ชายฝั่งอเมริกาพบปรากฏการณ์ ทะเล-โลมาเรืองแสง
มหัศจรรย์ถ้ำหนอนเรืองแสงที่นิวซีแลนด์
พบกบเรืองแสงครั้งแรกในอาร์เจนตินา
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาฉลามแถบนิวซีแลนด์ค้นพบว่า มีฉลามน้ำลึก 3 สายพันธุ์สามารถเรืองแสงได้ในความมืด นับเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เรืองแสงที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
จากการศึกษาระบุว่า มีการเก็บข้อมูลฉลามทั้ง 3 สายพันธุ์เมื่อเดือนมกราคม 2020 จากพื้นที่ Chatham Rise ทางตะวันออกของนิวซีแลนด์ หนึ่งในนั้นคือ ฉลามไคต์ฟิน (Kitefin) ปัจจุบันเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เรืองแสงได้ที่ใหญ่ที่สุด โดยสามารถโตได้ถึง 180 เซนติเมตร ส่วนฉลามอีก 2 ชนิดที่เรืองแสงได้คือ ฉลามโคมไฟท้องดำ และฉลามโคมไฟใต้
ฉลามทั้ง 3 สายพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักชีววิทยาทางทะเลอยู่แล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบปรากฏการณ์เรืองแสงจากตัวพวกมัน
โดยทั่วไป สัตว์ทะเลหลายชนิดรวมถึงแมลงบางชนิด เช่น หิ่งห้อย จะสร้างแสงขึ้นมาได้เอง ผ่านกระบวนการเรืองแสงทางชีวภาพ (Bioluminescence) หรือการผลิตแสงที่มองเห็นได้ผ่านปฏิกิริยาทางเคมีของสิ่งมีชีวิต แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบในฉลามขนาดใหญ่
นักวิจัยกล่าวว่า การเรืองแสงเกิดขึ้นได้จากโฟโตโฟร์ (เซลล์ผลิตแสง) หลายพันตัวที่อยู่ภายในผิวหนังของฉลาม
นักวิจัยจาก Université Catholique de Louvain ในเบลเยียม และสถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาตินิวซีแลนด์กล่าวว่า การค้นพบนี้ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับชีวิตในทะเลลึก ระบบนิเวศที่มีการศึกษาน้อยที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้
ฉลาม 3 สายพันธุ์นี้อาศัยอยู่บริเวณที่เรียกว่า Mesopelagic หรือเขต “Twilight” ของมหาสมุทร มีความลึกระหว่าง 200-1,000 เมตร ซึ่งแสงแดดไม่สามารถส่องถึงได้
นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าฉลามที่เรืองแสงทั้ง 3 สายพันธุ์นี้อาจเป็นกลไกการปรับตัวตามธรรมชาติที่ช่วยอำพรางพวกมันจากภัยคุกคามต่าง ๆ
ส่วนในกรณีของฉลามไคต์ฟินซึ่งอยู่ในฐานะผู้ล่ามากกว่าเหยื่อนั้น เป็นไปได้ว่าจะใช้แสงเพื่อส่องพื้นมหาสมุทรในขณะที่มันค้นหาอาหาร หรือเพื่ออำพรางตัวขณะเข้าใกล้เหยื่อ
นักวิทยาศาสตร์เสริมว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานต่าง ๆ ข้างต้น รวมทั้งทำความเข้าใจว่าการทำงานของการเรืองแสงทางชีวภาพของสายพันธุ์เหล่านี้ และความสัมพันธ์ในการล่าเหยื่อ
“เมื่อพิจารณาถึงความกว้างใหญ่ของทะเลลึกและการเกิดสิ่งมีชีวิตที่ส่องสว่างในโซนนี้ เห็นได้ชัดมากขึ้นว่า การผลิตแสงที่ระดับความลึกจะต้องมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดบนโลกของเรา” นักวิจัยกล่าว
โดยทั่วไป สิ่งมีชีวิตที่เรืองแสงได้ ตั้งแต่ดอกไม้ทะเล ปลาชนิดต่าง ๆ หอย หนอนทะเล หิ่งห้อย ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น เชื้อราชนิดต่าง ๆ จะอาศัยการเรืองแสงนี้ในการดำรงชีวิตแตกต่างกันออกไป หลัก ๆ มี 3 วัคถุประสงค์ คือ
- เรืองแสงเพื่อข่มขู่ศัตรู โดยสาหร่ายและเห็ดบางชนิดอาศัยการเรืองแสงเพื่อป้องกันตนเองและเตือนไม่ให้ศัตรูเข้าใกล้ หรือตัวอย่างที่เห็นบ่อยครั้งคือ แพลงก์ตอนกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellates) ที่อาศัยอยู่ในทะเล ซึ่งจะเรืองแสงสีฟ้าขึ้นเมื่อน้ำทะเลตรงแหล่งที่อยู่อาศัยเกิดการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง เช่น มีฝูงปลาขนาดใหญ่ว่ายผ่าน มีเรือแล่น หรือมีคนลงไปว่ายน้ำใกล้ ๆ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะเรืองแสงขึ้น เพื่อให้ศัตรูที่พบเห็นตกใจ ซึ่งเป็นที่มาของปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสง
- เรืองแสงเพื่อล่าเหยื่อ ตัวอย่างที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ ปลาแองเกลอร์หรือปลาตกเบ็ด (Anglerfish) เป็นปลาทะเลน้ำลึกที่เปลี่ยนครีบหลังกลายเป็นติ่งเนื้อโผล่ขึ้นมาบริเวณหัว จนคล้ายเบ็ดตกปลา เรียกว่า "เอสคา (Esca)" ปลายเบ็ดจะเป็นกระเปาะเก็บแบคทีเรียที่สามารถเรืองแสงได้ในที่มืด ซึ่งปลาแองเกลอร์ใช้แสงนี้เพื่อล่อเหยื่อ รวมถึงเพื่อสื่อสารกับปลาตัวอื่น ๆ ผ่านรูปแบบและจังหวะของการเปล่งแสงอีกด้วย
- เรืองแสงเพื่อหาคู่ เช่น หิ่งห้อยใช้การกะพริบแสงในยามค่ำคืนเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์
เรียบเรียงจาก The Guardian / National Geographic
ภาพจาก Jérôme Mallefet