ 25% ในปี 2017 จาก 48% ในปี 2005
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูประบอบประชาธิปไตยชะลอตัวลงหลังจากปี 2016 เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ต้องต่อสู้กับการกำหนดวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลเพิ่งใช้แผนพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมวาระการปฏิรูปเศรษฐกิจ
ธนาคารโลกประเมินว่า เหตุรัฐประหารครั้งนี้จะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาลดลงเหลือเพียง 0.5% ในปีงบประมาณ 2019/20 จาก 6.8% ในปีก่อนหน้า
เรียบเรียงจาก Reuters