นักวิทย์สร้างตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งลิง หวังแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่าย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แวดวงวิทยาศาสตร์ถกเถียงประเด็นจริยธรรม หลังทีมนักวิจัยสหรัฐฯ-จีนสร้างตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งลิงสำเร็จ

นักวิทย์ เพาะตัวอ่อนหนู ที่มีเซลล์มนุษย์มากที่สุด

ไฟเขียว !! “ญี่ปุ่น” ทดลอง สร้างตัวอ่อน ครึ่งคนครึ่งสัตว์

นักวิจัยจีนโคลนนิงลิงสำเร็จ เปิดทางสู่การโคลนนิงมนุษย์

กลายเป็นที่ถกเถียงถึงประเด็นด้านจริยธรรมในแวดวงวิทยาศาสตร์ เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์สร้าง “เอ็มบรีโอ” หรือตัวอ่อนสิ่งมีชีวิตขึ้นมา และไม่ใช่ตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตธรรมดา แต่เป็น “ตัวอ่อนของลิงที่มีเซลล์ของมนุษย์”

การวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cell ดำเนินการโดยทีมวิจัยจาก สหรัฐฯ-จีน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ฉีดสเต็มเซลล์ (เซลล์ที่มีความสามารถในการพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย) ของมนุษย์จำนวน 25 เซลล์ เข้าไปในตัวอ่อนของลิงพันธุ์เล็ก (Macaque) จำนวน 132 ตัว

ในระยะแรกนักวิจัยพบว่า ภายใน 24 ชั่วโมง เซลล์ของมนุษย์สามารถเติบโตในตัวอ่อนของลิงทั้งหมดที่ทดลองได้ แต่เมื่อผ่านไป 10 วัน ตัวอ่อนพันธุ์ผสมเริ่มตายลง และเหลือเพียง 103 ตัว

และสุดท้ายเมื่อผ่านไป 19 วัน มีตัวอ่อนพันธุ์ผสมที่รอดชีวิตเพียงแค่ 3 ตัวเท่านั้น ซึ่งนักวิจัยก็ได้กำจัดทั้งหมดทิ้งไปหลังการทดลองเสร็จสิ้น

เอ็มบริโอพันธุ์ผสม หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ไคมีรา” นี้ เคยถูกสร้างขึ้นมาในอดีตแล้ว โดยมีทั้งการฉีดเซลล์ของมนุษย์ให้ฝังเข้าไปในตัวอ่อนของแกะและหมู

ไคมีรา เป็นชื่อของอสุรกายในเทวตำนานกรีก เป็นที่รวมของสัตว์ร้าย 3 ชนิด คือ ส่วนหัวถึงหน้าอกเป็นสิงโต ลำตัวเป็นแพะ บั้นท้ายเป็นมังกรหรืองู ปัจจุบันคำว่า ไคมีรา จึงมักเอาไว้ใช้เรียกสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดหรือดูผิดธรรมชาติ

การศึกษาครั้งนี้นำทีมโดย ศ.ฮวน คาร์ลอส อิซปิซัว เบลมอนเต จากสถาบัน Salk ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อปี 2017 ได้ช่วยสร้างลูกผสมมนุษย์กับหมูตัวแรกของโลกขึ้นมา

เขาบอกว่า งานของพวกเขาสามารถปูทางไปสู่การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะสำหรับการปลูกถ่ายได้ รวมทั้งช่วยให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ในระยะเริ่มต้น ความก้าวหน้าของโรคต่าง ๆ

“วิธีการที่แปลกประหลาดเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนางานวิจัยด้านชีวการแพทย์ ... เราทำการศึกษาเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจและพัฒนาสุขภาพของมนุษย์” เขายืนยันว่าการศึกษานี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านจริยธรรมและกฎหมายในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนได้ตั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการทดลองนี้ โดยโต้แย้งว่า ในขณะที่ตัวอ่อนในการทดลองนี้ถูกทำลายในเวลา 20 วัน แต่อาจมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ พยายามทำอะไรที่มากกว่านั้น

พวกเขากำลังเรียกร้องให้มีการหารือกันเกี่ยวกับผลกระทบของการสร้างสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งสัตว์

ดร.แอนนา สมาจดอร์ วิทยากรและนักวิจัยด้านจริยธรรมการแพทย์ จากโรงเรียนแพทย์นอริช มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย กล่าวว่า “นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการวิจัยนี้ระบุว่า ตัวอ่อนพันธุ์ผสมเหล่านี้นำเสนอโอกาสใหม่ ๆ เนื่องจาก 'เราไม่สามารถทำการทดลองบางประเภทในมนุษย์ได้' แต่คำถามคือ สิ่งมีชีวิตพันธุ์ผสมเหล่านี้ นับเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกันหรือไม่”

ด้าน ศ.จูเลียน ซาวูเลสคู ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมเชิงปฏิบัติออกซ์ฟอร์ด-อุเอฮิโระ กล่าวว่า “ตัวอ่อนเหล่านี้ถูกทำลายในระยะเวลา 20 วันก็จริง แต่ในอนาคตใครจะบอกได้ว่าจะไม่มีคนสร้างคิเมราจนเต็มวัยขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งอวัยวะสำรองสำหรับมนุษย์ นั่นคือหนึ่งในเป้าหมายระยะยาวของการวิจัยนี้”

จึงเป็นคำถามสำคัญอย่างยิ่งว่า ถ้าเราสร้างสิ่งมีชีวิตพันธุ์ผสมครึ่งมนุษย์ครึ่งอย่างอื่นขึ้นมาเพื่อใช้อวัยวะของพวกมันในการรักษามนุษย์ นั่นจะเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมหรือไม่?

เรียบเรียงจาก BBC

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ