จีนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่หยุด รัฐยันต้องกดยอดเป็นศูนย์
สหรัฐฯ คิกออฟฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" ให้เด็กอายุ 5-11 ปี
นักวิจัยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Nature Genetics ระบุว่า ค้นพบยีนหรือรหัสพันธุกรรมตัวหนึ่ง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็น 2 เท่า
ยีนดังกล่าวจะเปลี่ยนวิธีที่ปอดตอบสนองต่อการติดเชื้อโควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมที่สำคัญที่สุดที่นักวิจัยค้นพบจนถึงขณะนี้ พบในประชากรที่มีพื้นเพหรือกรรมพันธุ์จากเอเชียใต้ประมาณ 60% ขณะที่ชาวยุโรปจะมีโอกาสพบยีนนี้เพียง 15%
การค้นพบนี้อาจอธิบายเกี่ยวกับการเสียชีวิตเกินที่คาดการณ์ไว้ที่พบในบางชุมชนในสหราชอาณาจักรและผลกระทบของโควิด-19 ในพื้นที่แถบอินเดียได้บางส่วน
ศ.เจมส์ เดวีส์ นักพันธุศาสตร์จาก ภาควิชาการแพทย์แรดคลิฟฟ์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “ปัจจัยทางพันธุกรรมที่เราพบนี้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมคนบางคนถึงป่วยหนักมากหลังจากติดโควิด-19 … เพราะมียีนเดี่ยว (Single Gene) ตัวหนึ่งที่เพิ่มความความเสี่ยงต่อผู้คนที่มีพื้นเพกรรมพันธุ์มาจากเอเชียใต้”
การศึกษานี้เกิดจากก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ระบุการค้นพบรหัสพันธุกรรมที่ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการที่จะติดเชื้อโควิด-19 แล้วป่วยรุนแรง โดยอิงจากลำดับพันธุกรรมของผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลายหมื่นคนในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่น ๆ การศึกษาล่าสุดพบว่า ยีนเดี่ยวที่ชื่อว่า “LZTFL1” มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มโอกาสเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตจากโควิด-19 เป็น 2 เท่า
ยีนตัวนี้จะทำให้กลไกที่ป้องกันไม่ให้ไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิวที่เรียงต่อกันในปอดไม่มีผล หมายความว่า ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย แพร่เชื้อ และสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ในปอดได้เป็นเวลานานขึ้นหลังการสัมผัส
นักวิจัยยังคาดการณ์ว่า ยีนตัวนี้มีอยู่เพียงแค่ 2% ในประชากรจากฝั่งแอฟริกา-แคริบเบียน และมีโอกาสพบเพียง 1.8% ในประชากรจากเอเชียตะวันออก
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า การค้นพบยีนตัวนี้ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนทุกคนจะได้รับผลกระทบที่เหมือนกัน โดยมีตัวแปรอื่น ๆ เช่น อายุ ที่ส่งผลต่อความเสี่ยงด้วย แต่งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ทำไมบางพื้นที่จึงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักจากที่อื่น ๆ
“แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเราได้ แต่ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มียีนที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นพิเศษ” เดวีส์บอก เนื่องจากยีนตัวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบปอด แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นหมายความว่า บุคคลที่มียีนความเสี่ยงสูงก็สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
เดวีส์กล่าวว่า ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการรักษาแบบใหม่ที่กำหนดเป้าหมายไปที่เซลล์ปอดโดยตรง เพราะการรักษาในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำงานโดยแก้ไขที่ระบบภูมิคุ้มกันและการตอบสนองต่อไวรัส
ในการระบาดระลอกที่ 2 ของอังกฤษ มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีภูมิหลังจากบังกลาเทศมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น 3-4 เท่า ผู้ที่มีภูมิหลังจากปากีสถานมีความเสี่ยงสูง 2.5-3 เท่า และผู้ที่มีภูมิหลังจากอินเดียมีความเสี่ยงสูงกว่า 1.5-2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไปในอังกฤษ
ด้าน รากิบ อาลี จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอิสระเกี่ยวกับโควิด-19 ในสำนักงานคณะรัฐมนตรีกล่าวว่า “นี่เป็นการศึกษาที่สำคัญซึ่งมีส่วนช่วยในความพยายามอย่างต่อเนื่องของเราในการทำความเข้าใจสาเหตุของการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่สูงขึ้นในประชากรบางเชื้อชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งว่า ทำไมกลุ่มนี้จึงมีผลลัพธ์หรืออัตราการรอดชีวิตจากโควิด-19 ที่แย่กว่าหลังการติดเชื้อ”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเตือนว่า ควรรอให้มีการศึกษาชัดเจนมากกว่านี้ จึงค่อยระบุว่า ยีนนี้พบในประชากรเอเชียใต้มากที่สุดจริงหรือไม่ เพราะอาจนำไปสู่การตีตราในสังคม ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องกับสภาพสังคมเศรษฐกิจต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน หรือการเหยียดเชื้อชาติ
นาซรูล อิสลาม จากภาควิชาสาธารณสุขประชากรนัฟฟิลด์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างบางเชื้อชาติไม่ได้เป็นตัวแทนที่ดีในฐานข้อมูลทางพันธุกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้ในการกำหนดความชุกของยีน LZTHL1
“มันเป็นทางที่ง่ายสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่จะพูดว่า 'มันเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย' เราต้องระมัดระวังในการวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งคำถามซ้ำ ๆ ว่าจะเผยแพร่ผลการวิจัยอย่างไร เพราะอาจมีปัญหาทางสังคมตามมาอย่างลึกซึ้ง” เขากล่าว
เรียบเรียงจาก BBC / The Guardian
ภาพจาก AFP / Getty Image