ผู้พลัดถิ่นในศูนย์พักพิงใกล้ชายแดนไทยหวั่นถูกกองทัพเมียนมาโจมตี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉานขอรัฐบาลไทย ให้ผู้ลี้ภัยจากรัฐฉานที่พักพิงอยู่ตามแนวชายแดนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยได้ทันทีหากถูกกองทัพเมียนมาโจมตี

กลุ่มชาติพันธุ์ ยังคงตกเป็นเป้า ถูกทหารเมียนมาโจมตี

กองทัพรัฐฉาน เคลื่อนกำลังรักษาฐานที่มั่น ลั่น พร้อมสู้กับทหารเมียนมา

เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา (TBC) ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ส่งจดหมายถึง TBC ฝั่งไทยในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แจ้งถึงความเป็นไปได้ที่กองทัพเมียนมาจะโจมตีที่มั่นทางทหารของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) ตามพรมแดนตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เนื่องจาก RCSS แสดงจุดยืนเข้าข้างผู้ประท้วงที่ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) เพจ Land Link ได้สรุปเนื้อความในจดหมายดังกล่าว ระบุว่า แม้กองทัพเมียนมาจะพยายามไม่ให้มีกระสุนตกข้ามมายังฝั่งไทย เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศ แต่ท่าทีของกองทัพเมียนมาครั้งนี้ สร้างความหวาดกลัวแก่เหล่าผู้ลี้ภัยสงครามภายในรัฐฉาน ที่ตั้งค่ายพักพิงชั่วคราวตามตะเข็บชายแดนไทย-รัฐฉาน มานานกว่า 20 ปี

โดยในวันเดียวกันนั้น คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (SSRC) ได้ออกประกาศแจ้งเตือนว่า ผู้พลัดถิ่น 6,000 คน ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ใกล้ชายแดนไทย เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกองทัพเมียนมาเป็นอย่างมาก

ในประกาศมีเนื้อความโดยสรุปได้ว่า คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน กังวลอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของผู้พลัดถิ่นเกือบ 6,000 คนทางใต้ของรัฐฉานบริเวณพรมแดนประเทศไทย ที่หนีภัยจากการประหัตประหารของกองทัพเมียนมามาเกือบ 20 ปี หลังจากที่กองทัพเมียนมาประกาศจะโจมตีที่ตั้งทางทหารของ RCSS อีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา

ท่าทีของกองทัพเมียนมาครั้งนี้ สร้างความหวาดกลัวอย่างมาก แก่ผู้อยู่อาศัยในค่ายที่พักพิงชั่วคราวตามบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ค่ายที่พักพิงเหล่านี้ตั้งอยู่บนสันเขาโล่ง และอยู่ในระยะที่กองทัพเมียนมาสามารถยิงปืนใหญ่โจมตีได้

เพจ Land Link เล่าว่า หลายปีที่ผ่านมา ผู้พลัดถิ่นจากรัฐฉานเหล่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวมาตลอด และเมื่อมีข่าวการใช้เครื่องบินโจมตีหมู่บ้านและเหมืองทองในรัฐกะเหรี่ยงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยิ่งเพิ่มหวาดกลัวแก่พวกเขามากยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ ผู้พลัดถิ่นได้พยายามหาทางป้องกันตนเอง ด้วยการจัดทำบังเกอร์หลบภัยในค่ายของตน และเริ่มซักซ้อมการอพยพ เพื่อให้สามารถหลบหนีได้ทันเมื่อเห็นสัญญาณของการโจมตี อย่างไรก็ตาม หากมีการโจมตีเริ่มขึ้นจริง หลักประกันความปลอดภัยของพวกเขา มีเพียงการข้ามมายังพรมแดนฝั่งไทยเท่านั้น

“คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) จึงขอวิงวอนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย ให้อนุญาตให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยทันทีที่เริ่มมีการโจมตี และจัดให้พวกเขามีที่พักพิง ที่หลบภัยอย่างปลอดภัย และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” จดหมายดังกล่าวระบุ

สำนักข่าว Shan News ระบุว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้หนีภัยจากสงครามในช่วง ปี 1996-1997 ที่กองทัพเมียนมามุ่งปราบปรามกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อย่างโหดร้าย รุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน และอีกหลายหมื่นคนต้องยอมทิ้งบ้านเกิดมาหลบภัยอยู่บริเวณชายแดนไทย และบางส่วนก็ได้ข้ามมาทำงานในประเทศไทย

แม้ว่าหลายปีมานี้ สถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะในรัฐฉาน เริ่มสงบลงแล้ว แต่ด้วยความหวาดกลัวความโหดร้ายของทหารเมียนมาในยุคนั้น ทำให้เหล่าผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราว ยังไม่กล้าที่จะเดินทางกลับไปที่บ้านเกิด

ปัจจุบัน บริเวณชายแดนไทย-รัฐฉาน มีค่ายที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น 6 แห่ง โดย 5 แห่งอยู่ในฝั่งรัฐฉาน และอีก 1 แห่งอยู่ในฝั่งประเทศไทย ประกอบด้วย

-ค่ายพักพิงดอยก่อวัน ตรงกันข้ามบ้านพญาไพร ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 2,555 คน

-ค่ายพักพิงผู้ดอยไตแลง ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 2,381 คน

-ค่ายพักพิงดอยสามสิบ ตรงข้ามอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 390 คน

-ค่ายพักพิงดอยดำ ตรงข้ามอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 253 คน

-ค่ายพักพิงบ้านกองมุงเมือง ตรงข้ามบ้านรักไทย ตำบลหมองจำแปด อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 221 คน

ส่วนค่ายพักพิงของผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย คือ ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านกุงจ่อ ในตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 303 คน

เรียบเรียงจาก เพจ Land Link

ภาพจาก เพจ Shan State Refugee Committee

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ