อินเดียผวา เชื้อราระบาด เจอทั้งราดำ ราขาว ราเหลือง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ท่ามกลางการระบาดระลอกสองในอินเดียที่ยังคงไม่สิ้นสุด คนอินเดียที่แม้จะหายป่วยโควิดแล้วแต่ก็ยังต้องหวาดหวั่นว่าตนเองจะติดเชื้อรา ก่อนหน้านั้นคือ การติดเชื้อราดำ ตอนนี้เชื้อราตัวใหม่เกิดขึ้นมาอีก คือ เชื้อราขาว และเชื้อราเหลือง จำนวนเคสของคนที่หายจากโควิดแล้ว แต่มาป่วยเพราะติดเชื้อราทั้งสามตัวต่อมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ. สาเหตุมาจากการใช้ยาเสตียรอยด์มากเกินไปและนานเกินไป ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

การพบผู้ติดเชื้อโควิดที่รักษาตัวจนหาย แต่มาติดเชื้อราทีหลัง ถูกรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาโดยสื่อของอินเดีย ผู้ป่วยเป็นชาย วัย 45 ปี จากเมืองกาซิอาบาด ในรัฐอุตรประเทศ ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อราถึง 3 ชนิดได้แก่ เชื้อราดำ เชื้อราขาว และเชื้อราเหลือง  การตรวจพบเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยรายนี้กำลังฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด จู่ๆก็มีอาการแทรกซ้อน คือ มีเลือดไหลออกมาจากดวงตาและจมูก แพทย์ระบุภายหลังว่า อาการนี้เกิดจากการติดเชื้อราเหลือง

อินเดียเคราะห์ซ้ำ ผู้ป่วยโควิด-19 หลายร้อยราย "ติดเชื้อรากินสมอง"

อินเดียพบผู้ป่วยเชื้อราดำเกือบ 9,000ราย ซ้ำเติมโควิด

นับเป็นเคสการติดเชื้อราเหลืองอย่างเป็นทางการหลังหายป่วยโควิดรายแรกของประเทศ และขณะนี้กำลังสร้างความกังวล เนื่องจากแพทย์ระบุว่า เชื้อราเหลืองอันตรายกว่าเชื้อราขาวและเชื้อราดำ ที่พบในผู้ที่หายจากโควิดหลายพันรายก่อนหน้านี้  โดยรายงานผู้ติดเชื้อราดำตอนนี้มี  9,000 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 250 ราย

นอกเหนือจากเชื้อราดำ คือการติดเชื้อราขาว ที่ยังไม่ชัดเจนว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไหร่  ทั้งนี้แพทย์ระบุว่า เชื้อราขาวอาจมีความรุนแรงกว่าราดำ เพราะสามารถทำลายปอดได้ เกิดอะไรขึ้นในอินเดีย? เชื้อราเหล่านี้คืออะไรและมาจากไหน?  นี่คือวิกฤตใหม่ที่แพทย์อินเดียกำลังกังวล และมองว่าส่วนหนึ่งมาจากการใช้ยาเสตียรอยด์มากเกินไปและนานเกินไปในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เชื้อราดำ ขาว และเหลืองอยู่ในเชื้อราสกุล มิวคอร์ และการติดเชื้อที่ส่งผลให้บุคคลนั้นๆ ล้มป่วยเรียกว่า มิวคอร์ไมโคซิส

ปกติแล้วเชื้อราเหล่านี้พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ในดิน ในปุ๋ยหมัก บนผิวผักผลไม้ที่กำลังเน่าเสีย ไปจนถึงเศษอาหาร  สำหรับคนสุขภาพดี การติดเชื้อจะไม่ส่งผลอะไร และอันที่จริงแม้แต่ในจมูกหรือน้ำมูกของคนที่มีร่างกายแข็งแรงก็พบเชื้อรานี้

แต่หากบุคคลนั้นๆ มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน การติดเชื้อราจะส่งผลให้ราเติบโตในร่างกายและล้มป่วยตามมา  สีที่ระบุว่าเป็นสีดำ ขาว และเหลือง ไม่ใช่สีของตัวเชื้อรา แต่เป็นสีที่ใช้จำแนกอาการของโรค เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อราดำ ก็จะพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการคัดจมูก มีแผลที่ผิวหนัง มีแผลสีดำในปาก มีเลือดไหลออกจากจมูก รวมทั้งอาจมีอาการตาบวมและปวด เปลือกตาตก สายตาพร่ามัว และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจมีจุดคล้ำดำตามจุดที่เชื้อราเติบโต

ส่วนเชื้อราขาว อาการอาจร้ายแรงกว่านี้ แต่มักพบว่าผู้ป่วยจะมีจุดสีขาวบนลิ้น ส่วนในกรณีของเชื้อราเหลือง เนื่องจากเป็นกรณีที่พบได้ยากจึงยังไม่มีข้อมูลมากนัก แล้วเชื้อรานี้เกี่ยวข้องกับการระบาดระลอก 2 ได้อย่างไร?

นายแพทย์อักษัย นาอีร์ จักษุแพทย์แห่งโรงพยาบาลในนครมุมไบเคยเปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในอินเดีย เชื้อราดำถูกพบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการพักฟื้น และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ติดเชื้อโควิด-19

ปัจจัยสำคัญมาจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการวิกฤต เพราะยากลุ่มสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบของปอด แต่จะไปทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อผู้ป่วยเหล่านี้หานดีจากโควิด แต่ภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ก็จะสามารถติดเชื้อราที่มีอยู่ในธรรมชาติได้ง่าย

อย่างไรก็ตามล่าสุดมีการตั้งสมมุติฐานเพิ่มว่า การติดเชื้อราอาจมาจากสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานของถังออกซิเจนและสายออกซิเจนที่ใช้กับผู้ป่วย

เนื่องจากขณะนี้อินเดียกำลังเผชิฐกับการระบาดระลอก 2 ที่ส่งผลให้ออกซิเจนขาดแคลน ผู้คนยอมใช้อุปกรณ์ต่างๆ เท่าที่หาได้ จนลืมคิดถึงสุขอนามัย  นั่นหมายความว่า วิกฤตเชื้อราที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน

ส่วนสถานการณ์โควิดในอินเดีย สัปดาห์นี้สถานการณ์ดีขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ที่ราว 2 แสนราย เมื่อเทียบกับช่วงต้นของการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งถึงมากกว่า 3 แสน ยอดผู้ติดเชื้อของเมื่อวานนี้ วันที่ 26 พฤษภาคม ติดเชื้อใหม่ 211,000 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,842 ราย ยังไม่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน

สาเหตุของการเสียชีวิตยังคงมาจากการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนการเข้าไม่ถึงการรักษาในเมืองใหญ่ๆ ว่าขาดแคลนแล้ว แต่ตามชนบทแย่ยิ่งกว่า

จากภาพคือคลีนิกเล็กๆ บนหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขาในรัฐอุตตรันชัลทางตอนเหนือของอินเดีย รายงานจากแพทย์ระบุว่า ที่นี่กำลังขาดแคลนอุปกรณ์และยา รวมถึงการขนส่งถังออกซิเจนขึ้นมาบนนี้ก็ทำได้อย่างล่าช้าและลำบาก ส่วนในเมืองใหญ่ หลังมีรายงานว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นกลับปรากฏภาพของผู้ประท้วงอีกครั้ง

นี่คือบรรยากาศของการประท้วงโดยกลุ่มเกษตรในเขตสิงหุ ของกรุงนิวเดลี เมืองหลวง ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ พวกเขาออกมาร้องตะโกน จุดไฟเผารูปนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย พร้อมจัดการปราศรัย ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีการรักษาระยะห่างหรือสวมหน้ากากอนามัย

การประท้วงโดยเกษตรกรแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวต่อต้านการปฏิรูปกฎหมายเกษตรฉบับใหม่ที่มีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ในช่วงหลังห่างหายไปเพราะโควิด ซึ่งผู้ประท้วงก็ระบุว่า ถ้ารัฐบาลเป็นห่วงสถานการณ์โควิด และไม่อยากให้คนมารวมตัวกันก็ควรจะแก้ไขกฎหมายการปฏิรูปตามที่พวกเขาร้องขอ ปัจจุบันอินเดียยังคงครองตำหน่งประเทศอันดับ 2 ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดสะสมมากที่สุดรองจากสหรัฐฯ ยอดสะสมล่าสุดอยู่ที่ 27 ล้านราย เสียชีวิตแล้ว 311,000 ราย

ส่วนยอดฉีดวัคซีนฉีดไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดสแก่ประชากร 197 ล้านคน ส่วนคนได้ครบสองโดสมี 42 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศที่มีมากถึง 1,400 ล้านคน  และล่าสุดในขณะที่โครงการฉีดวัคซีนกำลังดำเนินไป มีความผิดพลาดเกิดขึ้น  รายงานข่าวจากรัฐอุตรประเทศระบุว่า ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีชาวบ้านจำนวน 20 คนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกกับเข็มที่สองคนละตัวกัน

ชาวบ้านกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนโควิชิลด์ วัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดจากแอสตราเซเนกาไปเมื่อต้นเดือนเมษายน แต่ล่าสุดเข็มที่สองที่เพิ่งจะฉีดไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฏว่าวัคซีนที่ได้รับกลับเป็น โคแวคซิน  เบื้องต้นยังไม่มีใครล้มป่วย และเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนหาต้นตอของความผิดพลาดนี้

อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าติดตามอาการ เพราะวัคซีนสองตัวมีกระบวนการผลิตต่างกัน โควิชิลด์ใช้เชื้อตายที่ไม่ก่อโรคแล้ว แต่ โคแวคซิน ใช้เชื้อที่อ่อนแอ สำนักข่าวต่างประเทศเรียกความผิดพลาดนี้ว่า “vaccine cocktail” ซึ่งทางชาวบ้านเองแม้จะยังไม่ล้มป่วย แต่ก็กังวลถึงผลกระทบที่อาจจะตามมา

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ