“เฟซบุ๊ก” เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “เมตา” รอดไม่รอด? กรณีศึกษาจากแบรนด์อื่นในอดีต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีศึกษาจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่เคยเปลี่ยนชื่อในอดีต หลังบริษัทเฟซบุ๊กเปลี่ยนชื่อเป็น “เมตา” จะรอดหรือไม่รอด?

เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ชื่อ “เฟซบุ๊ก (Facebook)” เป็นที่จดจำจากโซเชียลมีเดีย แต่ล่าสุด มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟซบุ๊ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเฟซบุ๊ก เป็น “เมตา (Meta)” อย่างเป็นทางการ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เพื่อตอกย้ำเป้าหมายของบริษัทที่จะให้ความสำคัญกับการสร้าง “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” หรือการทำให้เทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง VR และ AR เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น และต้องการให้บริษัทเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทด้านเมตาเวิร์ส

“Facebook” เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Meta” เดินหน้าธุรกิจโลกเสมือนจริง หุ้นเด้งตอบรับ 1.51%

รู้จัก Facebook Protect ระบบ รปภ. ตัวใหม่สำหรับผู้ใช้งาน ที่ต้องทำภายใน 15 วันหลังแจ้งเตือน

Facebook เตรียมรีแบรนด์ เดินหน้าสู่ เทคโนโลยีโลกดิจิทัลเสมือนจริง

เมตาเวิร์ส เป็นคำที่คิดขึ้นมาโดย นีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) ในนิยายวิทยาศาสตร์ “Snow Crash” เมื่อปี 1992 โดยมีไอเดียพื้นฐานพูดถึงโลกเสมือนจริงที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านเทคโนโลยี Augmented Reality (AR)

จึงพอจะอนุมานได้ว่า ทิศทางการพัฒนาเทคโนดลยีของบริษัทเมตาหลังจากนี้ จะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี VR และ AR เป็นหลัก บริษัทยังกล่าวว่า ในปีหน้าจะใช้งบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.3 แสนล้านบาท) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการสร้างเมตาเวิร์ส

เฟซบุ๊กยังเตรียมจะเปลี่ยนชื่อย่อของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เป็น MVRS เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของบริษัทจะยังใช้ชื่อเดิมต่อไป ทั้ง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ วอทสแอป โดยจะเปลี่ยนชื่อเพียงบริษัทแม่เท่านั้น

ขณะที่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ VR และ AR บางอย่างอาจมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “เมตา” ตามชื่อบริษัทแม่ เช่น แว่นตาโอคูลัส (Oculus)

การรีแบรนด์ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่เฟซบุ๊กและซักเคอร์เบิร์กกำลังเผชิญกับการตรวจสอบเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดและความเกลียดชังความรุนแรงที่เกิดในแอปฯ ของบริษัท และข้อเรีกยร้องที่ว่า เฟซบุ๊กอาจเป็นอันตรายต่อวัยรุ่นและเด็ก

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กไม่ใช่ธุรกิจแรกที่เปลี่ยนชื่อหรือรีแบรนด์ในช่วงวิกฤต แต่การเปลี่ยนเหล่านั้นได้ผลดีหรือไม่นั้น นี่คือกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกับแบรนด์อื่นในอดีต

“กูเกิล (Google)” เปลี่ยนเป็น “อัลฟาเบต (Alphabet)”

ในปี 2015 ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างกูเกิล ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น “อัลฟาเบต (Alphabet)” โดยให้เหตุผลเดียวกับเฟซบุ๊กในปัจจุบัน คือต้องการลบภาพจำเดิมว่า กูเกิลคือแค่เครื่องมือในการค้นหาข้อมูล แต่ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รถยนต์อัตโนมัติ และการลงทุนร่วมทุน

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว กูเกิลกำลังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังถูกตรวจสอบจากรัฐบาล จากกรณีความกังวลว่ากูเกิลกำลังผูกขาดธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อใหม่ในครั้งนั้นเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนได้เพียงเล็กน้อย เพราะบริษัทยังคงถูกเรียกว่ากูเกิล และอัลฟาเบตยังคงเผชิญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาดในปัจจุบัน

แต่หากมองสถานการณ์ทางการเงิน ก็เรียกว่าไม่ได้ประสบความล้มเหลว ราคาหุ้นของอัลฟาเบตเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่านับตั้งแต่มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท และตอนนี้บริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ (63 ล้านล้านบาท)

อีกหนึ่ง Fun Fact คือ นี่ไม่ใช่การรีแบรนด์ครั้งแรกของกูเกิล ในปี 1998 ผู้ร่วมก่อตั้ง แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “แบ็กรับ (BackRub)” เป็นกูเกิล

“แอปเปิลคอมพิวเตอร์ (Apple Computer)” เหลือแค่ “แอปเปิล (Apple)”

บางครั้งการเปลี่ยนชื่ออาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปแบบไม่เหลือเค้าเดิม โดยในปี 2007 บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ตัดสินใจตัดคำว่า คอมพิวเตอร์ออกจากชื่อ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เปิดตัวไอโฟนเป็นครั้งแรก

สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งอธิบายว่า แอปเปิลเป็นมากกว่าแค่บริษัทคอมพิวเตอร์ การเปลี่ยนชื่อก็เพื่อเป็นภาพสะท้อนว่า แอปเปิลจะเน้นการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย

นับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อและการเปิดตัวไอโฟน มูลค่าของแอปเปิลก็เพิ่มสูงขึ้น ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 1,200% ในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้แอปเปิลมีมูลค่าการตลาดมากกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ (เกือบ 80 ล้านล้านบาท)

“ดังกินโดนัท (Dunkin’ Donuts)” เหลือแค่ “ดังกิน (Dunkin’)”

ในปี 2018 ดังกินโดนัทได้ประกาศการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันกับแอปเปิล คือตัดคำท้ายออก โดยตัดคำว่า “โดนัท” ออกจากชื่อแบรนด์ เป้าหมายคือเพื่อเน้นเมนูเครื่องดื่มและอาหารคาวมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดของหวานที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาของสตาร์บัคส์

ในเวลานั้น บริษัทกล่าวว่า ลูกค้ามีปฏิกิริยาเชิงบวกต่อการเปลี่ยนชื่อ แต่ผลอาจไม่ชัดนีด เพราะเมื่อปีที่แล้ว การระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงและไม่ค่อยมีคนออกจากบ้านมาหาอะไรทาน

และในเดือนตุลาคม 2020 แบรนด์ดังกินและแบรนด์ลูกอย่างบาสกิน-รอบบินส์ (Baskin-Robbins) ก็ถูกซื้อกิจการโดย Inspire Brands ซึ่งเป็นเจ้าของ Arby's และ Buffalo Wild Wings ด้วยมูลค่า 11.3 พันล้านดอลลาร์ (3.75 แสนล้านบาท)

Kentucky Fried Chicken” ย่อเหลือ “KFC”

แบรนด์ไก่ชื่อดังระดบโลกรายนี้ แต่เดิมมีเพียงชื่อเต็ม Kentucky Fried Chicken ซึ่งคนก็เรียกกันติดปากว่า KFC อยู่แต่เดิม แต่ในปี 1991 ได้ตัดสินใจย่อชื่อให้สั้นลงเหลือแค่ “KFC” อย่างเป็นทางการ โดยที่คนก็ไม่ได้ลืมว่านี่คือแบรนด์ขายไก่ และยังเรียกได้ง่ายติดปากติดหูด้วย

ผู้บริหารของ KFC ยอมรับว่า พวกเขาต้องการปลูกฝังภาพลักษณ์ที่ “ร่วมสมัย” ให้กับแบรนด์ โดย ไคล์ เครก ซึ่งเป็นประธานของ KFC สหรัฐฯ ในขณะนั้นกล่าวไว้ว่า “คำว่าทอดมันดูไม่ทันสมัยเลย (Fried is not a modern image)”

และภาพในปัจจุบันก็เป็นคำตอบในตัวแล้วว่า การเปลี่ยนชื่อของ KFC ให้ผลเป็นอย่างไร เพราะหากพูดถึงไก่ทอด KFC ย่อมเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึงแน่นอน ทำให้ KFC เป็นหนึ่งในแบรนด์อาหารจานด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

KFC อยู่ภายใต้การดูแลของ Yum! แบรนด์ซึ่งเป็นเจ้าของ Pizza Hut และ Taco Bell ด้วย และรายรับต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 26.2 พันล้านดอลลาร์ (8.7 แสนล้านบาท) ในปีที่แล้ว ส่วนในปี 1991 รายรับอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ (เกือบ 2 แสนล้านบาท) เท่ากับว่าในระยะเวลาเกือบ 30 ปีหลังเปลี่ยนชื่อ KFC มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า

“ฟิลิป มอร์ริส (Philip Morris)” เปลี่ยนเป็น “อัลเทรีย กรุ๊ป (Altria Group)”

ในปี 2001 บริษัท ฟิลิป มอร์ริส ผู้ผลิตเบื้องหลังแบรนด์บุหรี่มาร์ลโบโร (Marlboro) อันโด่งดัง ได้เปลี่ยนชื่อของบริษัทแม่เป็น อัลเทรีย กรุ๊ป

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้น 3 ปีหลังจาก ฟิลิป มอร์ริส และบริษัทยาสูบรายใหญ่อื่น ๆ บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ (6.6 ล้านล้านบาท) ในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ โดยผู้บริหารของบริษัทยอมรับว่า การเปลี่ยนชื่อเป็นเหมือนการลบภาพลักษณ์บริษัทให้ดูขาวสะอาดขึ้น รวมทั้งภาพลักษณ์ของบริษัทที่ ฟิลิป มอร์ริส เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่อย่างบริษัทอาหาร Kraft Foods และ Miller Brewing ด้วย

แต่ในที่สุด อัลเทรียก็แยกตัวออกจากบริษัท Miller และ Kraft เพื่อมาดูแลธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตบุหรี่อย่างมาร์ลโบโร พร้อมกับหุ้นในบริษัทเครื่องดื่มอย่าง AB InBev และบริษัทกัญชา Cronos Group รวมถึงเริ่มต้นธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าอย่าง JUUL

โดยในปี 2008 บริษัทได้หลุดจากดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ซึ่งราคาหุ้นของบริษัทลดลงมากกว่า 24% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.9 ล้านล้านบาท)

ต้องติดตามกันต่อไปว่า กลยุทธ์การเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่จากเฟซบุ๊กเป็นเมตาในครั้งนี้ จะรอดแบบบางแบรนด์ หรือปัง(ปิ๊นาศ)แบบบางแบรนด์ และจะสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นไปตามที่ซักเคอร์เบิร์กคาดหวังไว้ได้หรือไม่

แต่เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า หลังจากนี้ โลกอาจจจะกำลังเปลี่ยนโฉมไปแปลกใหม่กว่าที่เราคุ้นชิน ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายนี้

เรียบเรียงจาก CNBC / New York Times

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ