เจาะลึก “ฮามาส” กลุ่มติดอาวุธ รวยติดอันดับ 3 ของโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ท่ามกลางความขัดแย้งและการโจมตีระลอกใหม่ระหว่างอิสราเอลและอิสราเอล นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ยังคงประกาศลั่นว่าจะทำลายกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก แล้ว ฮามาสคือใคร? ได้รับการสนับสนุนจากที่ไหน และเหตุใดจึงกล้าต่อกรกับอิสราเอลได้ ติดตามได้จากรายงานพิเศษ

กลุ่มฮามาส ยิงจรวดกว่า 100 ลูก ถล่มเมืองเยรูซาเลม ตอบโต้อิสราเอล

“ไบเดน” ต่อสายคุย ผู้นำอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หลังสู้รบยืดเยื้อนาน 7 วัน

ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์ ที่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซ่าและอิสราเอลดำเนินไปอย่างดุเดือด จนถึงขณะนี้ กลุ่มฮามาสยิงจรวดเกือบ 4 พันลูกเข้าใส่อิสราเอล ส่งให้ ไอรอนโดม (Iron Dome) หรือ ระบบดักจับจรวดของอิสราเอลทำงานอย่างหนัก แต่ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีสุดล้ำ จรวดบางส่วนจากฮามาสก็หลุดรอดเข้ามาสร้างความเสียหายได้

คนจำนวนมากต้องหลบภัยอยู่ในบังเกอร์ จนถึงขณะนี้ฝั่งอิสราเอลเสียชีวิตไป 12 ราย ใน 2 รายเป็นแรงงานไทยที่ทำงานในฟาร์มของชาวยิว

 

กลุ่มฮามาสเป็นใคร ศักยภาพการรบมาจากไหน? เหตุใดจึงสามารถยืนแลกหมัดกับอิสราเอล ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีอาวุธล้ำสมัยและมีกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

กลุ่มฮามาสก่อกำเนิดขึ้นราวปี 1987 ช่วงเวลาที่กระแสเรียกร้องดินแดนปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอลกำลังเฟื่องฟู คนจำนวนมากลงถนน เรียกร้องให้อิสราเอลคืนเขตเวสต์แบงก์ เยรูซาเล็มฝั่งตะวันออก และฉนวนกาซา พื้นที่ที่สหประชาชาติยกให้กับปาเลสไตน์ แต่ถูกอิสราเอลครอบครองหลังชนะสงคราม 6 วัน ในปี 1967 การเรียกร้องนำมาสู่การลงนามในข้อตกลงแบ่งแยกพื้นที่กัน

ปี 1993 ยิตซัก ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล จับมือกับยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำกลุ่ม PLO หรือ องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ ลงนามข้อตกลงออสโล ยกฉนวนกาซ่าให้เป็นของปาเลสไตน์ ส่วนเขตเวสต์แบงก์ให้แบ่งกันตามสัดส่วน ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากมองว่าข้อตกลงนี้ประนีประนอมเกินไป และหันมาสนับสนุนกลุ่มฮามาสที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่ออิสราเอลมากกว่า PLO

อิทธิพลของกลุ่มฮามาสขยายแข่งขันกับ PLO ที่ภายหลังรู้จักกันในนามกลุ่มฟาตาห์  ทั้งคู่ต่อสู้เพื่อสิทธิชาวปาเลสไตน์ แต่ก็ต่อสู้กันเองชิงอำนาจในทางการเมืองด้วย และเป็นกลุ่มฮามาสที่ชนะ การเลือกตั้งปี 2006  พรรคฮามาสคว้าที่นั่งในสภาได้มากถึง 74 ที่นั่ง ส่วนฟาตาห์ได้เพียง 45 ที่นั่ง การผงาดขึ้นของฮามาสจนกลายเป็นผู้ปกครองในฉนวนกาซ่า สร้างความไม่พอใจให้อิสราเอล เพราะสำหรับชาติยิว ฮามาส คือ กลุ่มก่อการร้าย

นอกจากอิสราเอล ฮามาสถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายในอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ยกเว้น สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ที่ยึดนโยบายเป็นกลาง แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่มองฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย หนึ่งในนั้นคือ การ์ตา

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างฮามาสกับการ์ตาถูกฉายให้เห็นเมื่อปี 2012 เมื่อเจ้าผู้ครองนครการ์ตา ชีค ทามิน บัน ฮาหมัด อัลทานี เยือนฉนวนกาซา ถือเป็นการประกาศรับรองฮามาสในฐานะรัฐบาลแบบกลาย ๆ หลังจากนั้นก็มีการสนับสนุนความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา การ์ตาให้เงินรวมแล้วกว่า 1.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยระบุว่าเพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับชาวกาซ่าที่ถูกปิดล้อมโดยอิสราเอล นอกจากการ์ตา ยังอีกหลายประเทศที่ส่งความช่วยเหลือไปให้ แต่เงินไปถึงประชาชนคนธรรมดาในฉนวนกาซ่าหรือไม่ มีเพียงกลุ่มฮามาสเท่านั้นที่ตอบได้

นิตยสาร ฟอร์บส (Forbes) จัดอันดับเมื่อปี 2018 ให้ ฮามาส คือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยมูลค่าเงินที่หาได้ต่อปีมากถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 22,000 ล้านบาท

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เงินเหล่านี้ถูกใช้เพิ่มศักยภาพทางอาวุธของกลุ่มฮามาสทั้งในการโจมตีทั้งแบบเปิดเผยและแบบก่อการร้ายนับครั้งไม่ถ้วนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

รบกันต่อ “อิสราเอล-ฮามาส” เมินข้อเสนอหยุดยิงนานาชาติ

อาวุธที่ได้มาจากไหน? โดยทางอ้อมมาจากอีกหนึ่งพันธมิตรของฮามาสคือ อิหร่าน ขนเข้ามาในฉนวนกาซาผ่านชายแดนทางด้านซูดานและอียิปต์  แต่เมื่อท่าทีของ 2 ประเทศนี้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะซูดานที่หันมาเป็นพันธมิตรกับอิสราเอล ทำให้ฮามาสต้องหาวิธีการได้มาซึ่งอาวุธใหม่ นั่นคือ การผลิตเอง โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากลุ่มเฮซบัลเลาะห์ในเลบานอน โดยจรวดกว่า 4,000 ลูกที่ยิงเข้ามาในอิสราเอลในช่วง 10 วันที่ผ่านมา คือ จรวดทำเองราคาไม่แพง แต่สร้างปัญหาให้กับอิสราเอลอย่างหนัก

ฮามาส ก่อกำเนิดขึ้นมาได้ เพราะการสนับสนุนของชาวปาเลสไตน์ที่เห็นว่า แนวทางต่อสู้แบบไม่ประนีประนอมคือคำตอบ ฮามาสคงอยู่ได้ส่วนหนึ่ง เพราะการเล่นเกมของมหาอำนาจโลก แต่จะมีจุดกำเนิดมาจากอะไร และใครสนับสนุนอาจไม่สำคัญเท่าคำถามที่ว่า ทุกวันนี้ ฮามาสยังคงเป็นฮามาสที่ชาวปาเลสไตน์เคยคาดหวังไว้แต่แรกหรือไม่ คำตอบนี้อาจดูได้จากชีวิตของชาวปาเลสไตน์ 2 ล้านคนในฉนวนกาซ่า

อิสราเอล-ฮามาสยังคงสาดจรวดใส่กัน ยอดเจ็บตายพุ่ง

 

ตั้งแต่ปี 2007 เกิดการปะทะกันอย่างหนักระหว่างฮามาสกับกองกำลังอิสราเอล ส่งผลให้อิสราเอลปิดล้อม จำกัดการนำเข้าไฟฟ้า น้ำ อาหาร ยา เพื่อกดดันให้ชาวกาซาลุกขึ้นมาต่อต้านพรรคฮามาส ชีวิตของคนที่นี่ยากแค้นมากขึ้น เด็ก ๆ จำนวนมากไม่ได้มีชีวิตเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป

สำหรับชีวิตที่เติบโตมากับความรุนแรง หลายคนมองไม่เห็นทางอื่น และพวกเขาเลือกเข้าร่วมกับฮามาส เด็ก ๆ วิ่งเรียงแถวตามคำสั่ง ก่อนจะกระโดดตีลังกาม้วนหน้า คลานมุดท่อ กลิ้งตัวลอดใต้สิ่งกีดขวาง เด็กที่โตกว่าได้จับจับอาวุธ การฝึกเพิ่มความโหดขึ้นด้วยเปลวไฟจริง ลวดหนามจริง  ภายใต้การปกครองของฮามาส เด็กจำนวนมากเลือกเข้าค่ายฝึกนักรบ

กลุ่มฮามาส คาดประกาศหยุดยิง อิสราเอล ภายใน 24 ชม. หลังเจรจาราบรื่น

ภาพของเด็ก ๆ ที่มีชีวิตไม่เหมือนเด็ก ไฟที่ติด ๆ ดับ ๆ น้ำสะอาดไม่พอกินพอใช้ ในฉนวนกาซามีประชากร 2 ล้านคน แต่มีโรงพยาบาลเพียง 11 แห่ง ในประชากรกว่า 2 ล้านคนนี้ กว่าครึ่งไม่มีมีงานทำ เหล่านี้คือชีวิตภายใต้การปกครองของฮามาส ความยากลำบากของคนที่นี่ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการปิดล้อม สงครามและความขัดแย้ง แต่หากดูตัวเลขและข้อเท็จจริง ส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มฮามาสเอง ที่ซ้ำเติมความทุกข์ยากของคน เงินจำนวนมากที่ถูกส่งมาจากประเทศพันธมิตรและผู้ที่เห็นอกเห็นใจไม่ถูกตรวจสอบ

ในการบริหารงานเอง ฮามาส เก็บภาษีจากประชาชนเหมือนรัฐบาลทั่วไป แต่เมื่อดูตัวเลข เงินภาษีของฮามาสที่เก็บไปกว่าร้อยละ 75 ถูกใช้ในเรื่องของอาวุธ มีไม่ถึงร้อยละ 5 ที่ใช้ไปกับการศึกษาและโรงพยาบาล สิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาตอนนี้คือสงคราม เป็นสงครามระหว่างกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดและกลุ่มก่อการร้ายที่ร่ำรวยติดอันดับ บนดินแดนที่ได้ชื่อว่ายากจนแร้นแค้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

Photo : AFP 

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ