ภาพถ่ายกองกำลังตาลีบันคู่กับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองกำลังสหรัฐฯ ทิ้งไว้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูล ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดข้อกังวลว่า กลุ่มตาลีบันอาจนำของที่สหรัฐฯ เหลือทิ้งไว้เหล่านั้นมาใช้ในทางที่โลกไม่ต้องการเห็น
มีข้อมูลว่า ขณะกองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังออกก่อนเส้นตาย 31 ส.ค. มีเครื่องบินทั้งหมด 73 ลำ ยานพาหนะเกือบ 100 คัน และอุปกรณ์อื่น ๆ ถูกกองทหารสหรัฐฯ ทิ้งไว้ในกรุงคาบูล
ยลโฉมสมาชิกรัฐบาลใหม่อัฟกานิสถาน นำโดย “ตาลีบัน”
ตาลีบัน เข้าคุมสนามบินคาบูล หลังสหรัฐฯ ถอนทัพ ทิ้งเครื่องบิน-รถหุ้มเกราะบางส่วน
ตาลีบันยิงปืน-จุดพลุฉลอง หลังสหรัฐฯ ปิดฉากภารกิจอัฟกานิสถาน
แต่ล่าสุด นายพลเคนเน็ธ แม็กเคนซี หัวหน้ากองบัญชาการกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า ยุทโธปกรณ์ทั้งหมดถูกทำให้ใช้การไม่ได้เรียบร้อยแล้ว “เครื่องบินเหล่านั้นไม่สามารถบินได้อีก” เขากล่าว
เครื่องบินที่ถูกสหรัฐฯ ทิ้งไว้ในกรุงคาบูล ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ MD-530 จำนวนไม่เกิน 43 ลำ ใช้สำหรับการลาดตระเวนและการโจมตีระยะประชิด และ เครื่องบินจู่โจมเบา A-29 ไม่เกิน 23 ลำ ซึ่งราคาโดยคาดการณ์ของ A-29 นั้นมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 323 ล้านบาท) ต่อเครื่อง
ในวิดีโอที่ถ่ายโดย นาบีห์ บูลอส ผู้สื่อข่าวของแอลเอ ไทม์ส ยังปรากฏภาพสมาชิกกองกำลังตาลีบันถ่ายรูปคู่กับเฮลิคอปเตอร์ขนส่งซีไนต์ CH-46 ที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ด้วย โดยหลังจากย้ายเจ้าหน้าที่สถานทูตในกรุงคาบูลออกจนหมด ก็ได้มีการทำให้เฮลิคอปเตอร์ซีไนต์ 7 ลำใช้การไม่ได้ แล้วทิ้งไว้ที่คาบูล
นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินขนส่ง C-130 เฮอร์คิวลีส อย่างน้อย 1 ลำถูกทิ้งไว้เช่นกัน
#Taliban fighters enter a hangar in #Kabul Airport and examine #chinook helicopters after #US leaves #Afghanistan. pic.twitter.com/flJx0cLf0p
— Nabih (@nabihbulos) August 30, 2021
นายพลแม็กเคนซียังเปิดเผยว่า ยานหุ้มเกราะป้องกันกับระเบิดและการซุ่มโจมตี (MRAP) จำนวน 70 คันก็ถูกทิ้งไว้เช่นกันหลังจากถูกทำให้ใช้การไม่ได้ ซึ่งต้นทุนของ MRAP แต่ละคันคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 16-32 ล้านบาท)
ยังมีรถฮัมวีชนิดเดินทางได้ทุกสภาพพื้นผิวอีก 27 คัน อุปกรณ์ระบบป้องกันจรวดและปืนใหญ่ (ไม่ทราบจำนวน)
มีรายงานว่า ในบางกรณีมีการใช้วัตถุระเบิดเพื่อทำให้อุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถใช้งานได้อีก
อย่างไรก็ตาม ที่อื่นในประเทศอัฟกานิสถานนอกกรุงคาบูล กองทหารอัฟกันที่หลบหนีไปแทบไม่ได้พยายามทำลายหรือทำให้ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ขัดข้องเลย ซึ่งหมายความว่า “เป็นยุทโธปกรณ์ที่ตาลีบันอาจเอามาใช้ได้”
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กลุ่มตาลีบันอาจใช้งานเครื่องบินบางลำหรือยุทโธปกรณ์บางอย่างได้อย่างจำกัด เพราะอาจไม่ได้รับการฝึกอบรม การบำรุงรักษา และการเข้าถึงอะไหล่สำหรับบำรุงซ่อมแซม
นอกจากนี้คาดว่ายังมีเครื่องบินอีก 167 ลำ รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ UH-60 แบล็กฮอว์ก 33 ลำ ที่สหรัฐฯ มอบให้กองทัพอัฟกานิสถาน ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มตาลีบันแล้ว
ข้อมูลจากกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า ยังมีส่วนของยุทโธปกรณ์ที่มอบให้กองทัพอัฟกันไว้ เป็นปืนไฟเฟิล M4 เกือบ 3,600 กระบอก รถฮัมวีมากกว่า 2,500 คัน แว่นมองกลางคืน 16,000 ชิ้น
โดยเรื่องของอาวุธปืน ก็มีหลักฐานแน่ชัดแล้วว่า กลุ่มตาลีบันนำอาวุธของสหรัฐฯ มาใช้แล้ว โดยมีภาพของสมาชิกกองกำลังพิเศษตาลีบันยืนอยู่ในกรุงคาบูลพร้อมปืนไรเฟิล M4
เรียบเรียงจาก BBC
ภาพจาก AFP / Getty Image
สหรัฐปิดฉากสงคราม 20 ปี ตาลีบันยิงปืนฉลองชัย | 31 ส.ค. 64 | รอบโลก DAILY
ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในสงครามอัฟกานิสถาน 20 ปี